http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1422332499&grpid=01&catid=05ตีทะเบียน-กำหนดโซนบิน สั่งคุม"โดรน" อธิบดีบพ.-การท่าฯเชียร์ หวั่นอุบัติเหตุ-ละเมิดสิทธิ
อาจารย์แนะจัดหมวดหมู่โดรนชี้หาซื้อง่าย กำหนดสถานที่ห้ามบิน ให้ผู้ซื้อลงทะเบียนคล้ายมือถือ
จากกรณีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กระทรวงคมนาคม เตรียมออกประกาศเพิ่มเติม
ภายใต้พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล
การขออนุญาตการใช้และปล่อยอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้งาน
ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านการจราจรทางอากาศ
และการนำไปใช้งานที่เป็นการไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีการนำกล้องบันทึกภาพเข้าไปติดตั้งไว้บนโดรน
และนำไปบินสอดแนมถ่ายภาพไม่เหมาะสมออกมาเผยแพร่จนได้รับความเสียหาย
เมื่อวันที่26 มกราคม นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดี บพ. กล่าวว่า
เตรียมจะออกประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน
ที่ไม่มีนักบินมาบังคับใช้ เบื้องต้นจะออกมาตรการกำกับดูแลการใช้งาน
โดยมีเกณฑ์สำคัญ 3 ด้าน คือ
1.ด้านสมรรถนะ จะกำหนดน้ำหนัก ขนาด รวมทั้งปริมาณเชื้อเพลิงบรรจุภายในโดรน เพื่อบินไม่นานกว่า 1 ชั่วโมง
2.ด้านภารกิจ จะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปนำโดรนติดตั้งกล้องถ่ายภาพขึ้นบิน
เพราะอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
3.ระดับความสูง พื้นที่และช่วงเวลาบิน จะกำหนดห้ามโดรนบินสูงเกินกว่า 500 ฟุต และต่ำเกินกว่า 50 ฟุตจากระดับพื้นดิน
เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบินพาณิชย์ปกติจะบินต่ำสุด 1,000 ฟุต
รวมทั้งจะกำหนดให้ต้องยื่นขออนุญาตทำการบินทุกครั้ง
หากพบว่าไม่ขออนุญาตก่อนถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
จะถูกดำเนินคดีจำคุก 1 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายนิรันดร์ ธีรนาทสิน กรรมการและรักษาการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
หรือ ทอท. กล่าวว่า เบื้องต้นเห็นด้วยที่จะมีกฎหมายออกควบคุมในเรื่องดังกล่าว
เพื่อจัดระเบียบและป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
นายประพนธ์ ปัทมกิจสกุล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. กล่าวว่า
เห็นด้วยกับการออกมาตรการมาควบคุมโดรน
จะคล้ายกับการออกมาตรการควบคุมดูแลการปล่อยโคมลอย หรือการจุดบั้งไฟ
ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการบินได้ ตอนนี้โดรนอาจจะบินได้ต่ำจึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก
และหากในอนาคตมีเทคโนโลยีใหม่อาจจะบินได้สูงขึ้น
ดังนั้น การออกมาควบคุมดูแลจึงน่าจะส่งผลดีในอนาคตด้วย
แหล่งข่าวด้านความปลอดภัยจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า
บพ.จะต้องกำหนดกฎกติกาให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหนบินได้หรือบินไม่ได้ บินได้สูงขนาดไหน
เพราะในกรณีของเฮลิคอปเตอร์ที่บินในระดับที่ต่ำอาจจะได้รับผลกระทบจากโดรนได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น การขออนุญาตในการขึ้นบินของโดรนในแต่ละภารกิจ
จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้เป็นกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน
นายอรรณพเรืองวิเศษ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
