เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน

สนทนาภาษาปืน => Airguns Corner => ข้อความที่เริ่มโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 12:40:47 AM



หัวข้อ: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 12:40:47 AM
นาย Tony Senitores ช่างภาพสมัครเล่นชาวอเมริกัน อยากจะถ่ายภาพลูกกระสุนตอนที่มันวิ่งไปชนเป้ากระดาษ ก็เลยจัดฉากตามรูปดังกล่าว คือ เอาเป้ากระดาษไปแขวนไว้ด้วยเชือกที่ขึงตึง ด้านบนติดตั้งหลอดไฟให้แสงสว่างส่วนหนึ่ง แล้วตั้งกล้องที่มีชัตเตอร์ความเร็วสูงไว้ด้านหน้า  เขาถ่ายภาพเอาไว้หลายรูป แล้วก็ส่งไปอัด โดยเป็นภาพแบบสไลด์ทั้งหมด เมื่อได้รับสไลด์กลับมาแล้วเขาก็ชื่นชมในผลงานของเขาเป็นอย่างยิ่ง  หลายปีผ่านมายุคของกล้อง digital เข้ามาครองตลาด เขาอยากจะแปลงภาพสไลด์ของเขาให้เป็นระบบ digital ด้วย เพราะจะได้สามารถนำมาเก็บในคอมพิวเตอร์และนำไปใช้พิมพ์หรือชมได้สะดวกขึ้น  อย่างไรก็ตาม ในระหว่างทำการแสกนสไลด์เขาต้องแกะเอากรอบของสไลด์ออก เพื่อที่ให้ได้ภาพทั้งหมด รวมทั้งส่วนที่กรอบกระดาษของสไลด์บังอยู่  หลังจากทำการแปลงภาพเรียบร้อย เขาได้นำภาพผลงานของเขามาชมทางจอคอมพิวเตอร์  และแล้วเขาก็เห็นภาพ “เงากระสุนปริศนา” ที่เขาไม่สามารถอธิบายได้ ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร  คือจากภาพจะเห็นว่าตัวกระสุนเริ่มเจาะหัวเข้าไปในเป้ากระดาษ แต่ตรงพื้นเงาของกระสุนยังอยู่ห่างจากเป้าอีกพอสมควร

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/BS-1.jpg)

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////



(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/2296870_f520F2.jpg)


/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/2296870_f520F1.jpg)

อนึ่งเทคนิคการถ่ายภาพความเร็วสูงนั้นทำได้ไม่ยากหากรู้วิธี  สมัยที่ผมกำลังบ้าเรื่องกล้อง ก็ได้ลองถ่ายเล่นเอาไว้มากมาย วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ใช้เสียงเป็นตัวกระตุ้นให้แฟลชฉายแสงออกไป ก่อนอื่นเราต้องจัดฉากหลังให้เป็นสีดำสนิท ผ้ากำมะหยี่สีดำใช้ดีที่สุด ส่วนวงจรกระตุ้นแฟลชด้วยเสียงนั้น อาจซื้อหาเอา หรือทำเอาเองโดยหาอุปกรณ์ง่าย ๆ ไม่กี่ตัว อุปกรณ์ตัวนี้จะมีสายโยงต่อเข้ากับตัวแฟลชซึ่งเราต้องตั้งความเร็วของแฟลชไว้ที่ประมาณ 1/10000 – 1/20000 วินาที  ส่วนกล้องต้องตั้งชัตเตอร์สปีดเอาไว้ที่ตำแหน่ง “B” คือตราบใดที่เรายังกดชัตเตอร์เอาไว้หน้ากล้องก็จะเปิดตลอด  และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องถ่ายในตอนกลางคืนหรือในห้องที่ไม่มีแสงนะครับ  

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/BaseBall-1F.jpg)

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการถ่ายภาพซับซ้อนความเร็วสูง เช่น การถ่ายภาพวงสวิงของการตีกอล์ฟ โดยในภาพเดียวกันนั้นจะเห็นวงสวิงที่จุดต่าง ๆ กัน ซึ่งอาจจะมี 3 จุด 8 จุดหรืออาจไปถึง 20 จุดก็ได้ กรณีนี้เราก็จัดการกระตุ้นแฟลชหลาย ๆ ครั้งติดต่อกันเป็นแบบไฟกระพริบหรือ strobe ปัจจุบันแฟลชหลายรุ่นมีระบบไฟกระพริบให้เลือกใช้ได้เลย  สมัยก่อนผมใช้ช้อนรูดไปบนที่ปิ้งซึ่งเป็นตระแกรงเหล็กใช่องห่างกันราว 1 นิ้ว

ภาพล่างเรียกว่า multi-exposured ครับ
(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/golf_swing.jpg)

3 ภาพล่างจากปืนลมคนอื่นถ่ายไว้ ของผมถ่ายเป็นฟีล์มเอาไว้ ยังไม่ได้ไปค้นเอาออกมาแปลงนะครับ

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/high_speed_photography_17.jpg)

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/high_speed_photography_22.jpg)

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/High-Speed-Photography-06.jpg)

หมายเหตุ เนื่องจากว่าสมัยก่อนเราถ่ายด้วยฟีล์ม ถ่ายแล้วต้องรอล้างออกมาดูว่าได้ผลหรือไม่ ต่างจากปัจจุบันที่ใช้กล้องดิจิตัลดูผลได้เลย  ดังนั้นผมต้องใช้การเปลี่ยน “ระยะทาง” จากตัวกระตุ้นแฟลช ไปยังแฟลช เช่นถ้าแฟลชยิงเร็วเกินไปก็ต้องยืดระยะทางออกไป คือให้เสียงใช้เวลาเดินทางมากกว่าเดิม ผลก็คือแฟลชต้องรอนานกว่าเดิมถึงจะยิงแสงออกไป  ในทางกลับกันถ้าแฟลชยิงช้าเกินไป กระสุนเลยเป้าไปแล้วก็ให้ขยับตัวกระตุ้นแฟลชเข้ามาใกล้แฟลช ทำเช่นนี้ลองไปลองมาอยู่หลายวันถึงจะได้ระยะที่ถูกต้อง

อนึ่งบางท่านอาจสงสัยว่าในเมือ่ตัวกระตุ้นแฟลชใช้เสียงเป็นสัญญาณแล้วทำไมไม่ใช้เสียงจากปาก ก็ขอบอกว่าเสียงนั้นต้องเป็นเสียงเหมือนโลหะมากระทบกันเท่านั้น

ภาพล่างคือภาพยอดนิยมทำกัน คือเอาลูกโป่งใส่น้ำแล้วทำให้แตก ลูกโป่งจะแตกออก แต่น้ำจะคงรูปเอาไว้ได้ในชั่วพริบตา
(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/high-speed-photography-water-balloon1.jpg)

นาย Tony Senitores ได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่เงาไม่ตรงกับตัววัตถุต้นกำเนิดของเงา ก็ได้พบว่าได้เกิดมีภาพปริศนาเช่นนี้มาก่อน คือภาพคนเล่นกีฬาเบสบอล คือจะมีทั้งกรณีที่ลูกบอลกระทบไม้พอดี แต่เงาของลูกบอลยังห่างจากไม้ หรือตรงกันข้าม

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/bullet4F.jpg)
ภาพสุดท้ายจะเห็นได้ชัดว่า นอกจากลูกกระสุนตัวจริงด้านบนในภาพกระทบผ่านน้ำออกมาช่วงหนึ่งแล้ว แต่เงาในน้ำกระสุนเพิ่งจะออกมาได้นิดเดียว อีกอย่างกระสุนจริงเริ่มหักหัวขึ้นเปลี่ยนทิศทางเพราะกระทบน้ำ แต่เงาของมันในน้ำยังคงอยู่ในแนวนอน??????

