เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน

สนทนาภาษาปืน => หลังแนวยิง => ข้อความที่เริ่มโดย: pasta ที่ มกราคม 21, 2011, 02:42:14 AM



หัวข้อ: โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง
เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ มกราคม 21, 2011, 02:42:14 AM

โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง


การบอกเวลาของไทยนั้นมี ๒ แบบ คือ แบบทางการ และแบบไม่เป็นทางการ โดยแบบแรกนั้นจะมีหน่วยเป็นนาฬิกา เริ่มตั้งแต่ ๐ นาฬิกาเรื่อยไปจนถึง ๒๔ นาฬิกา ตามหลักสากลที่กำหนดว่า ๑ วันมี ๒๔ ชั่วโมง ส่วนแบบหลังจะมีหน่วยที่ไม่แน่นอน อาทิ โมง ทุ่ม ตี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเวลาช่วงไหนของวัน

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการบอกเวลาในอดีต เมื่อครั้งนาฬิกายังไม่แพร่หลาย ขณะนั้นจะมีเฉพาะสถานที่สำคัญอย่างศาลาว่าการหรือวัดเท่านั้นที่จะมีนาฬิกาใช้ ฉะนั้นจึงต้องมีการส่งสัญญาณเพื่อบอกเวลาให้คนทั่วไปทราบ จะได้กะประมาณการดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้อย่างถูกต้อง การส่งสัญญาณดังกล่าวจะใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัน กลายเป็นที่มาของหน่วยนับเวลาที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง

ในตอนกลางวันจะบอกเวลาโดยอาศัยการตีฆ้อง ซึ่งจะให้เสียงดัง ?โหม่ง? โดยชั่วโมงแรกของวันตามทัศนะคนไทยคือ ๗ นาฬิกา ( เพราะนับจากเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณ ๖ นาฬิกา ไม่ได้ถือตามฝรั่งที่เอาเวลา ๑ นาฬิกาเป็นชั่วโมงแรกของวัน ) ทางการก็จะตีฆ้อง ๑ ครั้ง กลายเป็น ๑ โหม่ง หรือ ๑ โมงเช้า เวลา ๘ นาฬิกาก็จะตี ๒ ครั้ง เป็น ๒ โมงเช้า เวลา ๙ นาฬิกาก็จะ ๓ ครั้งเป็น ๓ โมงเช้า เรื่อยไปจนถึงเวลา ๑๑ นาฬิกาหรือ ๕ โมงเช้า บางครั้งก็จะเรียกว่า ?เวลาเพล? ตามเวลาที่พระฉันเพล ส่วนเวลา ๑๒ นาฬิกาจะเรียกว่า ?เที่ยงวัน?

ชั่วโมงแรกหลังจากเที่ยงวันก็จะกลับมาตีฆ้อง ๑ ครั้งอีกที เวลา ๑๓ นาฬิกาจึงเรียกว่า ๑ โมงบ่าย หรือ บ่าย ๑ โมง เวลา ๑๔ นาฬิกาก็จะตี ๒ ครั้ง เป็นบ่าย ๒ โมง เรื่อยไปจนถึงเวลา ๑๖ และ ๑๗ นาฬิกา อาจเรียกว่าบ่าย ๔ โมง บ่าย ๕ โมง (ตามลำดับ) หรือจะเรียกว่า ๔ โมงเย็น ๕ โมงเย็น (ตามลำดับ) ก็ได้ แต่วิธีเรียกอย่างหลังจะเป็นที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน ส่วนเวลา ๑๘ นาฬิกานั้นจะเรียก ๖ โมงเย็นก็ได้ แต่ในอดีตจะใช้คำว่า ?ย่ำค่ำ? เพราะเป็นเวลาคาบเกี่ยวระหว่างกลางวันกับกลางคืน พระก็มักตีกลองรัวในเวลานี้ก็อาจเรียกว่า ย่ำกลอง ได้เช่นกัน

คำว่า ?ย่ำ? พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า ?ก. เหยียบหนัก ๆ ซ้ำ ๆ, ถ้าเหยียบในลักษณะเช่นนั้นอยู่กับที่ เรียกว่า ย่ำเท้า, เดินในลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น; ตีกลอง หรือฆ้องถี่ ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลาสำหรับเปลี่ยนยาม เรียกว่า ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง, ย่ำยาม ก็เรียก, ถ้ากระทำในเวลาเช้า เรียกว่า ย่ำรุ่ง (ราว ๖ นาฬิกา), ถ้าทำในเวลาค่ำ เรียกว่า ย่ำค่ำ (ราว ๑๘ นาฬิกา).?

เวลา ๑๘ นาฬิกานี้ พระมักจะ ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง หรือ ย่ำระฆัง เพื่อบอกเวลาสิ้นสุดวันให้ชาวบ้านในชนบทได้รับรู้ ครั้นความเจริญมีมากขึ้นจนทุกบ้านต่างมีนาฬิกาใช้ บทบาทของการย่ำกลองจึงหมดไป อย่างไรก็ดี เรื่องราวของการบอกเวลาลักษณะนี้ยังมีหลักฐานปรากฏในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ด้วย เป็นตอนที่พระอภัยมณีต้องเป่าปี่เพื่อหยุดการปะทะกันระหว่างทหารกองทัพของนางละเวงกับทหารกองทัพของพระอภัยมณีเอง ความว่า

.
วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น ...... คนขยั้นยืนขึงตะลึงหลง
ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง ............. ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง
พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต............... ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง .............. อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ............... ร่ำพิไรรัญจวนหวลละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย.............. น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร



สำหรับเวลากลางคืนจะใช้กลองเป็นเครื่องบอกเวลา เมื่อเลยเวลาย่ำค่ำมา ๑ ชั่วโมง (คือเวลา ๑๙ นาฬิกา ) ก็จะตีกลอง ๑ ครั้ง เสียงดัง ?ตุ้ม? กลายเป็นเวลา ๑ ทุ่ม เมื่อเลยเวลาย่ำค่ำมา ๒ ชั่วโมง ( ๒๐ นาฬิกา ) ก็จะตีกลอง ๒ ครั้ง เสียงดัง ?ตุ้ม ตุ้ม? กลายเป็นเวลา ๒ ทุ่มนั่นเอง และจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงเวลา ๒๓ นาฬิกาหรือ ๕ ทุ่ม หลังจากนั้นอีก ๑ ชั่วโมงก็เป็นเวลา ?เที่ยงคืน?

หลังเที่ยงคืนไปแล้วจะเปลี่ยนมาตีแผ่นโลหะเพื่อบอกเวลาแทนกลอง เข้าใจว่าเพื่อให้เสียงเบาลง จะได้ไม่รบกวนชาวบ้านที่กำลังหลับพักผ่อน อย่างไรก็ตาม เสียงตีแผ่นโลหะจะมีลักษณะแหลม สามารถบอกเวลาให้กับผู้ที่ยังไม่นอนได้ และก็ไม่เป็นการปลุกคนที่หลับไปแล้วด้วย อนึ่ง เสียงจากการตีแผ่นโลหะนั้นก็ฟังไม่ชัดพอที่จะถอดออกมาเป็นคำได้ การบอกเวลาในช่วงนี้จึงไม่ได้มีหน่วยเป็นเสียงเคาะแบบทุ่มหรือโมงอย่างเวลาช่วงก่อนหน้านี้ คงใช้คำว่า ?ตี? นำหน้าจำนวนครั้งที่เคาะแผ่นโลหะ นั่นคือ เวลา ๑ นาฬิกา จะตีแผ่นโลหะ ๑ ครั้ง เรียกว่าเวลาตีหนึ่ง เวลา ๒ นาฬิกาก็จะตี ๒ ครั้ง เรียกว่า ตีสอง เรื่อยไปจนถึงเวลา ๕ นาฬิกา ก็จะเรียกว่าตีห้า

ครั้นเวลา ๖ นาฬิกาก็จะเรียกว่า ย่ำรุ่ง เพื่อให้เข้าคู่กับ ย่ำค่ำ นั่นเอง แต่ในปัจจุบัน คนนิยมเรียกเวลานี้ว่า ๖ โมงเช้ามากกว่า และด้วยเหตุนี้ คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงพลอยเรียกเวลา ๗ นาฬิกา ๘ นาฬิกา ... ว่า ๗ โมงเช้า ๘ โมงเช้าตามไปด้วย

เรื่องของเวลา ?ทุ่มโมง? นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ ?นิทานโบราณคดี? ตอนหนึ่ง ดังนี้