กล่าวว่า เห็นด้วย ควรจะมีกฎระเบียบในการใช้งานโดรน
น่าจะต้องมีการเเบ่งหมวดหมู่การใช้งานที่ชัดเจนในเเต่ละระดับมากกว่านี้
ขณะเดียวกันเห็นว่าปัญหาหลักเเรกที่ควรพิจารณา คือ
เรื่องความปลอดภัยในเเต่ละระดับ ตั้งเเต่การใช้งานระดับล่างสุด
ไปจนถึงการใช้งานระดับสูงสุดอย่างหน่วยความมั่นคง
ปัจจุบันพบว่าการซื้อหาโดรนเป็นเรื่องง่าย ใครสามารถซื้อหาได้ ไม่จำกัด
เฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญเท่านั้น โดยมีราคาตั้งเเต่ 4,000 บาทขึ้นไป
เพราะฉะนั้นจึงกังวลในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน
สำหรับมือใหม่ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญอาจจะมีการใช้งานผิดวัตถุประสงค์
"เครื่องบินบังคับสมัยก่อนจำเป็นต้องหาสนามเล่นหาครูฝึกเพราะมีราคาเเพง
ลองเล่นเองไม่คุ้ม ผิดกลับโดรนที่เล่นง่ายกว่า โดยกลุ่มที่เริ่มเล่นเป็นมากขึ้น
มักจะอยากจะบินไกลขึ้นเเละอาจจะละเลยการเช็กสภาพโดรน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมาได้" นายอรรณพกล่าว
นายอรรณพกล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิยังสับสนว่าระดับไหนถึงจะเรียกว่าละเมิด
เพราะเทียบกับการถ่ายรูปในที่สาธารณะเเต่ไปติดคนอื่นด้วย เเล้วนำมาโพสต์ เเบบนี้เรียกละเมิดไหม
"เมื่อเราเอาเครื่องบินถ่ายรูปโดยขออนุญาตถูกต้องทุกอย่างเเล้ว
เกิดถ่ายติดใครที่เขาไม่อยากให้เราถ่าย เเบบนี้เรียกละเมิดไหม
ทั้งๆ ที่เป็นการถ่ายภาพเหมือนกันกับการถ่ายบนพื้นดิน
โดยไม่ได้ตั้งใจ พูดยากเเละยังไม่มั่นใจว่าเเค่ไหนที่เรียกว่าละเมิด
ขณะที่เรื่องสถานที่ห้ามใช้โดรนนั้นเห็นควรว่าต้องระบุให้ชัดเจนเลยว่าตรงไหนห้ามบิน
เช่น ใกล้สนามบิน ใกล้เสาไฟฟ้า ใกล้ตึกสูง ใกล้พระราชวังหรือสถานที่สำคัญ
โดยผู้ใช้งานต้องศึกษาให้เข้าใจเเละยอมรับว่าเป็นข้อห้าม" นายอรรณพกล่าว
และว่า หากไปจำกัดในการเข้าถึงน่าจะง่ายกว่า โดยอาจจะทำเหมือนโทรศัพท์มือถือ
ที่ต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้งาน เเต่ไม่ได้จำกัดว่าใช้ได้เเค่พื้นที่ กทม.หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น
เเต่รู้ว่าโดรนอันนี้เป็นของใคร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานจากสำนักข่าวบีบีซีว่าประเทศอังกฤษ
องค์การการบินพลเรือน หรือซีเอเอ มีกฎข้อบังคับห้ามบินเกินระดับสายตาของผู้ควบคุม
หรือ 500 เมตรในแนวนอน และไม่เกิน 122 เมตรในแนวตั้ง
ถ้าโดรนมีกล้องติดจะต้องบินอย่างน้อย 50 เมตร ให้ห่างจากคน ยานพาหนะ อาคารหรือสิ่งก่อสร้าง
และห้ามส่งโดรนบินภายในรัศมี 150 เมตรของบริเวณที่มีคนชุมนุมกันจำนวนมาก
เช่น ในการแข่งขันกีฬาหรือเทศกาลดนตรี นอกจากนี้ยังหลายฝ่ายเสนอว่า
ผู้ซื้อโดรนต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวให้กับทางร้านค้า ถ้าหากมีการจับโดรนได้ในกรณีละเมิดกฎ ผู้ที่ใช้จะถูกจับด้วย
ขณะที่สหรัฐอเมริกา องค์การการบินพลเรือนของสหรัฐ หรือเอฟเอเอ
ห้ามโดรนที่ใช้ในเชิงพาณิชย์รวมทั้งโดรนแบบสำหรับเล่นบินสูงเกิน 122 เมตร
ถ้าต้องการใช้โดรนบินใกล้กับสนามบินภายในรัศมี 8 กิโลเมตรจากสนามบิน
จะต้องขออนุญาตจากหอบังคับการบินและโดรนต้องไม่หนักเกิน 25 กิโลกรัม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีการใช้โดรนในวงการถ่ายทำภาพยนตร์
บุคคลทั่วไปทั้งช่างภาพสื่อมวลชน วัยรุ่น กองถ่ายทำหนังถ่ายทำละคร
นักสำรวจ นักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบอากาศยานบังคับวิทยุ