เรียนท่านผู้การฯ
ผมยังเห็นตามความในส่วนข้างต้นด้านบนของท่านผู้การฯ ครับ
ว่าศาลทำได้เพียงตรวจสอบ "ความชอบด้วยกฎหมาย" ของคำสั่งทางปกครอง
ซึ่งหาก กระบวนการ หรือ การใช้ ดุลยพินิจ ในการทำคำสั่งทางปกครองมิชอบแล้ว ศาลอาจใช้อำนาจตามกฎหมายข้างต้น "เพิกถอน" คำสั่งทางปกครอง นั้นเสีย
อย่างไรก็ตาม ศาลเป็นเพียงองค์กรที่ตรวจสอบ "ความชอบด้วยกฎหมาย" ซึ่งจะไม่สามารถตรวจสอบ "ดุลยพินิจ" ของเจ้าหน้าที่ได้
เพราะไม่เช่นนั้น หากให้ศาลสามารถตรวจสอบทั้ง "ดุลยพินิจ" และยังให้ใช้ "ดุลยพินิจ" แทนเจ้าหน้าที่ได้อีก ก็จะเป็นการใช้อำนาจตุลาการมาข้ามเส้นของอำนาจบริหาร
ดังที่ท่านผู้การฯ กล่าวไว้ในตอนต้น ซึ่งประเด็นที่กระผมต้องการจะเน้นย้ำ คือ ท้ายที่สุดแม้จะมีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้นแล้ว ซึ่งเป็นการตรวจสอบกระบวนการ ความชอบด้วยกฎหมาย แต่การใช้ "ดุลยพินิจ" ว่าจะอนุมัติ/อนุญาต ยังคงเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ (นายทะเบียน) ที่ศาลไม่อาจก้าวล่วงไปตรวจสอบการใช้ "ดุลยพินิจ" ได้ครับ
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามหลักการในทางกฎหมายมหาชน ส่วนขั้นตอนในทางปฏิบัตินั้้นผมยังด้อยในประสบการณ์ส่วนนี้ครับ
เป็นเพราะว่าเข้าใจคำว่า "ดุลพินิจ" ตลาดเคลื่อน
ดุลพินิจ ไม่ได้แปลว่า "ตามใจกู"
ดุลพินิจ นั้นใช้เพื่อการตรวจสอบเอกสารพยานหลักฐานเท่านั้น เมื่อคุณสมบัติครบถ้วน ต้องออกใบอนุญาตทุกกรณี
ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37
หมายความว่า ถ้าจะไม่ออกใบอนุญาต ก็ต้องให้เหตุผลตามมาตรา 37 (2) ให้ได้ว่า ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างไร
มาตรา ๓๗ คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
(๒) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง
(๓) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
ขอเรียนว่า โดยทั่วไป "ดุลยพินิจ" มิได้ หมายความถึง "ตามใจกู" หากแต่ต้องเป็นไปตามหลักการ และมีเหตุผลรองรับการใช้ดุลยพินิจ
อย่างไรก็ตาม "ดุลยพินิจ" ก็มิได้แคบจนถึงขนาดว่า "ตรวจสอบเอกสารพยานหลักฐานเท่านั้น"
เพราะเหตุที่กฎหมายยังจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ใช้ "ดุลยพินิจ" ก็เพื่อมิให้กฎหมายทื่อเกินไป ทำให้ไม่ยืดหยุ่นต่อการบังคับใช้ตามแต่กรณี
การให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจก็เป็นไปเพื่อการปรับใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงได้อย่างยืดหยุ่น (ซึ่งก็อาจมีบางกรณีที่ทำให้เกิดการใช้ดุลยพินิจอย่างไม่ถูกต้อง)
กฎหมายแต่ละฉบับมีการกำหนดอำนาจการใช้ "ดุลยพินิจ" ของเจ้าหน้าที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ หากกฎหมายกำหนดชัดเจน เคร่งครัด ก็แสดงว่าให้อำนาจการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่น้อย
หากกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดชัดเจน ก็แสดงว่าเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง (แต่ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใด ก็เป็นเพราะการดีไซด์เพื่อให้กฎหมายเหมาะสมกับเรื่องนั้นๆ ในเวลาที่กฎหมายใช้บังคับ"
กลับมาที่ กรณีการขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐
ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดลักษณะต้องห้าม มิให้นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งได้แก่
"มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตตามความในหมวดนี้แก่
(๑) บุคคลซึ่งต้องโทษจำคุกสำหรับความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ดังต่อไปนี้
(ก) มาตรา ๙๗ ถึงมาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๑๗๗ ถึงมาตรา ๑๘๓ มาตรา ๒๔๙ มาตรา ๒๕๐ หรือมาตรา ๒๙๓ ถึงมาตรา ๓๐๓
(ข) มาตรา ๒๕๔ ถึงมาตรา ๒๕๗ และพ้นโทษยังไม่เกิน ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษถึงวันยื่นคำขอใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีความผิดที่กระทำโดยความจำเป็นหรือเพื่อป้องกันหรือโดยถูกยั่วโทสะ