ยังไงก็ลองคิดดูกันเล่น ๆ นะครับว่าจะมีคำอธิบายเรื่องเงาปริศนานี้ได้อย่างไร

ธนาสิทธิ์ ศิริลักษณ์
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๔


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 12:41:25 AM
เฉลยตามไปหน้า 2 นะครับ  แต่ถ้าอยากจะเดาหรืออยากรู้ว่าท่านอื่น ๆ คิดอย่างไร ก็อ่านไปเรื่อย ๆ
Tanasit


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: motหัดยิง ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 08:16:18 AM
 ::014::ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: สายน้ำ ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 08:21:24 AM
ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: sitta. ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 09:36:54 AM
แรงโน้มถ่วงมีผลต่อแสง  แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งได้หากมีแรงดึงดูดบริเวณนั้นมาก
กระสุนเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงอาจส่งผลทำให้บริเวณนั้นเกิดแรงโน้มถ่วงสูงทำให้
แสงบริเวณนั้นเดินทางเป็นเส้นโค้ง


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: tui086 ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 09:41:16 AM
       ดูรูปเบสบอลแล้ว งง ครับ... จากแสง และเงา และภาพ ที่เห็น..Batter น่าจะตีวืด..ด..... คือตีไม่ถูกลูกบอล แต่ในภาพ เค้าน่าจะสวิงไม้ลอดลูกบอล เพราะเห็นส่วนของลูกบอลส่วนนึงบังอยู่เหนือไม้ตี  แต่พอดูที่เงา มันกลายเป็นว่า Batterน่าจะสวิงเหนือลูกบอลครับ.....แปลกจริงๆ....
       แปลกมากครับ...ตกลงว่ามันเป็นเพราะอะไรครับ....


(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/BaseBall-1F.jpg)


นาย Tony Senitores ได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่เงาไม่ตรงกับตัววัตถุต้นกำเนิดของเงา ก็ได้พบว่าได้เกิดมีภาพปริศนาเช่นนี้มาก่อน คือภาพคนเล่นกีฬาเบสบอล คือจะมีทั้งกรณีที่ลูกบอลกระทบไม้พอดี แต่เงาของลูกบอลยังห่างจากไม้ หรือตรงกันข้าม


    เมื่อดูดีๆอีกครั้ง....ความคิดเห็นตอนแรกของผม "ผิด" เต็มๆ......ที่ว่าผิด ชัดๆ คือ... Batter  ไม่ได้ตี วืด...ด.... ครับ... เค้าตีโดนลูกบอลแล้วต่างหาก.... แล้วลูกบอล กำลังทะยานออกจากหน้าไม้ไปนิดนึง สังเกตได้จากตำแหน่งไม้ตีขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งหน้าตัวของBatterแล้ว   หมายถึง Batter กำลัง Follow through (เขียนถูกหรือเปล่าไม่แน่ใจครับ)  และตำแหน่งของลูกบอลขณะนั้นอยู่นอกแนวการรับของ Catcher แล้ว (ถ้าลูกนี้หวดวืด..ด.... Batter โดนลูกบอลอัดเข้าเต็มๆแน่นอน...)
   แต่ก็ยังอธิบายไม่ได้อยู่ดี ว่าทำไมภาพที่เห็น กับเงาที่เกิด มันไม่สอดคล้องกัน... ยังงงอยู่ดีครับ....


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: sitta. ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 09:58:19 AM
ระยะทางของแสงที่เดินทางมาถึงกล้องก็ทำให้เกิดภาพแบบนี้ได้

นักยิงธนูเล็งธนูไปยังศัตรูในระยะไม่ไกลนัก   เมื่อศัตรูมองเห็นว่านักยิงธนูปล่อยลูก
ที่แท้จริงแล้วธนูถูกปล่อยไปตั้งแต่ก่อนหน้าแล้ว สิ่งที่ศัตรูมองเห็นว่านักยิงธนูปล่อยลูกธนูมายังตน
เป็นภาพในอดีต  ถ้านับกันเป็นเสี้ยววินาทีนะ

ผมคิดว่า ภาพเงา กับ ภาพจริง เกิดขึ้นคนละเวลา เพราะระยะทางจากเงา กับ ภาพจริงอยู่ห่างกล้องไม่เท่ากัน
ภาพใดอยู่ไกลจากกล้องจะเป็นภาพที่เกิดตามหลัง 


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ผณิศวร เกิดในรัชกาลที่ ๙ ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 03:27:58 PM
ตามที่คุณ sitta. อธิบายครับ  แสงใช้เวลาเดินทางจากวัตถุมาถึงฟิล์ม  ถึงแสงจะเดินทางได้เร็วอย่างไรก็ต้องใช้เวลาบ้าง

ภาพกระสุน ที่หัวกระสุนเจาะกระดาษเป้าแล้ว แต่เงายังไปไม่ถึงเป้า
เป็นเพราะตำแหน่งหัวกระสุนอยู่สูง ใกล้ไฟ  กล้องอยู่ต่ำกว่า ใกล้พื้น(ที่เกิดเงา)
ถ้าภาพหัวกระสุนที่เป้าเป็น "ปัจจุบัน"  ภาพเงาที่พื้นก็เป็น "อตีต" คือเสี้ยววินาทีก่อนหน้านั้น
ลองคำนวณดูก็ได้ครับ  สมมุติระยะทางจากหัวกระสุนถึงฟิล์ม  มากกว่าจากเงาถึงฟิล์ม อยู่ 5 ฟุต
แสง(186000 ไมล์/วิ) จะใช้เวลาเดินทาง 5 ฟุตนี้ กี่วินาที (.0000xxx)
และในเวลาเดียวกันนี้  หัวกระสุน (3000 ฟุต/วิ) จะวิ่งไปได้กี่มิลลิเมตร (1 นิ้ว = 25.4 มม.)

ถ่ายภาพติดวัตถุปัจจุบัน ได้เงาในอดีตมาด้วย  พอเข้าใจนะครับ
แต่ภาพตีเบสบอล  ถ้าบอกว่าได้ภาพวัตถุปัจจุบัน(ลูกบอล) กับเงาที่เป็น "อนาคต" มาด้วย  อย่างนี้เข้าใจยากจริงๆ ครับ


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: idea badlyn ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 04:17:21 PM
เป็นเสน่ห์และความงามที่ได้จากการหักเหของแสง...พัฒนาให้มนุษย์ปราดเปรื่องขึ้น


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 09:08:05 PM
เป็นความจริงที่ว่า ดวงดาวบางดวงที่เรามองเห็นในยามค่ำคืนนั้น ความจริงแล้ว ไม่มีตัวตนในเวลาที่เราเห็น
ทั้งนี้เพราะ การที่แสงจากดวงดาวดวงนั้น จะเดินทางมายังโลกต้องใช้เวลานานมาก อาจเป็นเดือน เป็นปี
และเป็นไปได้ว่าระหว่างที่แสงกำลังเดินทางมายังโลก ดาวดวงนั้นได้สิ้นสลายไปเสียแล้ว
นั่นก็หมายความว่า แสงดาวที่เราเห็นนั้น มาจากดวงดาวที่ดับสูญไปแล้ว  หรือไม่มีตัวตนนั่นเอง


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 09:11:24 PM
แรงโน้มถ่วงมีผลต่อแสง  แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งได้หากมีแรงดึงดูดบริเวณนั้นมาก
กระสุนเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงอาจส่งผลทำให้บริเวณนั้นเกิดแรงโน้มถ่วงสูงทำให้
แสงบริเวณนั้นเดินทางเป็นเส้นโค้ง

ขอให้คะแนนความคิดเป็น A เลยครับ  แต่ผิดครับ ผิดอย่างแรงด้วย เพราะแรงโนมถ่วง, สนามแม่เหล็ก, คลื่นวิทยุ หรือ รังสีใด ๆ ก็ไม่สามารถทำให้แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งได้


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ป๊อกแมน ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 09:41:35 PM
ลงทะเบียนรับฟังเพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลครับ


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: komatsu ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 10:15:11 PM
แรงโน้มถ่วงมีผลต่อแสง  แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งได้หากมีแรงดึงดูดบริเวณนั้นมาก
กระสุนเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงอาจส่งผลทำให้บริเวณนั้นเกิดแรงโน้มถ่วงสูงทำให้
แสงบริเวณนั้นเดินทางเป็นเส้นโค้ง