?เมื่อวันแรกไปถึงเมืองพาราณสี เวลาค่ำฉันนั่งกินอาหารกับพวกที่ไปด้วยกัน
และพวกข้าราชการอังกฤษ ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอเวลายามหนึ่ง (๒๑:๐๐ นาฬิกา)
ได้ยินเสียงตีฆ้องโหม่งทางประตูวังย่ำลา ๑ เช่นเดียวกันกับตีฆ้องตีระฆังย่ำยามใน
เมืองไทย ฉันนึกประหลาดใจ จึงถามข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองนั้นว่า ตีฆ้องย่ำ
เช่นนั้นหมายความว่าอย่างไร เขาตอบว่า ?เป็นสัญญาเรียกคนมาเปลี่ยนพวกที่อยู่ยาม?
พอฉันได้ยินอธิบายก็จับใจแทบจะร้องออกมาว่า ?อ๋อ? เพราะวิธีตีฆ้องระฆังยามใน
เมืองไทย เมื่อถึงเวลาเช้า ๖:๐๐ นาฬิกา เวลาเที่ยงวัน (๑๒:๐๐ นาฬิกา) เวลาค่ำ
(๑๘:๐๐ นาฬิกา) และเวลากลางคืน ยาม ๑ (๒๑:๐๐ นาฬิกา) เวลาเที่ยงคืน(๒๔:๐๐
นาฬิกา) เวลา ๓ ยาม (๓:๐๐ นาฬิกา) ก็ตีย่ำทำนองเดียวกับได้ยินที่เมืองพาราณสี
แม้คำที่ไทยเราพูด ก็เรียกเวลา ๖ นาฬิกาเช้า ว่า ?ย่ำรุ่ง? คำที่พูดว่า ?ย่ำ? คงมาจาก
ย่ำฆ้องระฆังนั่นเอง แต่ฉันยังไม่คิดมาแต่ก่อนว่าเหตุใดจึงตีย่ำ เมื่อได้ฟังอธิบายที่
เมืองพาราณสีก็เข้าใจซึมซาบในทันทีว่า ?ย่ำ? เป็นสัญญาเรียกคนเปลี่ยนยาม เห็นว่า
ประเพณีไทยแต่โบราณ เวลากลางวันให้คนอยู่ยามผลัดละ ๖ ชั่วนาฬิกา แต่กลางคืน
ผลัดระยะ ๓ นาฬิกา และยังแลเห็นสว่างต่อไปอีก ด้วยประเพณีตีระฆังยามที่
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ เมื่อตีย่ำระฆัง แล้วมีคนเป่าแตรงอนและเป่าปี่ตี
มโหรทึกประโคมต่อไปอีกพักหนึ่ง และเวลานี้พระบรมศพหรือพระศพเจ้านายตลอด
จนศพขุนนางผู้ใหญ่บรรดาที่มีกลองชนะประโคม ย่อมประโคมกลองชนะตรงกับ
ย่ำฆ้องระฆังยามทั้งกลางวันและกลางคืน อาการประกอบกันให้เห็นว่า การย่ำฆ้อง
ระฆังเป็นสัญญาเรียกคนมาเปลี่ยนยาม การประโคมเป็นสัญญาบอกว่าพวกอยู่ยามใหม่
ได้เข้ามาประจำหน้าที่พร้อมกันแล้ว มูลของประเพณีย่ำฆ้องระฆังยามและประโคม
พระศพในเมืองไทย เห็นเป็นดังกล่าวมาและอาจจะได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์?


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทหารเรือยิงปืนใหญ่ในเวลาเที่ยงวัน เพื่อให้พ่อค้าวาณิชและประชาชนทั้งหลายที่เข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงเทพฯ ได้ทราบเวลาเที่ยง และจะได้ตั้งนาฬิกาของตัวให้ตรงกัน

และด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ทหารเรือ ทำหน้าที่สำคัญของชาติอย่างการเทียบเวลามาตั้งแต่ครั้งนั้น ปัจจุบันกองทัพเรือจึงยังคงทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลามาตรฐานประเทศไทยต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในเขตพระนครก็จะได้ยินเสียงปืนใหญ่ ในตอนเที่ยงทุกวัน ส่วนบ้านใครที่อยู่ไกลออกไปจนไม่ได้ยินเสียงปืน ก็จะถูกเรียกว่าไกลปืนเที่ยงซึ่งหมายความว่า อยู่ไกลจากเมืองหลวง ห่างไกลความเจริญ เมืองหลวงมีเรื่องอะไร ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวนั่นเอง




