ผมในฐานะสมาชิกใหม่คนหนึ่ง ได้อ่านและศึกษากระทู้เก่าๆ ได้พบปัญหาการขอใบอนุญาต ป. ๓ มากมาย
วันนี้มีโอกาสจึงขอรวบรวมปัญหาและแสดงความคิดเห็น รวมถึงข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
สรุปสภาพปัญหา เมื่อประชาชนได้ขอใช้สิทธิเพื่อมีและใช้อาวุธปืนตามกฎหมาย (ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ) ซึ่งในหลายๆ กรณีที่
ประชาชนมีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้าม แต่ปรากฎว่านายทะเบียนใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสม (ไม่มีกฎหมายมารองรับ) เช่น
๑. การขออาวุธมีและใช้อาวุธปืนในแต่ละท้องที่มีรายละเอียดและบรรทัดฐานของการอนุมัติที่แตกต่างกัน บางที่ของ่ายชนิดใดก็ได้ บางที่ขอยากหรืออาจไม่ให้เลย (ทั้งๆ ที่นายทะเบียนเป็นนายทะเบียนอาวุธปืนจากกฎหมายฉบับเดียวกัน ประเทศเดียวกัน)
๒. บางพื้นที่ยังมีความสับสนว่าอาวุธปืนขนาด .๔๕ และ .๓๕๗ ว่าเป็นอาวุธสงครามที่ออกใบอนุญาตไม่ได้ ...หรือบางพื้นที่บอกเป็นอาวุธสงครามแต่อาจออกให้ได้ถ้าเป็นการขอเพื่อการกีฬา..เอ๊ะ!ยังไง.. (หรืออาจแกล้งสับสนเพื่อจะเรียกรับเงินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย)
๓. การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนให้แต่ละบุคคลมีอาวุธปืนได้เพียงอาวุธปืนสั้น ๑ กระบอก และอาวุธปืนยาว ๑ กระบอก (หากต้องการมีมากกว่านั้นต้องขอเพื่อการกีฬาเท่านั้น..เหรอ???)
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๑. การขออนุญาตเพื่อมีและใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันทรัพย์สิน และเพื่อการกีฬาเป็นไปตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
๒. การขออนุญาตเพื่อมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บเป็นไปตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
๓. กฎหมายอนุบัญญัติอื่นๆ เช่น กฎกระทรวง หรือ หนังสือเวียนของกระทรวงมหาดไทย
การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ๑. เมื่อประชาชนไปขอใช้สิทธิและมีการใช้บรรทัดฐานของดุลยพินิจที่แตกต่างกัน ประชาชนบางคนยอมตาม (เรื่องจบ) บางคนไม่ยอม (
กรณีแรก อาจขอจ่ายเงินเพื่อให้ได้มา
กรณีที่สอง ใช้เส้นสายเพื่อให้ได้มา
กรณีสาม ต่อสู้ตามแนวทางกฎหมาย คือ อุทธรณ์ จนถึง ศาลปกครอง)
กรณีที่สี่ กรณีอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมา ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของแต่ละคน
๒. อาวุธสงครามมิได้มีการนิยามกำหนดเอาไว้ในกฎหมาย คงมีเพียงอาวุธที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้เท่านั้นที่มีการกำหนดไว้
ซึ่งอาวุธปืนขนาด .๓๕๗ และ .๔๕ อยู่ในขนาดกำหนดของอาวุธปืนที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ๓. นายทะเบียนใช้ดุลยพินิจโดยยึดหลักเกณฑ์ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ หรือตามหนังสือเวียน เช่น ใช้ดุลพินิจไม่ออกใบอนุญาตสำหรับอาวุธปืนพกขนาด .๔๕ โดยกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องขอเพื่อการกีฬาและมีหลักฐานการเป็นสมาชิกสนามยิงปืนไม่น้อยกว่า ๖๐ วันมาแสดงเพื่อประกอบการพิจารณา โดยยึดตามประกาศนายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพฯ ที่ ๓๐ /๒๕๔๖ (กรณีนี้ศาลปกครองได้เคยวินิจฉัยว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว
เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ ๑๖๑๖/๒๕๕๐)