ขอให้คะแนนความคิดเป็น A เลยครับ  แต่ผิดครับ ผิดอย่างแรงด้วย เพราะแรงโนมถ่วง, สนามแม่เหล็ก, คลื่นวิทยุ หรือ รังสีใด ๆ ก็ไม่สามารถทำให้แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งได้
อากาศสามารถทำให้แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งได้หรือเปล่าครับ  ::014:: ::014::


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: godsira รักในหลวง ที่ กุมภาพันธ์ 18, 2011, 10:46:41 PM
 ::014:: อ่านไปอ่านมา เริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่ตาเราเห็น ณ ปัจจุบัน จริงๆแล้วเป็นอดีต ซะอย่างนั้น......  :~)


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: marsman ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2011, 12:29:56 AM
จำได้สมัยเรียนฟิสิกส์ เรื่องความเร็วแสง ระยะแหล่งกำเนิดแสงกับวัตถุ อะไรพวกนี้ล่ะครับ

ที่บอกภาพที่เราเห็นเป็นอดีตเพราะแสงต้องใช้เวลามาสู่ตาเรา แต่ระยะแค่ ไม่กี่เมตรคงไม่ต่างกันมาก  แต่ภาพที่กล้องอวกาศถ่ายการระเบิดของดาวฤษ ที่ถ่ายได้นั้นดาวนั้นหายไปตั้งนานแล้วแต่แสงเพิ่งเดินทางมาถึง Sensor กล้อง นั้นเอง

ลูกปืนเป็นแบบนี้รึป่าวครับ
(http://image.free.in.th/z/ij/21untitled.png)


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2011, 07:49:55 AM
ผมเห็นว่าบ้านเราชอบกีฬาฟุตบอล ผมลองเสริชในเว็ป ภาพแรกออกมาดังนี้เลยครับ...

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/Soccorball.jpg)

ต่อมาผมใช้คำว่า soccor shadow ก็ได้ภาพล่างนี้มา

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/Soccor1.jpg)

การที่ใช้เหตุผลที่ว่าระยะทางจากลูกปืนและเงาลูกปืนถึงกล้องต่างกัน แสงใช้เวลาเดินทาง (กล้องมองเห็น) ต่างกันนั้น สามารถสรุปได้ชัดเจนโดยการใช้การคำนวณที่แน่นอนดังนี้
เริ่มโดยสมมุติง่าย ๆ ว่าระยะที่ต่างกันเป็น 5 ฟุต
1.   ระยะ 5 ฟุตแสงเดินทางใช้เวลา (1x5)/(186000x1760x3) = 5.0912e-9 วินาที
2.   เบสบอลความเร็วประมาณ 100 ไมล์/ชม. ในเวลา 5.0912e-9 วินาที เคลื่อนที่ได้ = 7.4671e-7 ฟุต หรือเท่ากับ 0.00896 มม.
3.   ลูกปืน M16 ที่ความเร็ว 975 ไมล์/วินาที ในเวลา 5.0912e-9 วินาที เคลื่อนที่ได้ = 7.2804e-6 ฟุต หรือเท่ากับ 0.0873 มม.

เส้นผมคนมีขนาดตั้งแต่ 0.04 – 0.25 มม. ครับ ดังนั้นจากตัวเลขข้างบน จะเห็นได้ว่า ถ้าเอาเหตุผลที่ว่า ระยะทางจากลูกปืนและเงาลูกปืนถึงกล้องต่างกัน แสงใช้เวลาเดินทาง (กล้องมองเห็น) ต่างกันนั้น ระยะแตกต่างของตำแหน่งลูกปืนหรือลูกเบสบอลกับเงาของมันนั้นจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นด้วยซ้ำ

ที่จริงข้างบนผมเขียนแบบสมองพาไป แต่ความจริงแล้วถ้าจะคิดให้เร็วขึ้น เราก็ใช้วิธีที่ว่า สมมุติว่าเงาห่างจากตัวจริง 5 นิ้ว แล้วคำนวณดูว่าระยะทางจากลูกปืนและเงาลูกปืนควรจะเป็นเท่าไหร่ แสงถึงจะใช้เวลาเดินทางแตกต่างกันจนได้ระยะทาง 5 นิ้วที่เราสมมุติขึ้น
1.   เบสบอลความเร็วประมาณ 100 ไมล์/ชม. ระยะ 5 นิ้วใช้เวลา 0.0028 วินาที ในเวลา 0.0028 วินาทีแสงเดินทางได้ 528.40 ไมล์ นั่นก็หมายความว่า ช่างภาพต้องอยู่ไกลถึง 528.40 ไมล์ เพื่อที่จะจับภาพให้ได้เงาลูกเบสบอลห่างจากตัวลูกบอล 5 นิ้ว  งานนี้ก็เป็นไปไม่ได้
2.   สำหรับลูกปืน เอาแค่ 1 นิ้วมาลองคิดดู ลูกปืน M16 ที่ความเร็ว 975 ไมล์/วินาที ระยะ 1 นิ้ว ใช้เวลา 5.8275e-5 วินาที และในเวลา 5.8275e-5 วินาทีนี้ แสงเดินทางได้ 10.83 ไมล์ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีกล้องตัวไหนจะถ่ายได้ไกลขนาดนั้น

เป็นอันว่าสมมุติฐานที่ว่า “ระยะทางจากลูกปืนและเงาลูกปืนถึงกล้องต่างกัน แสงใช้เวลาเดินทาง (กล้องมองเห็น) ต่างกันนั้น” ไม่ถูกต้องนะครับ สรุปสั้น ๆ คือแสงมีความเร็วสูงมาก ถ้าจะเอาให้ได้ความแตกต่างของเงาและตัวจริงจนมองเห็นหรือกล้องจับได้ ก็ต้องใช้ระยะทางจุดตั้งกล้องที่เป็นไปไม่ได้


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2011, 09:01:23 AM
จำได้สมัยเรียนฟิสิกส์ เรื่องความเร็วแสง ระยะแหล่งกำเนิดแสงกับวัตถุ อะไรพวกนี้ล่ะครับ

ที่บอกภาพที่เราเห็นเป็นอดีตเพราะแสงต้องใช้เวลามาสู่ตาเรา แต่ระยะแค่ ไม่กี่เมตรคงไม่ต่างกันมาก  แต่ภาพที่กล้องอวกาศถ่ายการระเบิดของดาวฤษ ที่ถ่ายได้นั้นดาวนั้นหายไปตั้งนานแล้วแต่แสงเพิ่งเดินทางมาถึง Sensor กล้อง นั้นเอง

ลูกปืนเป็นแบบนี้รึป่าวครับ


ผิดประเด็นนะครับ  เราพูดกันถึงภาพและเงาที่ต่างตำแหน่งกัน....
ส่วนที่ว่าภาพที่เห็นเป็นอดีต...หมายถึงไม่มีภาพปัจจุบัน????  ถ้างั้นก็คงจะมีแต่หมอดูละครับ ที่เห็นภาพในอนาคต
ในทางทฤษฎีก็ถูกต้องนะครับ...แต่คงเป็นอดีตสั้น ๆ ทั้งนั้น  ยกเว้นมองดูดาวที่ผมพูดไปแล้ว 
กระพริบตา เห็นความมืดชั่วพริบตา ลืมตา ก็เป็นอดีตไปแล้ว....