อ้างอิง จำนงค์ ทองประเสริฐ. ?ทุ่ม-โมง-นาฬิกา? ใน ภาษาไทยไขขาน.กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา,๒๕๒๘ .
ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา.นิทานโบราณคดี.พิมพ์ครั้งที่ ๑๕.กรุงเทพฯ:บรรณาคาร , ๒๕๔๓.
สุนทรภู่.พระอภัยมณี.พิมพ์ครั้งที่ ๑๔.กรุงเทพฯ:บรรญาคาร,๒๕๑๗.



หัวข้อ: Re: โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง
เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ มกราคม 21, 2011, 02:47:27 AM
ไกลปืนเที่ยง
posted on 18 May 2006 22:39 by zedth  in Navy-Story  สำนวน ไกลปืนเที่ยง นั้น มีความหมายว่า ไม่รู้อะไร เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งที่มาของสำนวนนี้ก็มาจากทหารเรือครับ

โดยมีที่มาจากการยิงปืนเที่ยง หรือ การยิงปืนใหญ่เพื่อบอกเวลาเที่ยงวันนั่นเอง

การยิงปืนเที่ยงนั้น เริ่มมีขึ้นครั้งแรก ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงมีพระประสงค์ ที่จะให้พ่อค้าวานิช และประชาชนทั้งหลาย ที่เข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงเทพได้ทราบเวลาเที่ยง และจะได้ตั้งนาฬิกาของตัวให้ตรงกัน

ในการยิงปืนเที่ยงครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทหารเรือเป็นผู้ยิง ณ ตำหนักแพ หรือ ท่าราชวรดิฐ ในปัจจุบัน และทรงกำหนดให้ยิงเฉพาะในวันเสาร์ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระชลยุทธโยธินทร์ (ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น นายพลเรือโท และมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยา) เป็นเจ้าพนักงาน ออบเซอร์เวตตอรี่หลวง ทำหน้าที่ตรวจสอบเวลาของกรุงเทพฯ ให้ตรงกับเวลาที่หอออบเซอร์เวตตอรี่หลวง ณ เมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ (Royal Observatory Greenwich)

ต่อมาเมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้ทรงจัดตั้งกองทหารปืนใหญ่ขึ้นในกรมทหารล้อมวัง จึงได้ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ทหารปืนใหญ่เป็นผู้ยิงปืนเที่ยง ณ ป้อมทัศนาทินกร ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตก ของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงอนุญาต โดยทรงให้ยิงทุก ๆ วัน จากที่ยิงเฉพาะแค่วันเสาร์วันเดียว โดยในการนี้ พระองค์ได้ทรงให้ออกประกาศดังนี้

วัน ๓ เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีชวด ยังเป็น นพศก ๑๒๔๙ ด้วยพระชลยุทธโยธินทร์ เจ้าพนักงาน ออบเซอร์เวตตอรี่หลวง รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้ยิงปืนเที่ยงในวันเสาร์ เพื่อจะให้เป็นประโยชน์แก่ ผู้ที่จะต้องการตั้งนาฬิกาให้ตรงกับเวลามัธยม (คือ มินไตม์ Mean Time) กรุงเทพฯ เสมอทุกวันเสาร์มา แต่ถึงกระนั้นก็เป็นที่ลำบากอยู่ ด้วยทุกวันนี้การค้าขายเจริญมากขึ้น เรือที่เข้าออกมีขึ้นเป็นอันมาก แลมีความปราถนาเวลามัธยมกรุงเทพฯอยู่ด้วยกันทุกลำ เพราะฉะนั้นจึงทรงพระราชดำริ โดยความที่ทรงพระกรุณาแก่ราษฎรที่ไปมาค้าขายในกรุงเทพฯ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ที่จะตั้งนาฬิกาได้ตรงเวลามัธยมกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยิงปืนเที่ยง ทุก ๆ วัน เมื่อผู้ใดได้ยินเสียงปืนแล้ว ต้องเข้าใจว่าเป็นเวลาเที่ยงตามเวลามัธยม (มินไตม์) กรุงเทพฯ ที่หอออบเซอร์เวตตอรี่หลวงกำหนด จะได้ยิงปืนใหญ่ที่ป้อมทัศนาทินกร ด้านตะวันตก ของพระบรมมหาราชวัง แต่ ณ วัน ๗ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีชวด ยังเป็น นพศก ตรงเวลาเที่ยงเสมอไป ทุก ๆ วัน อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งสงสัย ตกใจว่าเกิดเพลิง หรือเหตุการณ์ ถ้าพ้นเวลาเที่ยงแล้ว ฤๅ ก่อนเที่ยงจึงควรถือเอาว่ามีเหตุได้ ถ้าเกิดเพลิงขึ้นในเวลาเที่ยง ฤๅใกล้เที่ยง จะยิงเป็นสองนัด จึงให้ถือเอาว่ามีเหตุได้

