http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1405606766ไม่มีรัฐบาลที่ไหนในโลก อยากขึ้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต มาจากภาษาอังกฤษว่า Value Added Tax
หรือ VAT เป็นรูปแบบของภาษีการบริโภค (consumption tax)
ที่เก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้น
ในแต่ละขั้นตอนของการผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ
เริ่มใช้ครั้งแรกตามการเสนอของ โมรีซ โลเร่ ผู้อำนวยการร่วมสำนักงานภาษีประเทศฝรั่งเศส
และผอ.ใหญ่ฝ่ายสินค้านำเข้า ในวันที่ 10 เม.ย. ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497)
แต่คนที่เสนอแนวคิดการเก็บภาษีแบบนี้ก่อนคือดร.วิลเฮล์ม วอน ซีเมนส์
นักอุตสาหกรรมชาวเยอรมัน ที่แนะนำไว้ตั้งแต่ปีค.ศ.1918
สำหรับฝรั่งเศส ใช้แวตเป็นเครื่องมือหาเงินเข้ารัฐ โดยตอนแรกเล็งเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่
กระทั่งค่อยๆ ขยายครอบคลุมธุรกิจทั้งหมด เงินจากแวตถือเป็นรายได้สำคัญที่สุดของรัฐ
เพราะมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด
ภาษีมูลค่าเพิ่มมีฐานกว้างขวางและหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งช่วยการส่งออกได้
เพราะรัฐจะคืนภาษีให้ในกรณีที่ส่งสินค้าออก จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
และใช้แทนการเรียกเก็บภาษีขายแบบเก่า
ไทยเริ่มใช้แวต แทนภาษีการค้ามาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2535
ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เดิมทีอัตราภาษีการค้ามีถึง 21 อัตรา
โดยมีช่วงอัตราตั้งแต่ 0.5% ถึง 50% แล้วแต่ประเภทกิจการ
ก่อให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างการผลิตในประเทศ
เมื่อนำแวตมาใช้ได้มีการคำนวณหาอัตราที่เหมาะสมที่ควร จัดเก็บ
เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทั้งรายได้ภาครัฐและต่อผู้ประกอบการ
ซึ่งอัตราที่คำนวณได้ในขณะนั้นคือ 9.2%
เพื่อให้คำนวณง่าย กฎหมายจึงกำหนดอัตราภาษีสูงสุดไว้ที่ 10%
แต่เมื่อใช้จริงได้กำหนดไว้ที่อัตรา 7% เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการ
เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะแรก
ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งไทยต้องปรับแวตจาก 7% เป็น 10%
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2540 เพื่อเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ
ตาม คำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ที่ไทยไปกู้เงินมา
พอมาวันที่ 1 เม.ย. 2542 เมื่อรัฐบาลเห็นว่าภาวะวิกฤตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
จึงปรับแวตจาก 10% เหลือ 7% หลังจากนั้นรัฐบาลมีมติให้คงแวตเรื่อยมา
โดยต่ออายุครั้งละ 1-2 ปี
แวตถือเป็นฐานรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาล มีมูลค่าปีละกว่า 5 แสนล้านบาท
คิดเป็น 40% ของรายได้ภาษีจากกรมสรรพากร
มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.)
เคยประเมินหากขึ้นแวต 1% จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 4-6 หมื่นล้านบาท/ปี
กรมสรรพากรเคยเปรียบเทียบแวตของไทยกับนานาชาติ เมื่อช่วงปี 2550 พบว่า
ไทยมีอัตราภาษีเท่ากับสิงคโปร์ ส่วนประเทศที่มีแวตต่ำกว่าไทยมี 5 ประเทศคือ
ญี่ปุ่น ไต้หวัน ปานามา ไนจีเรีย และแคนาดา ซึ่งจัดเก็บในอัตรา 5%
ส่วนประเทศอื่นกว่า 120 ประเทศ มีอัตราทั่วไปที่สูงกว่าไทย
สำหรับการเพิ่มหรือลดภาษีที่จะมีผลต่อประชาชน จากข้อมูลของกรมสรรพากรพบว่า
ผู้ที่มีรายได้สูงกว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย
ผู้ที่มีรายได้ 5,000 บาท/เดือน มีภาระแวตอยู่ที่ 3.4%
ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้ 100,000 บาท/เดือน มีภาระแวต 4.1%
เป็นผลจากการยกเว้นแวตในสินค้าและบริการที่จำเป็นพื้นฐาน
เช่น อาหารสด ยารักษาโรค การรักษาพยาบาล การศึกษา
การเดินทางในประเทศ และการเช่าที่อยู่อาศัย
มติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2555
ให้คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (รวมภาษีท้องถิ่น) ออกไป อีก 2 ปี
จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2555 ขยายเป็น 30 ก.ย.2557
ซึ่งรัฐบาลให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่เหมาะสมกับการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ต่อมา หลังจากขยายเวลา แวต 7 % ครบกำหนด กันยายน ปี 2557
ที่จะต้องขึ้นแวตเป็น 10%
เกิดกระแสข่าวลือว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10%
จนเกิดความปั่นป่วนไปทั่ว ก่อนที่นายกิตติรัตน์ จะออกมาแถลงว่า
"ขอยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่มีความคิดขึ้นแวตแต่อย่างใด
บอกได้เลยว่าเรายังคงใช้อัตราเดิมคือ 7% ในความเป็นจริง
มันไม่มีรัฐบาลไหนในโลกอยากขึ้นแวตหรอก"
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่ทันได้ตัดสินใจเรื่องภาษีแวตก็ถูกรัฐประหารไปก่อน
ซึ่งจริงๆแล้วก็คงขยายเวลาต่อไป
ล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คืนความสุข ให้คนไทย
โดยการเก็บภาษีมูลค่า 6.3 % ไปจนถึง 30 กันยายน 2558
และหลัง 1 ตุลาคม 2558 จะเก็บแวต เป็น 9 %
ซึ่งจริงๆ แล้ว ประกาศ คสช. ไม่ใช่ การ ลดภาษี
แต่เป็นการขยายเวลาแวต 7 % แทนจะต้องขึ้นเป็น 9 % ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557
ที่ว่า ขยายเวลาแวต 7 % ไม่ใช่ 6.3 %
เนื่องจากจะต้องบวกภาษีท้องถิ่นเข้าไปอีก 0.7 % นั่นเอง
ถามว่าภาษีท้องถิ่น 0.7 % นี้ มาจากไหน ก็มาจาก หน้าที่กรมสรรพากร
ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนราชการส่วนท้องถิ่น
ในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ (1/9 ของ 6.3 เท่ากับ 0.7 )
จากนั้น เมื่อครบ 1 ตุลาคม 2558 ภาษีก็ขึ้นเป็น 9 %
สรุปง่ายๆ ก็คือ คสช. ขยายเวลาเท่านั้น
นี่คือ ความจริงที่ว่า ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกอยากขึ้นแวต !!!
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือ ไม่ใช่ ประชาธิปไตย