ปืน รศ ๑๒๑





กว่าจะเป็นปืน ร.ศ.
ครั้งหนึ่งเคยมีคนกล่าวเล่นๆว่า "พระเจ้าซาร์แห่งอิหร่านท่านซื้อทุกอย่างที่บินได้" เพราะบรรดาอาหรับเศรษฐีน้ำมัน
เขาไม่กระเทือนกระเป๋าหรอกครับขอให้มีอาวุธรุ่นใหม่มาอวดกัน จึงไม่น่าแปลกใจว่าอยู่ๆก็มีศัตรูยกทัพมาเอาชนะ
ง่ายๆแถมกวาดเอาอาวุธกลับไปใช้เสียฉิบ ไอ้การที่สยามจะซื้อปืน ร.ศ. สัก 4 - 5 หมื่นกระบอก ก็ไม่เห็นยากแค่สั่งจาก
นอกก็ได้แล้ว หากว่าขืนทำแบบนี้เราก็เหมือนพวกอาหรับเพราะทหารใช้ไม่เป็น เผลอเข้าฝรั่งบุกมายึดไว้ทั้งปืนทั้ง
ประเทศ แต่สมัย ร.5 นั้นเราบ้อท่าอีกขั้นหนึ่งเพราะเงินในคลังก็ไม่มี ทหารก็ไม่มี แถมทรงขาดอำนาจบริหารงานแผ่น
ดินโดยสิ้นเชิง กว่าจะได้ปืน ร.ศ. มาจึงยากกว่าที่คิดนัก ในขณะที่ต่างชาติจ้องจะรวบสยามเป็นเมืองขึ้นนั้นได้กลาย
เป็นปัจจัยให้เกิดกระบวนการปฎิรูปการปกครอง การทหารและการคลังพร้อมๆ กันใช้เวลาหลายสิบปีครับ
"เมื่อพ่อได้ราชสมบัติในเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น เหมือนตะเกียงริบหรี่จวนจะดับ ไม่มีมารดา มีญาติ ฝ่ายมารดาก็ล้วน
แต่โลเลเหลวไหลหรือก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ญาติฝ่ายข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตก
อยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยาฯ และต้องรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทุกพระองค์"
จากพระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิต ในปี ร.ศ. 112 เผยถึงสถานทางการเมืองของ
ร.5 เป็นอย่างดี การดึงอำนาจกลับมาสู่พระองค์จำจะต้องค่อยๆทำ มิให้เกิดแตกแยกร้าวฉาน และที่ขาดไม่ได้ คือ
กองทหารของพระองค์ที่จะช่วยเป็นฐานอำนาจไว้ ทรงได้อธิบายต่อไปว่า
"ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก" และ "ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดาก็เป็นเด็ก มีแต่
อายุต่ำกว่าพ่อ" (เป็นเพราะ ร.4 ทรงลาผนวชมาครองราชย์เมื่อพระชนมายุมากแล้ว และมิได้มีพระราชโอรสธิดามาก่อน
หน้านั้นเลย) แต่เมื่อมีผู้รักใคร่ในตำแหน่งเล็กๆและมีน้องอายุยังน้อย จึงทรงเริ่มด้วยกองทหารส่วนพระองค์แบบเด็ก
เล่นไปก่อน เรียกว่า "ทหารไล่กา" เอาไว้ไล่นกไล่กาเวลาเสด็จแต่ใช้ระเบียบทหาร แล้วต่อมาก็เอาข้าหลวงเดิมหรือ
บรรดาผู้รักใคร่ในตำแหน่งเล็กๆมาเป็นทหาร เรียกว่า "ทหารสองโหล" เพราะมีกันแค่ 24 คน พอวางกรอบได้แล้วจึงตั้ง
กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ภายใน 3 ปี มีทหาร 72 คน ท่านเหล่านี้ก็เติบโตขึ้นในแวดวงทหารในกองทัพ
น้อยๆเช่นนี้ เกิดรักใคร่กลมเกลียวกันกลายเป็นกำลังพัฒนาประเทศสนองนโยบายเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงสม
เด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จกรมพระยาภาณุรังษีสว่างวงศ์ เจ้าพระยา
สุรศักดิ์มนตรี เป็นต้น
พอทรงบรรลุนิติภาวะ ในปี พ.ศ. 2417 จึงพอจะทวงอำนาจบริหารกลับมาได้เพราะมีทหารในพระหัตถ์ถึง 6 กองร้อย
แถมด้วยทหารม้า ทหารหน้า (รวมเอาทหารล้อมวังและกรมรักษาพระองค์เก่า)มาไว้พร้อมกองปืนกลแก๊ตลิง
จะเห็นนะครับว่าทรงพัฒนาฐานอำนาจของพระองค์ได้รวดเร็วพอสมควร ก.ม.ทั้ง 4 ฉบับ เป็นการประกาศเจตนารมย์
ของพระเจ้าอยู่หัวว่ายุคใหม่ของคนหนุ่มมาแล้ว แต่จะเป็นด้วยธรรมชาติในการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยหรืออย่าง
ไรไม่ทราบที่จะต้องพบกระแสต่อต้านอย่างหนัก ทำให้การพัฒนาออกจะเชื่องช้าอย่างน่าเสียดายทุกทีไป ก.ม.ทั้งหมด
