รูปข้างล่าง แสดงฐานกล้องตัวหน้าแบบ offset
ที่ผมว่า ไม่ถูกครับ หมายถึง ทำไม่ถูก หรือผิดกติกาที่ผมขอร้องเอาไว้...จบอุปกรณ์ชุดนี้ ใช้ตั้งศูนย์ของขารัดกล้องครับ ประกอบด้วย แท่งปลายแหลม 2 ชิ้น แท่งกลม 1 ชิ้น พร้อมด้ามจับสีดำ ไขควงที่ปรับแรงบิดหรือ torque ได้ พร้อมดอกต่าง ๆ และน้ำยาอีก 2 ชนิดคือหลอดเล็กไว้หยอดเกลียวกันคลาย และครีมในกระปุกสำหรับฝนด้านในของขารัดกล้อง นอกจากนี้ยังมีมาตรน้ำวัดระดับอีก 2 ตัว ที่ผมจงใจลบออกไปจากรูป ไม่งั้นเห็นปุ๊บก็จะเดากันถูกปั๊บ
เนื่องจากกล้องเป็นอุปกรณ์ที่มีกลไกละเอียด ใช้งานสำหรับความแม่นยำ และมีความแปรปรวนได้มากมาย จากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น อุณหภูมิ, ความชื้น, ระดับความดันอากาศ นอกจากนี้ตัวกล้องเองจะต้องถูกตั้งให้ได้ตำแหน่งที่เหมาะสมและ มั่นคง โดยไม่ให้ได้รับความเบียดเบียนจากแรงกดบิดหรือมีความเบี่ยงเบนจากศูนย์ ศูนย์ที่ว่านี้ เปรียบเหมือนกับศูนย์รถยนต์ ถ้ารถศูนย์เสียการขับขี่ก็จะมีปัญหาสารพัด
การใช้งานนั้น ก็ต้องเริ่มจากการทำความสะอาดราง สำหรับติดขารัด หรือแหวนรัดหรือฐานกล้อง (scope mount) ส่วนใหญ่อาจเป็นคราบน้ำมัน หรือแม้แต่กระทั่งรอยปุ่ม ขูดขีด เล็ก ๆ ในร่อง
1. ขั้นตอนแรกคือการหาตำแหน่งของฐานกล้องทั้งสอง ซึ่งควรอยู่ให้ ห่างกัน มากที่สุด กล่าวคือ ถ้าเอาจนสุดปลายรางทั้ง 2 ด้าน แล้วยังคงอยู่ในช่วงท่อกลางของกล้อง โดยไม่ไปติดขัดส่วนอื่น เช่น ลูกเลื่อนหรือ ขาง้างด้านข้าง (side lever) ก็ให้ใช้ตำแหน่งนั้น แต่ถ้ารางบนตัวปืนยาวมาก ก็ให้เอาตำแหน่งยึดกับตัวกล้อง ณ.จุด ปลายสุด ของท่อกลางทั้ง 2 ด้าน โดยอย่าให้ไปทับบริเวณที่ท่อเริ่มบานตัวเป็นอันขาด ในบางกรณี อย่างปืน Titan Mohawk ของผม รางสั้นมาก ดังนั้นทางแก้ก็คือ ใช้ขาที่มี off set คือมีระเบียงยื่นออกไป ซึ่งในกรณีนี้ เป็นตัวฐานด้านหน้า (ดังรูปข้างบน) อนึ่ง ผมเคยเห็นคนใช้ scope mount เกินกว่า 2 ตัวก็มี
2. ขั้นต่อไป คือเอาฐานหรือขากล้องติดบนราง โดยไม่มีแหวนตัวบน หรืออาจคลายหลวม ๆ เอาไว้ก็ได้ นำแท่งปลายแหลมมาใส่ โดยให้ปลายแหลมหันเข้าหากัน และห่างกันประมาณ 2-3 มม. เอาแหวนตัวบนใส่รัดแต่ไม่ต้องแน่นมาก แต่พยายามให้มีความแน่นใกล้เคียงกันมากที่สุด ต่อมาให้มองดูตำแหน่งของปลายแหลมทั้งสองว่าตรงกันหรือไม่ ซึ่งมี 2 กรณีคือ มองจากระดับสายตา ถ้าสูงต่ำไม่เท่ากัน ให้ปรับตัว windage หรือน๊อตปรับความสูงต่ำบนฐาน แต่ถ้าไม่มีตัวปรับดังกล่าว ก็พักไว้ก่อน กรณีที่ 2 คือ มองจากบนลงล่าง แล้วปลายแหลมไม่ตรงกัน อาจแก้ได้โดย ถอดฐานออกแล้วหมุน 180 องศา (อาจต้องถอดออกและหมุนทั้ง 2 ฐานก็ได้) แต่ถ้ายังไม่ตรงอีก ก็ลองเปลี่ยนตำแหน่งหน้า/หลังของฐานทั้งสอง เสร็จแล้วถอดแหวนรัดออก พร้อมกับทำเครื่องหมายเอาไว้ห้ามสลับตำแหน่งของแหวนรัดทั้งสอง และห้ามกลับหัวกลับหางตัวมันเองด้วย
