หนีงของทรนง ศรีเชื้อ ผู้กำกับหนังสงคราม สมัยแกหนุ่มๆหรือเปล่า
ผู้กำกับหนัง เรทR ไม่ใช่หรอครับ

แต่ก่อนแกเคยกำกับหนังสงครามมาก่อนครับ
กัมพูชา (ทรนง ศรีเชื้อ/2528)
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร VOTE
เอ่ยถึงชื่อ ทรนง ศรีเชื้อในตอนนี้อาจเป็นเพียงชื่อที่ไม่คุ้นหูสำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ๆ แต่ย้อนกลับไปในช่วงปี 2525 -2535 ชื่อ ทรนง ศรีเชื้อ เป็นชื่อติดหูติดตาคนดูฆนังไทยอย่างยิ่ง ในฐานะของคนทำหนังที่ -แรง- ทั้งตัวหนังและตัวตน แม้หลายคนอาจจะนึกถึงเขาควบคู่กับหนังอย่าง กลกามแห่งความรัก หรือ สวรรค์ชั้นเจ็ด (ซึ่งถูกประเมินค่าต่ำกว่าความจริงว่าเป็นเพียงหนังเกรดรองสนองตัณหา ) แต่หนังของทรนงก็มีเลือดเนื้อมีชีวิต และก่อนหน้าที่เขาจะมาทำหนังที่ว่าด้วยผู้หญิงขายตัวนั้น เขาเคยเป็นคนทำหนังสงครามที่บันทึกภาพการรบอันบ้าคลั่งในเขตคามอินจีนไว้ในหนังอย่างน่าทึ่งที่สุดคนหนึ่ง
กัมพูชา เป็นหนังปี 2528 ที่เล่าเรื่องของโซ ซอม บัค เด็กชายชาวกัมพูชาที่สูญเสียพ่อแม่ไปในสงครามระหว่างคนขเมรที่ในขณะนั้นแตกออกเป็นสามฝ่าย แล้วยังถูกกระหนาบตีจากทหารเวียดนามอีกชั้นหนึ่ง หลังจากหมู่บ้านของเขาโดนทหารเวียดนามบุกและสังหารพ่อแม่ของเขาอย่างเหี้ยมโหด เขาแบกน้องคนเล็กขึ้นหลังและออกพเนจรไปอย่างไม่รู้หนด้วยหวังว่าจะได้ไปถึงชายแดนไทย ที่ที่เขาเรียกว่าสวรรค์ หากระหว่างทางเขาต้องผเชิญหน้ากับทหารเวียดนามจอมโหด ได้รู้จักกับทหารเขมรฝ่ายซอนซานที่ปลุกจิตสำนึกรักชาติกู้แผ่นดินให้กับเขา จนในที่สุดเขาต้องตัดสินใจเลือกว่าจะพาน้องข้ามไปไทย หรือยืนหยัดสู้อยู่ที่บ้านเกิด
กัมพูชาเป็นหนังสงครามแบบเต็มตัว หนังเต็มไปด้วยฉากรบพุ่ง เสียงระเบิด ควันปืนและคาวเลือด หนังมีฉากสังหารโหดชาวกัมพูชา การตัดหัว การเผาทั้งเป็น และฉากเปื้อนเลือดมากมาย ทั้งหมดถูกถ่ายทำอย่างตรงไปตรงมาแบบที่หาไม่ได้ในหนังไทยยุค ตามระเบียบ'แบบยุคนี้ นักแสดงในหนังก็เป็นนักแสดงไม่มีชื่อที่หน้าตาแบบคนขเมรจริงๆ ถ่ายทำทั้งหมดในสถานที่นอกสตูดิโอ ผลลัพธ์กลายเป็นหนังที่ดิบเถื่น และสมจริงจนน่าตกใจ
อย่างไรก็ดีตัวหนังนั้นเต็มไปด้วยอารมณ์เชิงวรรณกรรม ผ่านเสียงเล่าของโซ ซอมบัค ที่เล่ามุมมองของตนตลอดเรื่องด้วยสำนวนแบบเรื่องสั้นเพื่อชีวิต( ทรนงเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนก่อนจะมาทำหนัง) มุมมองของหนังฝ่านความคิดเชิงปัจเจกนั้นแสดงถึงความรักชาติหวงแผ่นดิน แบบตรงไปตรงมา และมองรัฐไทยในฐานะของแดนสวรรค์ที่ทุกคนต้องการให้ถึง แน่นอนว่ามุมมองเช่นนี้อาจเป็นมุมมองเชิงโรแมนติกที่ลดทอนข้อเท็จจริงทางการเมืองลงไป (และมองรัญไทยแบบวกมากๆ) ซึ่งนั่นทำให้ตัวหนังเป้นเพียงภาพเคลื่อนไหวปลุกใจมากกว่าเป็นหนังต่อต้านสงคราม หรือหนังที่เป้ฯศิลปะมากๆ