ต่อมา การยิงปืนเที่ยงของทหารปืนใหญ่ ไม่สะดวก จึงได้โอนหน้าที่ในการยิงปืนเที่ยงกลับมาให้ทหารเรือเป็นผู้ทำหน้าที่นี้อีก ครั้ง ตั้งแต่ วันที่ 29 เมษายน 2447 โดยได้ทำการเปลี่ยนที่ยิงปืนเที่ยง มาตามลำดับดังนี้ คือ ที่เรือพระที่นั่งมหาจักรี , ป้อมวิไชยประสิทธิ์ , พระราชวังเดิม และตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพนธ์ 2448 กรมเรือกลและป้อม ได้จัดเรือที่จอดในกรุงเทพฯ ผลัดกันยิงปืนเที่ยง และตั้งแต่ วันที่ 18 ธันวาคม 2457 ก็ได้ย้ายมายิงที่ สนามหญ้าหน้ากองทัพเรือกลชั้น 4 (ทางด้านใต้ของท่าราชวรดิฐ) จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2477 จึงได้หยุดยิง เพราะการยิงปืนเที่ยงหมดความจำเป็น อันเนื่องมาจาก การแพร่หลายของการส่งสัญญาณบอกเวลาทางวิทยุ


เรือพระที่นั่งมหาจักรี


ป้อมวิไชยประสิทธิ์

และด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ทหารเรือ ทำหน้าที่สำคัญของชาติอย่างการเทียบเวลามาตั้งแต่ครั้งกระโน้น ปัจจุบันกองทัพเรือจึงยังคงทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลามาตรฐานประเทศไทยต่อ เนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ดังที่ผมได้เคยเล่าให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้ว

ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในเขตพระนคร ก็จะได้ยินเสียงปืนใหญ่ ในตอนเที่ยงทุกวัน ส่วนบ้านใครที่อยู่ไกลออกไป จนไม่ได้ยินเสียงปืน ก็จะถูกเรียกว่า ไกลปืนเที่ยงซึ่งหมายความว่า อยู่ไกลจากเมืองหลวง ห่างไกลความเจริญ เมืองหลวงเค้ามีเรื่องอะไร ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวนั่นเองครับ

ส่วนระยะทางเท่าใดถึงจะไม่ได้ยินเสียงปืนนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่คิดว่าน่าจะไกลโขอยู่ เพราะเสียงปืนใหญ่นั้น ไม่ใช่เบา ๆ เลย และสมัยนั้น ตึกสูง ๆ ก็ไม่มี ทำให้ไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือตัวดูดซับคลื่นเสียง ทำให้เสียงปืนสามารถแผ่ไปในระยะทางที่ไกล


หัวข้อ: Re: โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง
เริ่มหัวข้อโดย: amfine02 รักในหลวง ที่ มกราคม 21, 2011, 02:54:05 AM
ขอบคุณครับ ผมไกลปืนเที่ยงจริงๆ ฮาา
ปล เพิ่งรู้จริงๆครับ


หัวข้อ: Re: โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง
เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ มกราคม 21, 2011, 04:20:11 AM
ขอบคุณครับ ผมไกลปืนเที่ยงจริงๆ ฮาา
ปล เพิ่งรู้จริงๆครับ


ครับผม  :D


หัวข้อ: Re: โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง
เริ่มหัวข้อโดย: somsakbck ที่ มกราคม 21, 2011, 09:00:28 AM
เดี๋ยวผมจะต่อด้วยคำว่า " มักกะสัน" ครับคุณ pasta...........(แหะๆ.....คอเดียวกัน)

        " มักกะสัน"เป็นชื่อชาวเมือง มาดากัสซาร์ ในเกาะเซลีเบส ประเทศอินโดนีเซีย คนพวกนี้อพยพหนีฮอลันดามาพึ่งไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คนไทยโบราณเรียกชื่อ "มาดากัสซาร์" เพี้ยนเป็น "มักกะสัน" และเรียกคนที่มาจากเกาะนี้ว่า แขกมักกะสัน.....