3. เมื่อเสร็จขั้นตอนที่สองแล้ว ก็หมายความว่า ฐานทั้งสองอยู่ในแนวเดียวกันทั้ง 2 แกน คือทั้งแนวตั้งและแนวนอน ต่อมาต้องทำการขัดผิวด้านในของแหวนรัด เพราะจะทำให้มีผล 2 ประการคือ หนึ่งเป็นการ เพิ่ม เนื้อที่ผิวสัมผัสระหว่างบริเวณด้านในของแหวนกับผิวด้านนอกของกล้อง ณ.จุดรัด ทำให้การรัดมีความมั่นคงและแนบแน่นมากขึ้น ผลก็คือโอกาสที่กล้องจะขยับเขยื่อนมีได้น้อยมาก ประการที่สองคือ การใช้แท่งกลมยาวขัดผิวนั้น จะเป็นการเพิ่มความละเอียดของการตั้งศูนย์ในขั้นที่ 2 โดยการขัดผิวส่วนเกินของผิวด้านในของแหวนรัด ผลก็คือ แรงกดบนตัวกล้องจะสม่ำเสมอไม่มีจุด stress หรือจุดที่แรงกดต่างกัน อันมีผลทำให้กล้องได้รับแรงกดอันไม่สมควร ซึ่งจะนำมาสู่ความไม่แม่นยำได้ การขัดก็ต้องค่อย ๆ ทำ โดยเอาครีมขัดผิวมาทาด้านในของแหวนรัด และด้านนอกของแท่งขัด สอดแท่งเข้าไปก่อนแล้วจึงใส่ด้าม จากนั้นก็ขันน๊อตพอแน่น แต่ต้องให้หมุนแท่งขัดได้ การขัดก็ควรจะโยกแท่งซ้าย/ขวา กลับไปกลับมาพร้อม ๆ กับโยกทั้งหน้า/หลังด้วย ทำเช่นนี้สัก 2-3 นาที แล้วให้ถอดออก ตรวจดูด้านในของแหวนรัด โดยการเช็ดเอาครีมขัดออกก่อน และนำแท่งปลายแหลมทั้งสองมาใส่ ตั้งศูนย์อีก โดยทั่วไป ถ้าผิวสีดำด้านในของแหวนรัดถูกขัดออกไปประมาณ 60-80 % แล้วละก็ ถือว่าใช้ได้แล้ว เพราะถ้าขืนขัดต่อไป แหวนรัดจะหลวมเกินไป
4. ขั้นสุดท้ายก็คือเอากล้องติดเข้าไป โดยการถอดเอาแหวนรัดออก เช็ดให้สะอาด วางกล้องลงแล้วเอาแหวนรัดใส่ประกบ (ห้ามสลับตำแหน่งของแหวนรัดทั้งสอง และห้ามกลับหัวกลับหางตัวมันเองด้วยนะครับ...สำคัญมาก ๆ) ขันน๊อตอย่าให้แน่นมาก ก่อนอื่นต้องปรับระยะ eye relief ระยะห่างจากตาถึงเลนส์กล้องด้านหลัง โดยทั่วไปจะอยู่ราว ๆ ตำแหน่งหัวแม่โป้ง ปกติผมใช้วิธีหลับตาแล้วยกปืนขึ้นประทับ ถ้าเปิดตาแล้วเห็นเต็ม ๆ จอเป็นใช้ได้ ไม่งั้นต้องปรับใหม่ ถ้ากล้องใช้ซูมก็ควรตั้งที่ตำแหน่งซูมที่จะใช้ด้วย แล้วจึงปรับ ขั้นต่อมาคือการปรับกากะบาด (crosshairs)ให้ได้ระนาบและตั้งฉากกับพื้นโลก ทำได้โดยการใช้มาตรตั้งตัวปืนเสียก่อน ตำแหน่งของรางใต้กล้องจะเหมาะที่สุด ส่วนมาตรอีกตัวก็ใช้บนกล้อง โดยตั้งมาตรไว้บนฝาแล้วปรับหลังจากปรับระดับตัวปืนแล้วนะครับ
5. เมื่อทุกอย่างได้ที่ ก็ขัดน๊อตด้วยไขควงดังกล่าว โดยปรับแรงบิดตามคู่มือของขาตั้งกล้องนั้น ๆ อย่าลืม ล้างน๊อตและใส่น้ำยากันเกลียวคลาย ด้วยนะครับ
บางท่านอาจถามว่า ถ้าทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ยังตั้งศูนย์ไม่ได้เจ๋ง ๆ เพราะเจ้าปลายแหลมไม่ตรงกันสักที จะทำอย่างไรดี เขามีแหวนเสริมหรือ shim สำหรับสอดใส่ในแหวนรัด หรือแม้แต่แหวนรัดแบบมี offset ขนาดต่าง ๆ ให้เลือก
อนึ่ง สำหรับปืนลมนั้น วิถีกระสุนจะตกมากกว่าปืนดินขับ และอาจจะต้องมีการปรับแต่งขารัดในภายหลังอีกต่างหาก ซึ่งผมจะมาเล่าอีกครั้ง ในการตั้งกล้องสำหรับการแข่งขัน Field Target
ท้ายสุดคือ การเลือกความสูงของฐานกล้อง โดยส่วนตัวผมจะเลือกโดยที่เมื่อใส่กล้องแล้ว ปากกล้องด้านหน้าหรือ objective bell ห่างจากลำกล้องให้น้อยที่สุด แต่ถ้าประทับแก้มปรับความสูงไม่ได้ อาจมีปัญหา เพราะถ้าใช้ฐานกล้องต่ำเกินไป ประทับแล้ว กล้องอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา เช่นนี้ก็ต้องใส่ฐานเสริม
ธนาสิทธิ์ ศิริลักษณ์
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