(๒) บุคคลซึ่งต้องโทษจำคุกสำหรับความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และดอกไม้เพลิง พุทธศักราช ๒๔๗๗ มาตรา ๑๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๓ หรือพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๗ มาตรา ๒๔ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๘
(๓) บุคคลซึ่งต้องโทษจำคุกตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปในระหว่างห้าปีนับย้อนขึ้นไปจากวันยื่นคำขอ สำหรับความผิดอย่างอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ใน (๑) และ (๒) เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(๕) บุคคลซึ่งไม่สามารถจะใช้อาวุธปืนได้โดยกายพิการหรือทุพพลภาพ เว้นแต่จะมีไว้เพื่อเก็บตามมาตรา ๑๑
(๖) บุคคลซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือปรากฏว่าเป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๗) บุคคลซึ่งไม่มีอาชีพและรายได้
(๘) บุคคลซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
(๙) บุคคลซึ่งมีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันอาจกระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน
สำหรับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ห้ามมิให้ออกให้แก่บุคคลซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และมีถิ่นที่อยู่ประจำในท้องที่ที่บุคคลนั้นขออนุญาต น้อยกว่าหกเดือน"
นั่นหมายความว่า หากเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ดังกล่าวแล้ว นายทะเบียนจะไม่สามารถใช้ "ดุลยพินิจ" ออกใบอนุญาตให้ได้ เพราะกฎหมายกำหนดห้ามไว้โดยชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ หากเป็นกรณีของบุคคลที่ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แต่นายทะเบียนเห็นว่าไม่สมควรจะออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนให้แก่บุคคลผู้นั้น จะสามารถใช้ดุลยพินิจกับกรณีดังกล่าวนี้ได้หรือไม่ อย่างไร?
ซึ่งกรณีนี้กระผมยังเห็นว่า นายทะเบียนยังสามารถใช้ดุลยพินิจพิจารณาได้ ว่าการออกใบอนุญาต/ไม่ออกใบอนุญาต สมควรหรือไม่ โดยพิจารณาจากพฤติการณ์ประกอบกับข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี
แต่ทั้งนี้การใช้ดุลยพินิจในการอนุญาต/ไม่อนุญาตดังกล่าว ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ก็ต้องเป็นไปตามลักษณะของคำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือ
ซึ่งคำสั่งทางปกครองดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตาม มาตรา ๓๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่กำหนดให้ต้องอธิบายข้อพิจารณาและการให้เหตุผลในการสนับสนุนการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่/นายทะเบียนดังกล่าวนั่นเอง
ซึ่งจะไปสอดคล้องกับประเด็นพิจารณาตั้งแต่ต้นว่าการขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้น ก็เป็นกระบวนการตรวจสอบ "ความชอบด้วยกฎหมาย" ของคำสั่งทางปกครองโดยศาล
มิใช่การตรวจสอบการใช้ "ดุลยพินิจ" ตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม กระผมก็มิได้หมายความว่าการใช้ดุลยพินิจ จะกระทำมิได้เลย แต่ต้องเป็นอีกกระบวนการหนึ่ง
ทั้งนี้ ที่กระผมอธิบายมาก็เพื่อมิให้ไปสับสน กับ การที่ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มิชอบแล้ว จะต้องหมายความว่า ศาลจะสามารถมาใช้ดุลยพินิจแทนเจ้าหน้าที่ หรือจะต้องเป็นไปในทางของผู้ร้องเสมอ เพราะในการกลับมาสู่กระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่/นายทะเบียนอีกครั้งนั้น เจ้าหน้าที่/นายทะเบียน ก็ยังสามารถใช้ "ดุลยพินิจ" ที่มีภายใต้กฎหมายได้อยู่นั่นเอง
ทั้งหมดนี้กระผมมิได้ขัดขวาง หรือไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ประชาชนครอบครองปืน / และมิใช่นายทะเบียนตามกฎหมายอาวุธปืนฯ
แต่กระผมเพียงพยายามอธิบายหลักการตามกฎหมายใช้เพื่อนสมาชิกได้เข้าใจบริบทของกฎหมายโดยรอบด้าน
และมิได้เห็นว่าการถกเถียงในเรื่องนี้ไม่ดี หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้ซึ่งอาจเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังจะดำเนินการเพื่อขอใช้อำนาจทางศาลต่อไป