ที่มา : ดร.ญาดา (อารัมภีร) อรุณเวช  เขียนใน ต่วย'ตูน เรื่อง คนอัปลักษณ์


หัวข้อ: Re: โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง
เริ่มหัวข้อโดย: คมขวาน รักในหลวง ที่ มกราคม 21, 2011, 12:44:18 PM
        ขอบคุณ ครับ ท่าน pasta
เดี๋ยวผมจะต่อด้วยคำว่า " มักกะสัน" ครับคุณ pasta...........(แหะๆ.....คอเดียวกัน)

        " มักกะสัน"เป็นชื่อชาวเมือง มาดากัสซาร์ ในเกาะเซลีเบส ประเทศอินโดนีเซีย คนพวกนี้อพยพหนีฮอลันดามาพึ่งไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คนไทยโบราณเรียกชื่อ "มาดากัสซาร์" เพี้ยนเป็น "มักกะสัน" และเรียกคนที่มาจากเกาะนี้ว่า แขกมักกะสัน.....


ที่มา : ดร.ญาดา (อารัมภีร) อรุณเวช  เขียนใน ต่วย'ตูน เรื่อง คนอัปลักษณ์
        ถ้าผมมีโอกาสจดทะเบียนสมรส(ใหม่)
จะเลือกจดที่สำนักงานเขตฯนี้  เพราะชื่อมันฟังดูดี   ::007:: ::007:: ::007::


หัวข้อ: Re: โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง
เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ มกราคม 21, 2011, 01:06:03 PM
เดี๋ยวผมจะต่อด้วยคำว่า " มักกะสัน" ครับคุณ pasta...........(แหะๆ.....คอเดียวกัน)

        " มักกะสัน"เป็นชื่อชาวเมือง มาดากัสซาร์ ในเกาะเซลีเบส ประเทศอินโดนีเซีย คนพวกนี้อพยพหนีฮอลันดามาพึ่งไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คนไทยโบราณเรียกชื่อ "มาดากัสซาร์" เพี้ยนเป็น "มักกะสัน" และเรียกคนที่มาจากเกาะนี้ว่า แขกมักกะสัน.....


ที่มา : ดร.ญาดา (อารัมภีร) อรุณเวช  เขียนใน ต่วย'ตูน เรื่อง คนอัปลักษณ์
        ขอบคุณ ครับ ท่าน pasta
เดี๋ยวผมจะต่อด้วยคำว่า " มักกะสัน" ครับคุณ pasta...........(แหะๆ.....คอเดียวกัน)

        " มักกะสัน"เป็นชื่อชาวเมือง มาดากัสซาร์ ในเกาะเซลีเบส ประเทศอินโดนีเซีย คนพวกนี้อพยพหนีฮอลันดามาพึ่งไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คนไทยโบราณเรียกชื่อ "มาดากัสซาร์" เพี้ยนเป็น "มักกะสัน" และเรียกคนที่มาจากเกาะนี้ว่า แขกมักกะสัน.....


ที่มา : ดร.ญาดา (อารัมภีร) อรุณเวช  เขียนใน ต่วย'ตูน เรื่อง คนอัปลักษณ์
        ถ้าผมมีโอกาสจดทะเบียนสมรส(ใหม่)
จะเลือกจดที่สำนักงานเขตฯนี้  เพราะชื่อมันฟังดูดี   ::007:: ::007:: ::007::


ครับผม  :D


หัวข้อ: Re: โมง ทุ่ม ตี ยาม ย่ำ และไกลปืนเที่ยง
เริ่มหัวข้อโดย: somsakbck ที่ มกราคม 21, 2011, 01:19:30 PM
        ถ้าผมมีโอกาสจดทะเบียนสมรส(ใหม่)
จะเลือกจดที่สำนักงานเขตฯนี้  เพราะชื่อมันฟังดูดี   ::007:: ::007:: ::007::

ฮึๆ.........ฝันไปเถอะ......ฮา