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2011, 09:06:45 AM
จำได้สมัยเรียนฟิสิกส์ เรื่องความเร็วแสง ระยะแหล่งกำเนิดแสงกับวัตถุ อะไรพวกนี้ล่ะครับ

ที่บอกภาพที่เราเห็นเป็นอดีตเพราะแสงต้องใช้เวลามาสู่ตาเรา แต่ระยะแค่ ไม่กี่เมตรคงไม่ต่างกันมาก  แต่ภาพที่กล้องอวกาศถ่ายการระเบิดของดาวฤษ ที่ถ่ายได้นั้นดาวนั้นหายไปตั้งนานแล้วแต่แสงเพิ่งเดินทางมาถึง Sensor กล้อง นั้นเอง

ลูกปืนเป็นแบบนี้รึป่าวครับ
(http://image.free.in.th/z/ij/21untitled.png)


ผมกลับมาดูรูปแสงและเงาของคุณ marsman อีกครั้ง ไม่ถูกต้องนะครับ เพราะถ้าฐานของวัตถุและเงาอยู่บนแกนหรือแนวเดียวกันแล้ว
วัตถุและเงาของมันต้องอยู่ในตำแหน่งเดียวกันเสมอ เพียงแต่ความสูงหรือความยาวของเงาอาจเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: sitta. ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2011, 09:35:32 AM
แล้วประเด็นเรื่องของมุมแสงส่องเข้าไปยังวัตถุละครับ  
เมื่อมุมที่แสงส่องเข้าต่างกัน รูปเงาก็ออกมาต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าแสงเข้าทางลูกบอล แม้ว่าลูกบอลจะยังไม่ถึงเท้านักเตะ
แต่เงาของลูกบอลก็จะบดบังเท้าของนักเตะแล้ว  ถ้าเป็นแบบนี้ดูเหมือนเงาเดินทางไปล่วงหน้า

แต่ที่ผมสงสัยคือ กระสุนถึงเป้าแล้ว ทำไมเงาจึงยังไม่ถึงเป้า
หรือว่าเป็นที่ความเร็วชัตเตอร์ ผสานกับรูรับแสงของกล้องที่เล็กมาก ทำให้มีผลต่อการเกิดภาพแบบนั้น
เรื่องรูรับแสงก็มีความสำคัญครับ เพราะรูรับแสงเล็กจะรับแสงได้แคบ ๆ และครั้นพอให้แสงเข้าเป็นช่วงเวลาหนึ่ง
โดยใช้ชัตเตอร์เปิดปิด  ชัตเตอร์เองก็ต้องเลื่อนไปมา ไม่ได้ปิดทีเดียวพร้อมกันทั้งรู
ตรงนี้อาจจะทำให้แสงในช่วงเวลาที่ต่างกันบันทึกลงบนแผ่นฟิลม์เดียวกัน


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ผณิศวร เกิดในรัชกาลที่ ๙ ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2011, 02:24:31 PM
ถ้าตัดเรื่องระยะทางวิ่งของแสงออกไป  เหลือคำอธิบายทั้งภาพเงากระสุนปืนและเงาลูกเบสบอล คือ virtcal plane shutter ครับ
ซึ่งถ้าในกรณีของลูกปืน หากใช้วิธีเปิดหน้ากล้อง B กับ strobe เรื่องชัตเตอร์ก็ไม่มีผลครับ
ชัตเตอร์ เปิดให้แสงเข้าเป็นช่องแคบๆ วิ่งจากบนลงล่าง (ที่จริงคือล่างขึ้นบนในตัวกล้อง แต่ภาพกลับหัว) ความแตกต่างของเวลาคือความเร็วในการวิ่งของช่องเปิดที่ชัตเตอร์  ซึ่งช้ากว่าแสงมาก

ในห้องภาพ อวป. เคยมีคำถาม ว่าทำไมคนยืนดูปกติ แต่มอเตอร์ไซค์ในภาพมันโย้  อธิบายได้แบบเดียวกันครับ
http://www.gunsandgames.com/smf/index.php?topic=67897.0 (http://www.gunsandgames.com/smf/index.php?topic=67897.0)  (ภาพลบไปแล้ว แต่ข้อความยังอยู่ครับ)


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: Jacky_Cheng ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2011, 04:26:22 PM
 ::014:: ::014:: ::014::


หัวข้อ: Re: @@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2011, 08:50:23 PM
เฉลยนะครับ....


แรกเริ่มกล้องรูเข็มนำทางมาด้วยรูน้อย ๆ ตายตัวได้ภาพหัวกลับมาประทับลงบนจอภาพด้านหลัง ต่อมาได้มีการพัฒนาชัตเตอร์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกลีบดอกไม้ซ้อนกันเป็นแผ่นโลหะบาง ๆ อยู่ในตัวเลนส์ จึงเรียกว่า leaf shutter เวลากดชัตเตอร์กลีบเหล่านี้จะหุบตัวเปิดไว้เพียงรูรับแสง (aperture) ตามขนาดที่ตั้งเอาไว้ และตามความเร็วชัตเตอร์ที่ตั้งเอาไว้เช่นกัน  อย่างไรก็ตามชัตเตอร์แบบนี้มีขีดจำกัดอยู่ที่ความเร็วสูงสุดราว 1/500 เท่านั้น แต่ก็มีข้อดีคือสามารถ synchronize กับ flash  ได้ทุกความเร็ว

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/IMG_2612.jpg)
(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/leaf.jpg)
ด้านบนชัตเตอร์แบบ leaf ด้านล่างแบบม่าน
(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/Focal_P_Shut.jpg)
(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/LowSp.gif)
รูปบนสปีดช้า ม่านห่างกัน รูปล่างสปีดเร็วม่านชิดกัน
(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/HighSp.gif)

ข้างล่างแสดงอีกแบบให้เห็นการทำงาน
(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/highspeed_sync500.jpg)



ต่อมาได้มีการพัฒนาชัตเตอร์ชนิดใหม่ขึ้นมา เรียกว่า Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter ซึ่งมีลักษณะเหมือนม่าน 2 ตัววิ่งตามกันด้วยความเร็วคงที่ แต่ถ้าเราตั้งความเร็วชัตเตอร์สูง เจ้าม่านตัวที่ 2 ก็จะตามท้ายม่านตัวแรกมาติด ๆ เปิดเป็นเพียงช่องสีเหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ ให้แสงลอดเข้ามาทำหน้าที่ของมัน  อนึ่งชัตเตอร์แบบนี้ มีทั้งแบบวิ่งซ้ายขวา และ บนล่าง แล้วแต่การออกแบบของยี่ห้อนั้น ตามรูปที่ผมแนบมา  อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการตั้งกล้อง (ผมหมายถึงจะจับแบบธรรมดา หรือจะตะแคง 90 องศาไปทางซ้ายหรือทางขวา หรือแม้จะกลับหัวกล้องก็ได้) คุณสามารถจะตั้งให้เป็นแบบไหนก็ได้แล้วแต่การใช้งาน ซึ่งจะมีผลต่างกันสำหรับกรณีเงากระสุนปริศนาที่เรากำลังพูดถึง

“รูปครู” หรือภาพที่การเรียนการสอนเรื่องกล้องใช้เป็นมาตรฐานในการอธิบายการทำงานของ Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter และผลแปลกตาที่ตามมาก็คือภาพที่ผู้เล่นเบสบอลตีลูกเบสบอล โดยที่ในภาพจะเห็นลูกเบสบอลติดหรือโดนไม้ แต่เงาที่พื้นด้านล่างลูกเบสบอลกลับอยู่ห่างจากไม้อย่างเห็นได้ชัด  ในกรณีนี้อธิบายได้ว่า ผู้ถ่ายนั้นใช้กล้องที่มีชัตเตอร์เป็นแบบ Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter โดยตั้งกล้องให้ได้ชัตเตอร์วิ่งในแนวจากล่างขึ้นบน  (อย่าลืมนะครับว่าภาพบนฟีล์มหรือ sensor จะกลับหัว) พอเริ่มยิงม่านตัวแรกจะเปิดตัวออกมาได้นิดนึงเจ้าม่านตัวที่สองก็จะวิ่งตามมา เปิดช่องไฟจับภาพเริ่มจากด้านบนหรือขาคนตี ต่อมาก็จับภาพเงาของลูกเบสบอลที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาแต่ยังห่างไม้อยู่พอควร ไล่จับภาพบริเวณลำตัว ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงตำแหน่งไม้ ซึ่งในขณะเดียวกันที่ผ่านมาลูกก็วิ่งมาถึงไม้พอดี ทำให้จับภาพลูกติดกับไม้ ซี่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้จับภาพเงาในช่วงแรกไปแล้ว
หมายเหตุ ในกรณีนี้ ถ้าท่านใช้กล้อง Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter แต่ตั้งกล้องแบบให้ชัตเตอร์วิ่งในแนวนอน หรือซ้าย-ขวา ก็จะไม่มีผลอย่างข้างบน เพราะช่องไฟจะเปิดช่วงลูกบอลกระทบไม้พอดีหรือใกล้เคียงกันกับตอนเงาลูกบอกกระทบไม้เช่นกัน