๔. กรณีการขอปืนซ้ำขนาดในกระบอกที่สองนั้น ก็สามารถกระทำได้ตามแนวทางคำพิพากษาศาลปกครอง (คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก ที่ ๔๐/๒๕๕๒) ในคำพิพากษาดังกล่าวยังวางแนวทางว่า การกำหนดในเรื่องให้บุคคลควรมีอาวุธปืนพก ๑ กระบอก ปืนยาว ๑ กระบอก ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๕๐๑/ ว ๘๘๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติภายในเท่านั้น มิได้มีสภาพบังคับเพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชน ดังเช่นกฎแต่อย่างใด การใช้ดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นอื่นประกอบ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ๑. เพื่อให้การใช้สิทธิของประชาชนเป็นไปโดยเท่าเทียมและเสมอภาคกัน จึงควรเสนอให้มีการ
ยกเลิกคำสั่งหรือหนังสือภายในที่ไม่เหมาะสม และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ประชาชนสามารถเข้าใจได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจถึงสิทธิของตนตามกฎหมายและการใช้ดุลยพินิจของนายทะเบียนมีความโปร่งใส เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖
๒. เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาการใช้สิทธิของประชาชนในการขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน โดยอาจจำกัดดุลยพินิจของนายทะเบียน แต่ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิขออนุญาต
โดยอาจมีแนวทางการกำหนดถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิขออนุญาตที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ต้องชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวตามกฎหมายมีสิทธิยื่นขออนุญาตต่อนายทะเบียน แล้วนายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพื่ออนุญาตโดยให้มีดุลยพินิจน้อยที่สุด (จะกำหนดคุณสมบัติให้เข้มงวด หรือจะให้เป็นอย่างไร ก็เขียนไว้ในกฎหมายให้เข้าใจกันเลย)
๓. การขออนุญาตเพื่อการกีฬาและการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แม้จะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มิได้มีการกำหนดรายละเอียดที่แตกต่างกัน อีกทั้งในทางปฏิบัติเมื่อขออนุญาตตามเหตุผลทั้งสองประการนี้ การมีและใช้ก็มิได้มีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน จึงมิควรมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าขอเพื่ออนุญาตเพื่อการกีฬาสามารถขออนุญาตให้มีหลายกระบอกได้ แต่หากเป็นการปกป้องทรัพย์สินมีได้เพียงกระบอกเดียว หรือ อาวุธปืนขนาด .๓๕๗ และ .๔๕ ต้องขอเพื่อการกีฬาเท่านั้น ทั้งที่ปืนทั้งสองชนิดอยู่ในขนาดที่ประชาชนสามารถมีไว้เพื่อครอบครองได้ และก็ใช้ได้กับการกีฬา รวมถึงใช้ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินได้เช่นกัน จึงเห็นว่าข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ควรมี
๔. ประชาชนต้องตระหนักถึงสิทธิของตนตามกฎหมาย มีการใช้สิทธิตามกฎหมายที่ถูกต้อง อย่าใช้เงินหรืออภิสิทธิ์เพื่อให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย อันจะเป็นการส่งเสริมการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสม และนำไปสู่ปัญหาการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ส่วนเจ้าหน้าที่ฯ จนถึงนายทะเบียนอาวุธปืนฯ ก็ควรจะใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสมและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย อันเป็นไปตามหลักนิติรัฐ
ขออนุญาตเขียนยาวหน่อยนะครับ
ด้วยความเคารพแด่ทุกท่านครับ
....ขอพาท่าน ผบ. ที่บ้านไปทานอาหารก่อนละครับ เดี๋ยวท่านขุ่นเคืองใจจะพาลมิให้อนุญาตซื้อปืนกระบอกใหม่เอา....(ท่านผบ. ที่บ้านนี้มักใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีกฏหมายรองรับซะด้วยสิ...555+++)
"...ทิศทางจะเบี่ยงเบนไปเบื้องไหน
ยุติธรรม ต้องยิ่งใหญ่เหนือทุกสิ่ง
ต้องยืนหยัดเป็นหลักที่พักพิง
ไม่ทอดทิ้งศรัทธา ประชาชน..."