หนังได้ดนตรีประกอบจากวงคาราวาน ที่ทำดนตรีประกอบให้เป็นเพลงบลูส์เศร้าๆ ในท่วงทำนองแบบเพลงพื้นบ้านอีสานที่โหยให้และเจ็บปวด รวมไปถึงเพลงนำอย่างกัมพูชา และขยม ก็เป็นเพลงที่เขียนขึ้นได้อย่างยอดเยี่ยมและบาดลึก
กัมพูชา อาจไม่ได้โดดเด่นในแง่ของความเป็นหนังที่ให้แง่มุมคมคายเกี่ยวกับสงคราม หากแต่ในฐานะหนังที่บันทึกประวัติศาสตร์อินโดจีนแล้วมันกลับน่าสนใจยิ่ง เนื่องเพราะตลอดการรบพุ่งอันยาวนาน (และผลพวงจากสงครามเหล่านั้น) เราแทบไม่มีหนังที่บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้จากสายตาของคนในภูมิภาคเลย (หนังเรื่องแรกที่เรานึกถึงเมื่อนึกถึงขเมรคือ The Killing Field ของRoland Joffe ซึ่งเป็นเสียงเล่าจากผู้คนฝั่งตะวันตก ) กัมพูชาจึงกลายเป็นหนังไม่กี่เรื่องจากประเทศแถบอินโดจีนที่บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ (รวมไปถึงหนังเรื่องอื่นๆในยุคต้นของคุณทรนงที่เป็นหนังสงครามด้วยเช่นกัน)
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นแทบจะไร้ความหมายเมื่อมองย้อนกลับไปจากปี 2551 นี้ เพราะหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบลง เรากลับรู้สึกตื่นเต้น(ถึงขั้นแตกตื่นตกใจ)กับตัวหนัง เพราะในยุคนี้ทั้งที่ข่าวสารเดินทางไปมาอย่างรวดเร็ว เรากลับพบว่าเรารู้เรื่องของประเทศเพื่อนบ้านน้อยมาก อย่าว่าแต่สร้างหนังที่บันทึกประวัติศาสตร์เลย เพียงแต่หนังที่พูดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่ดูถูกและเป็นธรรมก็ยังนับว่าหาได้ยากยิ่ง หนำซ้ำทั้งๆที่เทคนิคทางภาพยนต์ก็นรุดหน้ามาจากปี 2528มากมาย แต่เรากลับม่าสามารถทำหนังที่พูดถึงสงครามได้ดิบเถื่อน และสมจริงขนาดนี้ได้อีกต่อไปแล้ว
หลายปีก่อนบ้านเราเคยแบนหนังเรื่องCity of God ที่พูดถึงสังคมอาชญากรรมวัยรุ่นในบราซิลได้อย่าทรงพลัง เพียงเพราะมีฉากเด็กถือปืน (ซึ่งเป็นหัวใจหลักของหนัง ) หากในกัมพูชาเรื่องนี้เด็กไม่เพียงถือปืน หากยังถึงขนาดตัดหัวศัตรูอีกต่างหาก อดคิดไม่ได้ว่าหากหนังเรื่องนี้สร้างฉายในปีนี้ หนังอาจถูกแบนด้วยข้อหาตลกๆว่ากลัวเยาวชนจะเอาเยี่ยงอย่าง (ทั้งๆที่หนังพูดถึงสงคราม และสงครามเกิดขึ้นทุกวันบนโลก)