ภาพล่างคือผังแสดงให้เห็นว่ากล้องแต่ละยี่ห้อเขาออกแบบชัตเตอร์ม่านให้วิ่งไปทางไหน
(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/shutter-dir.gif)

ถ้ามีโอกาส ตอนนี้เรามีกล้องดิจิตัลก็ลองกันดูสิครับ

เกร็ดของเรื่อง.... Focal-Plane shutter นั้นความจริงมีมานานแล้ว คือเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1870 เป็นแบบ single-focal shutter โดยการใช้แผ่นไม้ปล่อยให้ตกลงมาเฉย ๆ ต่อมามีการใช้หนังยางช่วยดึงอีกแรง เพื่อเร่งความเร็ว ซึ่งตกราว 1/500 – 1/1000  ปี 1925 Leica ได้คิดค้น Two-curtain shutters ที่ทำด้วยผ้าดำ  มีความเร็วราว 1/1000 พอถึงปี 1960 Konica ได้ทำ Square-type metal-bladed focal-plane shutter ที่มีความเร็วถึง 1/2000  ในที่สุด ปี 1992 Nikon ได้ออก Minolta Maxxum 9xi ที่มีความเร็วชัตเตอร์ถึง 1/12000  กลไกชัตเตอร์นั้นเป็นระบบ mechanism ล้วน  ๆ คือประกอบด้วย เฟืองเกียร์ กระเดื่อง คานโยก  คานงัด สปริง ฯลฯ และต้องผ่านการทดสอบให้ทำงานกว่า 1 แสนครั้งโดยไม่ผิดพลาด ดังนั้นในช่วงระยะเวลาไล่ ๆ กัน ปี 1966 Pentacon Praktica Electronic ได้ออกแบบ electronically controlled FP shutter โดยใช้ระบบวงจรไฟฟ้าเข้ามาควบคุมการทำงาน ต่อมา Asahi Pentax ES ในปี 1972 ได้ทำ electronic aperture-priority autoexposure โดยการเอา electronically controlled shutter มาใช้กับ exposure control light meter ปี 1980 Yashica Contax 139 Quartz ได้เผยตัว digital piezoelectric quartz ที่ให้ความแม่นยำสูง และแล้วในปี 1999   Nikon D1 digital SLR ก็ทำลายสถิติด้วยชัตเตอร์ที่ความเร็ว 1/16000 อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 2003 ทางผู้ผลิตพบว่าไม่มีความจำเป็นในการที่จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขนาดนั้น จึงลดความเร็วสูงสุดมาที่ 1/8000 และกลับมาพัฒนาทางด้านความคงทนแทน  อนึ่งความเร็วที่พัฒนาได้นั้น มาจากการเปลี่ยนชนิดของวัสดุที่นำมาใช้ทำแผ่นชัตเตอร์ที่เริ่มจาก ไม้มาเป็นโลหะเหล็ก ต่อมาเป็นอะลูมิเนียม พลาสติคผสมไฟเบอร์ ตลอดจนคาร์บอนเซรามิค ฯลฯ

เคยให้ลูกศิษย์ราว 30 คนออกไปถ่ายภาพรถสวนกันบนถนน ให้ฟีล์มคนละ 1 ม้วน กลับมาก็ถามว่า ตอนเล็งเห็นหรือเปล่าว่ารถสวนกันตอนกดชัตเตอร์ ทุกคนก็ตอบว่าเห็นด้วยความมั่นใจ พอล้างรูปออกมา มีเพียงคนเดียวที่ได้รูปรถสวนกันมา 1 รูปแบบเฉียดฉิว นอกนั้นมีแต่รูปถนนว่างเปล่า (ขอบอกว่าสมัยนั้นรถน้อย ต้องรอพักใหญ่กว่าจะมีรถมาสักคัน และต้องรอพักเบ้อเร่อกว่าจะมีรถสวนกัน) ก็สอนเขาไป 2 ประเด็นคือ ด้วยระบบของกล้อง สิ่งที่ท่านเห็นตอนกดชัตเตอร์จะไม่ใช่สิ่งที่ถูกบันทึกลงไปบนแผ่นฟีล์ม เพราะ ณ.จุดบันทึก กระจกจะกระเด้งขึ้นมาปิด pentaprism (ทำให้เราเห็นแต่สีดำ ๆ ในจอ) เพื่อเปิดทางให้แสงได้เข้าไปกระทบแผ่นฟีล์ม ส่วนอีกประเด็นคือ lag time วึ่งคือเวลาอันจำเป็นที่ต้องเสียไปตั้งแต่นิ้วเริ่มกดชัตเตอร์จนถึงเวลาที่แผ่นชัตเตอร์เคลื่อนตัว เพราะต้องผ่านกลไกต่าง ๆ  และแล้วก็หันกลับมาถามคนที่ถ่ายภาพรถสวนกัน 1 ภาพว่าได้มาอย่างไร เขาก็สารภาพว่าตื่นเต้น เผลอกดชัตเตอร์ไปเสียก่อนที่ตั้งใจไว้...555

ตอนที่ผมบ้ากล้อง ผมจะจดข้อมูลต่าง ๆ ของการถ่ายภาพแต่ละรูป ตั้งแต่ shutter speed, aperture, ASA ของฟีล์ม, เวลาที่ถ่ายของวันนั้น, สภาพอากาศและแสง, ตำแหน่งซูมของเลนส์ ฯลฯ พอล้างรูปออกมา ก็จะมาเทียบดูและศึกษา  ครั้งหนึ่งเคยล้างภาพเอง เข้าไปในห้องมืดวันอาทิตย์เช้าออกมานึกว่ายังเป็นวันเดิม ที่ไหนได้กลายเป็นวันจันทร์ไปแล้ว...555

ปิดฉาก ปัจจุบันอะไร ๆ ก็เป็นระบบไฟฟ้าไปเสียหมด แต่ความรู้สึกดี ๆ บางอย่างที่ได้รับจากการใช้ระบบกลไกยังตราตรึงในหัวใจมิรู้เลือน  ทางผู้ผลิตก็อดเอาใจผู้ใช้ไม่ได้ ก็เลยจัดให้ตามระเบียบ อาทิ เสียงชัตเตอร์ลั่นปลอม เพราะระบบจริงไม่มีเสียง หรือ จอปิดดำตอนชัตเตอร์ลั่น ก็ปลอมอีกเพราะระบบไฟฟ้าไม่ต้องใช้ return mirror ต่อไปก็ยังไม่รู้ว่าทางผู้ผลิตจะมีทีเด็ดอะไรมาตอบสนองความต้องการของเรา รู้แต่ว่าเตรียมเก็บเงินเอาไว้ก็แล้วกัน

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/Heki-1.jpg)
ภาพบนจะเห็นได้ชัดเลยว่าผลที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้องที่มีชัตเตอร์แบบ Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter ถ่ายภาพสิ่งของเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงแล้ว ภาพออกมาจะดูแปลกผิดหูผิดตาต่างจากที่เราคาดหวัง ภาพนี้ต่างจากลูกปืนหรือเบสบอลเพราะใบพัดไม่ได้วิ่งเป็นเส้นตรง แต่หมุนรอบตัวทำให้ออกมาโค้งงอดังกล่าว  อนึ่งถ้าเป็นเฮลิคอปเตอร์จริงจะไม่ออกมาโค้งงอมากแบบนี้ดังรูปถัดไป  ทั้งนี้เพราะเฮลิคอปเตอร์จริงมีใบพัดขนาดยาวมาก ดังนั้นเมื่อหมุนด้วยความเร็วโดยเฉลี่ย 500 รอบต่อนาที ความเร็วของปลายใบพัดก็จะใกล้กับความเร็วของเสียงเข้าไปทุกที จึงทำให้เราได้ยินเสียง “ปั้บ ๆ ๆ ๆ” ดังกล่าว 

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/helicopter_parents.jpg)


(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/MV-12.jpg)

เฮลิคอปเตอร์ Mil V-12 (รูปถัดไปที่มีใบพีด 2 ชุด)หรือบางทีเรียกว่า Mi-12 เป็นเฮลิคอปเตอร์บรรทุกหนักของรัสเซียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ความเร็วใบพัดเพียง 114 รอบ/นาที  ส่วนเฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุของเล่นนั้น มีความเร็วประมาณ 2000 – 3000 รอบ/นาทีทีเดียว  ผมเองนั้นชอบมาก แต่ตอนอยู่เมืองไทยที่ห้างอมรเมื่อหลายสิบปีก่อนราคาปาเข้าไปเกือบ 2 หมื่นบาท ได้แต่เดินไปมองแล้วมองอีก  พอได้ไปอเมริกา ผมนั่งรถไฟไปนิวยอร์คซื้อมาประกอบแล้วไปหัดบิน ต้องขับรถข้ามไปอีกรัฐเพื่อหาที่โล่งจะได้ไม่ไปชนอะไร  ตอนนั้นไปหัดบินทุกวัน เป็นเวลากว่า 6 เดือนเต็ม ๆ บินได้นานที่สุด คือลอยตัวในอากาศได้นานที่สุด............ 8 วินาที  บินตกเป็นร้อย ๆ ครั้ง ใบพัดที่หักก็นำมาแขวนไว้ข้างฝาบ้านเตือนใจ เต็มรอบทุกด้าน  ช่วงนั้นเรียกว่าถอดใจไปเลย  หยุดเล่นไปเกือบ 2 ปี จนมาเจอข้อมูลว่า สถิติโลกของเฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุที่ลอยตัวได้นานที่สุดในอากาศโดยชาวเยอรมันซึ่งทำไว้ราวปีค.ศ. 1952 นั้น........5 วินาที  ผมก็เลยกลับมาเล่นใหม่ เล่นไปเล่นมามีกว่า 30 ลำ  ลำใหญ่ที่สุดขนาดประมาณ รถมินิคูเปอร์  ปัจจุบันเป็นแบบใช้ไฟฟ้าเสียส่วนมาก บินง่ายมากต่างจากสมัยก่อน ที่เขาบอกว่าถ้าหัดบิน 1 พันคนจะมีคนเดียวที่จะบินเป็น

ธนาสิทธิ์ ศิริลักษณ์
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ภาพแถมเพราะผมชอบ คนนี้เอาควันใส่เข้าไปลูกโป่งด้วย...

(http://i7.photobucket.com/albums/y271/tanasit/AIRGUNS/Mystery%20Bullet/highspeed32.jpg)


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ผณิศวร เกิดในรัชกาลที่ ๙ ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2011, 09:34:34 PM
ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: airarm ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2011, 09:14:08 AM
          ::014::ขอบคุณครับ.

      ที่ ดร. ว่าเครื่องไฟฟ้าบินง่าย  จนถึงเดี๋ยวนี้ผมยังทำให้มันบินขึ้นและลงโดยไม่มีอะไรพังยังไม่ได้เลยครับ  :~)  ::004::  จำใจต้องไปเล่นเครื่องเล็กๆ ไม่ถึงคืบ ตกไม่กลัว ชนไม่หวั่นแล้วครับ.  ::012::


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: sitta. ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2011, 09:21:52 AM
ขอบคุณครับ สรุปว่าเป็นที่ชัตเตอร์ที่กำลังกวาดทำให้ภาพในห้วงเวลาต่างกันถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มเดียวกัน

บินเฮลิคอปเตอร์สงสัยจะบังคับยากกว่าบินแบบธรรมดาจริง ๆ
สิบกว่าปีก่อนโน้นสมัยกล้องดิจิตอลยังไม่แพร่หลายในไทยราคาสูงมาก ผมไปเป็นวิทยากรพิเศษให้กับนักเรียนนักบินสมัครเล่นที่สถาบันการบินพลเรือน
ในเรื่องของการนำเสนอสื่อ  ผมก็นำกล้องดิจิตอลไปใช้ในการอบรมด้วย ถ่ายภาพปุ๊บก็โหลดเข้าคอมเปิดให้ดูปั๊บ เป็นที่ตื่นเต้นของนักเรียนกันมาก
ไม่รู้จะเรียกนักเรียนดีหรือเปล่าเพราะแต่ละคนก็อายุมากกว่า

ทุกคนมีเครื่องบินประจำตัวหมดแต่เท่าที่ถามดูไม่เห็นใครมีเครืองบินเฮลิคอปเตอร์สักคน
  
หลังจากวันนั้นทำให้ผมได้รู้จักกับเจ้าของโรงงานใหญ่ ๆ ของประเทศ  บางวันก็มีโทรศัพท์ชวนผมไปบินรอบโลกบ้าง บินในต่างประเทศบ้าง
แต่ผมไม่เคยรับคำชวนเลยเพราะติดงานและถ้าไปคงมีหวังได้ถูกเชิญออกงานประจำเป็นแน่แท้  เนื่องจากไปแต่ละครั้งท่านชวนกันไปเป็นเดือน


Mi-12 เป็นเฮลิคอปเตอร์บรรทุกหนักของรัสเซียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ความเร็วใบพัดเพียง 114 รอบ/นาที  
ส่วนเฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุของเล่นนั้น มีความเร็วประมาณ 2000 – 3000 รอบ/นาที    

ดูแล้วใบพัดของเครื่องจริงจะหมุนช้ากว่าก็ตาม แต่เนื่องจากใบพัดที่ใหญ่และยาวเมื่อหมุนเต็มที่ความเร็วปลายใบพัดจะมีความเร็วมากกว่าเสียง
ทำให้มีแรงยกไปที่เพลาหมุนและเพลาก็ไปยกลำตัวเครื่องบินอีกทอด


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: oesakofc ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2011, 11:48:57 PM
เก็บเกี่ยวครับ


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: maxmin ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 01:14:13 PM
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ ครับ.. ::014::


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 08:54:57 PM
          ::014::ขอบคุณครับ.

      ที่ ดร. ว่าเครื่องไฟฟ้าบินง่าย  จนถึงเดี๋ยวนี้ผมยังทำให้มันบินขึ้นและลงโดยไม่มีอะไรพังยังไม่ได้เลยครับ  :~)  ::004::  จำใจต้องไปเล่นเครื่องเล็กๆ ไม่ถึงคืบ ตกไม่กลัว ชนไม่หวั่นแล้วครับ.  ::012::

เครื่องขนาดเล็กที่มีเพียง 2-3 channels นั้นไม่สามารถควบคุม การเอียงซ้าย/ขวาได้ คือจะวิ่งเหมือนรถบนถนนที่ลอยได้ แต่ถ้าจะเอาแบบเหมือนของจริง ต้องใช้อย่างน้อย 4 channels  เวลาหัด พยายาม ให้ด้านหางอยู่ทางเราตลอดเวลา  เดินตามไปเรื่อย ๆ ก็ได้ เก่งแล้วบังคับให้มันหมุนรอบตัว แบบเอาหางเข้าเราตลอด  ต่อไป ให้บังคับเป็นรูปเลข 8 อยู่ข้างหน้าเรา โดยให้ด้านซ้ายบินตามเข็มนาฬิกา และด้านขวาทวนเข็ม เพราะถ้าบินกลับจะยากกว่ามาก ทำจนคล่องถึงหัดบินเป็น วงกลมอยู่ข้างหน้าเรา  ถ้าได้แล้ว ให้บินเอาหัวเข้าหาเราซึ่งจะยากมาก เหมือนตั้งต้นใหม่ทีเดียว  ส่วนบินผาดโผนต้องตั้งอะไรใหม่อีกหลายอย่างนะครับ  การบังคับบินเฮลิคอปเตอร์เหมือน ขับเครื่องบินด้วยมือซ้ายและขับรถยนต์ด้วยมือขวาในเวลาเดียวกัน  อนึ่งถ้าตกใจ อย่าปล่อยคันเร่ง แต่ต้องกลับเร่งให้มันขึ้นสูงเข้าไปอีก เพื่อที่จะได้มีเวลาแก้ไข ไม่เหมือนเครืองบินหลาย ๆ แบบ ที่ปล่อยมือแล้วมันจะแก้ไขตัวมันเองได้... หากได้ไปหัดกับคนที่เก่ง ๆ ให้เขาปรับเครื่องของเรา หรือบินของเราให้ดู เราจะได้ความมั่นใจมากขึ้น  บินแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 10 นาที  ไม่งั้นจะเกิดอาการ Pilot-induced oscillations


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: sitta. ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 09:22:26 PM
          ::014::ขอบคุณครับ.

      ที่ ดร. ว่าเครื่องไฟฟ้าบินง่าย  จนถึงเดี๋ยวนี้ผมยังทำให้มันบินขึ้นและลงโดยไม่มีอะไรพังยังไม่ได้เลยครับ  :~)  ::004::  จำใจต้องไปเล่นเครื่องเล็กๆ ไม่ถึงคืบ ตกไม่กลัว ชนไม่หวั่นแล้วครับ.  ::012::

เครื่องขนาดเล็กที่มีเพียง 2-3 channels นั้นไม่สามารถควบคุม การเอียงซ้าย/ขวาได้ คือจะวิ่งเหมือนรถบนถนนที่ลอยได้ แต่ถ้าจะเอาแบบเหมือนของจริง ต้องใช้อย่างน้อย 4 channels  เวลาหัด พยายาม ให้ด้านหางอยู่ทางเราตลอดเวลา  เดินตามไปเรื่อย ๆ ก็ได้ เก่งแล้วบังคับให้มันหมุนรอบตัว แบบเอาหางเข้าเราตลอด  ต่อไป ให้บังคับเป็นรูปเลข 8 อยู่ข้างหน้าเรา โดยให้ด้านซ้ายบินตามเข็มนาฬิกา และด้านขวาทวนเข็ม เพราะถ้าบินกลับจะยากกว่ามาก ทำจนคล่องถึงหัดบินเป็น วงกลมอยู่ข้างหน้าเรา  ถ้าได้แล้ว ให้บินเอาหัวเข้าหาเราซึ่งจะยากมาก เหมือนตั้งต้นใหม่ทีเดียว  ส่วนบินผาดโผนต้องตั้งอะไรใหม่อีกหลายอย่างนะครับ  การบังคับบินเฮลิคอปเตอร์เหมือน ขับเครื่องบินด้วยมือซ้ายและขับรถยนต์ด้วยมือขวาในเวลาเดียวกัน  อนึ่งถ้าตกใจ อย่าปล่อยคันเร่ง แต่ต้องกลับเร่งให้มันขึ้นสูงเข้าไปอีก เพื่อที่จะได้มีเวลาแก้ไข ไม่เหมือนเครืองบินหลาย ๆ แบบ ที่ปล่อยมือแล้วมันจะแก้ไขตัวมันเองได้... หากได้ไปหัดกับคนที่เก่ง ๆ ให้เขาปรับเครื่องของเรา หรือบินของเราให้ดู เราจะได้ความมั่นใจมากขึ้น  บินแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 10 นาที  ไม่งั้นจะเกิดอาการ Pilot-induced oscillations


Pilot-induced oscillations  เป็นอาการของคน หรือ เป็นอาการของเครื่องครับ


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2011, 11:46:34 AM
Pilot-induced oscillations หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PIO นั้น เกิดขึ้นจากตัวคนขับที่พยายามบังคับแก้ไข โดยการให้คำสั่งตรงกันข้าม เช่นเครื่องเอียงซ้าย ก็บังคับให้เอียงขวา แต่ทำเกินไป ทำให้เครื่องเสียหลัก เปลี่ยนทิศทาง ซึ่งคนขับก็จะพยายามแก้ไขและต่อสู้กับอาการนี้ไปเรื่อย ๆ บางทีก็มีผลทำให้เครื่องแกว่งไปมา บังคับไม่ได้  เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ มากมาย แต่ที่พบมากคือในเครื่องบิน สำหรับพวกยานบังคับวิทยุก็เช่นกัน  ปกติคนที่จะบังคับได้ดี จะต้องอ่านทิศทางของยานเก่ง ว่ามันกำลังจะหันเหออกนอกลู่ไปทางใด เราต้องให้คำสั่งดักเอาไว้ก่อน และยังต้องวางแผนล่วงหน้าอีกด้วยว่า ในวินาทีต่อ ๆ ไปเราจะมีเส้นทางบินอย่างไร  ผู้ที่ชำนาญจะมองออกว่า สภาพยานที่กำลังทำท่าแปลก ๆ นั้น เกิดขึ้นจาก PIO หรือยานขัดข้อง
ตอนผมหัดทำ LOOP เฮลิคอปเตอร์ ต้องบินสวนทางลม ดิ่งหัวลง แล้วเชิดขึ้น พอถึงตินบนสุด ต้องลด pitch ณ.จุดที่ฮ.กำลังหงายท้อง ไม่งั้นมันจะตกฮวบ แต่ถ้าลดมากเกินไป มันจะลอยตัวและทำให้ใบพัดท้ายเปลี่ยนมุมผิด แก้แรงบิดผิดทาง ฮ.จะออกนอกวง ก็นับว่าเป็น PIO ที่ผมต้องฝึกเป็นเดือน ๆ
ข้างล่างคือคลิปตัวอย่างของ PIO ครับ

Chase plane view of F-8 DFBW pilot-induced oscillations (http://www.youtube.com/watch?v=XHPv0qt03aA#)

F22 Pilot Induced Oscillation (PIO) (http://www.youtube.com/watch?v=03rz8vqjGdQ#)


Shuttle pilot induced oscillation (PIO) (http://www.youtube.com/watch?v=O8fnUY2IFAw#)

PIO jet airplane landing (http://www.youtube.com/watch?v=zxWs9TWfRLA#)

Hang Gliding - PIO (Pilot-induced oscillations) (http://www.youtube.com/watch?v=nqCN1E0MLSQ#)
 


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2011, 11:50:58 AM
สำหรับพวกบังคับวิทยุ ถ้าใช้ที่บังคับอย่างดี ๆ เราสามารถลด PIO ได้โดยการตั้ง exponential curve เป็นติดลบสัก 20-30% ดังนั้น บริเวณกลาง ๆ ของแกนบังคับจะ sensitive น้อยกว่าปกติ  พอเก่งแล้วจึงค่อยลดค่าได้


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: pehtor ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2011, 01:04:27 PM
ขอกลับไปเรื่องภาพนิดนึง สรุปว่าเกิดจากความเร็วในการกวาด ของแผ่นม่านชัตเตอร์ งั้นก็หมายความว่าถ้าหากใช้ความไวชัตเตอร์ B แล้วตั้งตัวกระตุ้นแฟลชแทน ก็จะไม่เกิดภาพเงาแบบเหลื่อมกันใช่มั้ยครับ


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: sitta. ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2011, 02:38:26 PM
ขอกลับไปเรื่องภาพนิดนึง สรุปว่าเกิดจากความเร็วในการกวาด ของแผ่นม่านชัตเตอร์ งั้นก็หมายความว่าถ้าหากใช้ความไวชัตเตอร์ B แล้วตั้งตัวกระตุ้นแฟลชแทน ก็จะไม่เกิดภาพเงาแบบเหลื่อมกันใช่มั้ยครับ

น่าจะเกิดเหมือนเดิมครับ เพราะปัญหามันอยู่ที่ชัตเตอร์ต้องใช้เวลาในการเลื่อนตัวกันแสง
สมมุติว่ากล้องที่ใช้ชัตเตอร์เลื่อนจากซ้ายไปขวา  แล้วถ่ายรถไฟขบวนเดียวกัน
จะพบว่ารถไฟที่วิ่งจากซ้ายไปขวาขบวนยาวกว่า รถไฟที่วิ่งจากขวาไปซ้าย


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: circle ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2011, 04:28:57 PM
อย่างนี้ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ (สูงกว่าความเร็วกระสุนเลย  ถ้าเป็นไปได้นะครับ)  ก็น่าจะลดการเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ได้ใช่ไหมครับ

ในทำนองเดียวกันถ้าถ่ายด้วยกล้องวีดีโอก็จะเกิดปรากฎการณ์แบบนี้หรือเปล่าครับ   เพราะผมมองว่ากล้องวีดีโอ  ไม่ได้ใช้ชัตเตอร์ในการถ่ายภาพ  แต่ใช้ระบบฟิล์มเลื่อนจากบนลงล่าง  หรือซ้ายไปขวา  ก็น่าจะมีผลเหมือนกันใช่ไหมครับ   แต่ถ้าเป็นกล้องวีดีโอระบบดิจิตอลละครับจะเป็นยังไง....   ยิ่งคิดก็ยิ่งงง... แฮะ...   ??? ??? ???


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ผณิศวร เกิดในรัชกาลที่ ๙ ที่ กุมภาพันธ์ 26, 2011, 04:10:27 PM
ขอกลับไปเรื่องภาพนิดนึง สรุปว่าเกิดจากความเร็วในการกวาด ของแผ่นม่านชัตเตอร์ งั้นก็หมายความว่าถ้าหากใช้ความไวชัตเตอร์ B แล้วตั้งตัวกระตุ้นแฟลชแทน ก็จะไม่เกิดภาพเงาแบบเหลื่อมกันใช่มั้ยครับ

น่าจะเกิดเหมือนเดิมครับ เพราะปัญหามันอยู่ที่ชัตเตอร์ต้องใช้เวลาในการเลื่อนตัวกันแสง
สมมุติว่ากล้องที่ใช้ชัตเตอร์เลื่อนจากซ้ายไปขวา  แล้วถ่ายรถไฟขบวนเดียวกัน
จะพบว่ารถไฟที่วิ่งจากซ้ายไปขวาขบวนยาวกว่า รถไฟที่วิ่งจากขวาไปซ้าย

ใช้ B ร่วมกับตัวกระตุ้นแฟลช  แบบนี้มีปัญหาเรื่องชัตเตอร์กวาดครับ  เพราะเปิดชัตเตอร์ตลอดเวลาโดยห้องต้องมืดสนิท
ภาพที่ได้เกิดจากแสงแฟลชตัวเดียว พร้อมๆ กันทุกส่วนของภาพ


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: I Love My King (AkNaRiN~*) ที่ กุมภาพันธ์ 26, 2011, 04:49:39 PM
บทความนี้มีไปลงไว้ในเวบไหนหรือเปล่าครับ
อยากให้เพื่อนๆผมได้อ่านด้วย
ถ้ามีรบกวนขอลิงค์ด้วยครับ

หากยัง ถ้าจะคัดลอกไปให้เพื่อนได้อ่านจะได้ไหมครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ ที่น่าสนใจ ::014::


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: AJ_6080 ที่ กุมภาพันธ์ 26, 2011, 06:12:29 PM
ผมคิดว่า อาจารย์ไม่หวงความรู้อยู่แล้วครับ... :VOV: :VOV:


หัวข้อ: Re: @@@@เฉลยแล้วครับ@@@@ ภาพเงากระสุนปริศนา@@@@
เริ่มหัวข้อโดย: ดร.ธนาสิทธิ์ ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2011, 06:04:51 AM
อย่างนี้ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ (สูงกว่าความเร็วกระสุนเลย  ถ้าเป็นไปได้นะครับ)  ก็น่าจะลดการเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ได้ใช่ไหมครับ

ในทำนองเดียวกันถ้าถ่ายด้วยกล้องวีดีโอก็จะเกิดปรากฎการณ์แบบนี้หรือเปล่าครับ   เพราะผมมองว่ากล้องวีดีโอ  ไม่ได้ใช้ชัตเตอร์ในการถ่ายภาพ  แต่ใช้ระบบฟิล์มเลื่อนจากบนลงล่าง  หรือซ้ายไปขวา  ก็น่าจะมีผลเหมือนกันใช่ไหมครับ   แต่ถ้าเป็นกล้องวีดีโอระบบดิจิตอลละครับจะเป็นยังไง....   ยิ่งคิดก็ยิ่งงง... แฮะ...   ??? ??? ???



ในกรณีที่เราตั้งชัตเตอร์แบบ B (ย่อมาจากคำว่า Bulb ซึ่งหมายถึงหลอดไฟแฟลชสมัยก่อน เราต้องตั้งชัตเตอร์แบบ B เท่านั้น เพราะแสงไฟจากแฟลชชนิดหลอดจะออกมาช้ามาก ขืนใช้ชัตเตอร์ธรรมดา หน้ากล้องจะปิดไปเสียก่อน ยังไม่มีเวลาให้แฟลชได้ส่องพอ  บางกล้องใช้อักษร T = Time คือกดชัตเตอร์ครั้งแรก มันจะเปิดหน้ากล้องค้างไว้ กดครั้งที่สองหน้ากล้องจะปิด) นั้น หมายถึงว่าพอเรากดชัตเตอร์ค้างไว้ หน้ากล้องก็จะเปิดเต็มที่ หรือม่านก็จะเปิดจนหมด แต่ด้วยที่ว่าเราจัดห้องที่มืดสนิท ฟีล์มจึงไม่ได้บันทึกอะไรลงไป จนกว่าเราจะปล่อยแฟลช แสงแฟลชไปกระทบวัตถุใดก็จะสะท้อนให้ภาพวัตถุนั้น ไปตกกระทบบนแผ่นฟีล์ม (สมัยนี้กลายเป็น sensor ไปแล้ว) ด้วยกระบวนการเช่นนี้ จึงไม่มีผลทำให้เกิดภาพและเงาที่ต่างกันได้ ที่จริงนอกจากห้องต้องมืดแล้ว เรายังควรต้องจัดฉากหลังเป็นผ้าดำที่ไม่สะท้อนแสงด้วย ไม่งั้นแสงสะท้อนจะทำให้ไม่ได้ภาพวัตถุหรือสิ่งของที่ต้องการออกมาสวยงาม
อนึ่ง วิธีแบบนี้มักต้องตั้งแฟลชที่ความเร็วสูง ๆ เพื่อจับภาพวัตถุซึ่งมักจะเป็นของที่เคลื่อนไหวเร็วมากอยู่แล้ว

Flash sync speed กับ flash speed นั้นไม่เหมือนกัน  Flash sync speed หมายถึงความเร็วสูงสุดที่กล้องจะใช้ได้กับแฟลชตัวนั้น โดยที่จะยังคงให้ภาพที่แสงแฟลชส่องเต็มกรอบ  กล้องที่ใช้ leaf shutter อาจมี Flash sync speed สูงถึง 1/1000 วินาที แต่โดยทั่วไปเราอาจใช้ 1/250 วินาที แต่กล้องแบบที่เป็น Two-curtain shutters มี Flash sync speed สูงราว 1/125 วินาทีเท่านั้น ถ้าเราตั้งชัตเตอร์เร็วกว่านี้ รูปออกมาจะมืดไปด้านหนึ่ง  ส่วน flash speed นั้น หมายถึงช่วงเวลาที่แฟลชส่องแสงออกมา หรือบางทีเรียกว่า flash ratio คือในกรณีที่เราจะไม่ใช้ความสว่างของแฟลชเต็ม 100 % เช่นการใช้แฟลชร่วมกันหลายตัว เพื่อให้ได้รูปที่มีเงางดงามลงตัวเป็นต้น เราก็ต้องตั้งความสว่างของแฟลชให้น้อยลง ซึ่งก็คือการลดเวลา หรือ duration ของแฟลช ผลก็คือ แสงแฟลชจะส่องออกมาเพียงเวลาสั้น ๆ เช่น 1/20000 หรือ 1/60000 วินาที

ส่วนกล้องวิดีโอนั้น ไม่มีกลไกของชัตเตอร์แต่ใช้กระบวนการทางอีเล็คโทรนิคแทน คือถ้าเราตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/60 ก็หมายความว่า ทุก ๆ 1/60 วินาที ระบบจะเก็บค่าหรือข้อมูลภาพบนตัวรับภาพหรือ sensor ไปประมวลผลเพื่อเก็บบันทึกลงในแผ่นความจำ  ดังนั้นจึงไม่มีผลทำให้เกิดภาพและเงาที่ต่างกันได้