กระทบอำนาจและกระเป๋าของขุนนางกลุ่มอำนาจเดิมอย่างจัง จากนั้นไม่กี่เดือนวังหน้าก็เริ่มระดมทหารถึง 6 - 7 ร้อย
คนอาวุธครบมือ โดยมีอังกฤษและข้าราชการผู้ใหญ่หลายกรมกองแสดงความเห็นอกเห็นใจอยู่ข้างหลัง
วิกฤติการณ์ครั้งนั้นตึงเครียดถึงจุดที่ทั้งสองวังเตรียมทหารพร้อม แล้วมาเกิดเหตุไฟไหม้ตึกดินซึ่งเก็บดินปืนในวังขึ้น
ทำให้กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข(วังหน้า) ทรงตัดสินใจเสด็จเข้าประทับในสถานทูตอังกฤษถึง 2 เดือนกว่าที่สมเด็จ
เจ้าพระยาฯจะกล่อมให้คลายพระทัยกลับออกมาได้ เรื่องนี้ประกอบกับกระแสคลื่นใต้ดินใต้น้ำ ทำให้ ร.5 ต้องฝืนพระทัย
ชลอแผนปฎิรูปอื่นๆไปอีก 10 ปี หันมาใช้วิธีค่อยทำค่อยไปกลายเป็นจุดเด่นของการแก้ปัญหาในสมัยของพระองค์
เมื่อทรงดึงอำนาจบริหารราชการมาได้บ้างแล้วก็จะต้องแก้ปัญหาใหญ่อีกถึง 2 เปลาะ แรกคือ หาตังค์มาซื้อปืนก่อน
อยากมีปืนแต่ไม่มีเงิน
"การปฎิรูประบบการคลัง ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของพระองค์" เซอร์เอ็ดเวิด คุก (Sir Edward Cook) ที่ปรึกษา
ราชการแผ่นดิน
ใน พ.ศ.2416 ร.5 ได้ทรงโปรดให้จัดตั้งหอรัษฎาพิพัฒน์ เพื่อจัดระเบียบการภาษีเสียใหม่เพราะ
1. ภาษีเงินได้เดิมอยู่กับเจ้านายที่คุมกรมพระกลาโหม กรมมหาดไทย กรมนาและกรมพระคลังสินค้า เป็นต้น พอเก็บ
ได้ก็ใช้ในราชการของตนเสียก่อน กรมที่คุมเงินส่วนกลางได้แต่มองตาปริบๆเพราะไม่มีใครส่งเงินเข้าพระคลังมหา
สมบัติ
2. การตั้งเจ้าภาษีนายอากรผูกขาดการเก็บภาษีให้หลวงนั้นเขาส่งเงินในคลังปีละหน ส่วนมากก็ขอผ่อนส่ง (ภาษีของ
เราแท้ๆดันเก็บไปแล้วขอผ่อน อย่างนี้พวกผมเสียภาษีแบบผ่อนส่งบ้างได้ไหมก็ไม่รู้) หนักเข้าหลวงจะลงโทษ นาย
อากรก็เผ่นหนีไปตีกอล์ฟวันเว้นวัน แบบเสี่ย NPL ล้มบนฟูกทั้งหลายในยุคนี้
3. ตั้งแต่สมัย ร.1 - ร.4 การทำบัญชีไม่เรียบร้อยแปลว่าหามาตรวจกันไม่ได้ แต่ละกรมกองบัญชีอยู่กับนาย พอนาย
ตายบัญชีก็หายไปทุกที
การรวมบัญชีรับจ่ายและการส่งภาษีมาขึ้นกับหอรัษฎาพิพัฒน์สามารถเร่งรัดภาษีให้ตรงเวลา และจัดระเบียบการเบิก
การส่งเงินให้แก่ทุกกรมกลายเป็นการบังคับให้แต่ละท่านต้องหัดทำงบประมาณฉบับแรกขึ้น ในปี พ.ศ. 2433 ทรงยก
กรมพระคลังมหาสมบัติ (ซึ่งเวลานี้มีสมบัติเต็มคลังเสียที)เป็นกระทรวงและอีกเพียง 2 ปี ก็ทรงยุบระบบจตุสดมภ์ที่มี
มาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสียเลย เมื่อมีเงินแล้วกระนั้นยังมีปัญหาทรัพยากรบุคคลมาให้แก้อีกเรื่องหนึ่ง
กองทัพไร้ทหาร
ผมไปพบจดหมายเก่าๆของพระองค์เจ้าหญิงท่านหนึ่งทำถวาย ร.5 ในปี ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) ความบางตอนว่า
"เดิมข้าพระพุทธเจ้าให้พี่เลี้ยงกับสมุห์บัญชีทำสักเลขมาไว้กับข้าฯ รวม 213 คน" หมายถึงระบบศักดินาไทย มีวิธีควบ
คุมพลเมืองไว้ใช้ราชการโดยให้ขึ้นกับเจ้านายต่างๆติดต่อกันชั่วลูกหลาน เรียกกันว่าไพร่ พออายุ 18 ปีก็มารายงานตัว
เรียกว่า "ไพร่สม" เหมือนมาถูกหัดงาน พอครบ 20 ปี ก็เลื่อนเป็น "ไพร่หลวง" แล้วสังกัดเจ้านายไปถึงอายุ 70 ปี สมัย
อยุธยาให้ปีหนึ่งมาอยู่ในราชการ 6 เดือน ก็นานพอดูคิดถึงเมียแย่ สมัย ร.5 ท่านก็ลดลงให้เหลือแค่ 3 เดือน ท่าน
หญิงพระองค์นี้ก็ได้มาขึ้นบัญชี 213 คน คำว่า "สักเลข" ก็คือ หลวงเขาจับเกณฑ์มาจากครอบครัวที่เคยสังกัดแล้ว
สักลงบนท้องแขนให้รู้ว่าเบอร์นี้อยู่สำนักใด พวกที่ยังไม่โดนจับตัวได้เขาเรียกว่าพวก "แขนขาว" ไพร่หลวงที่สังกัด
กรมราชการทหารก็มาเป็นทหารปีละ 3 เดือน ปีหน้ามาใหม่ก็ลืมที่หัดหมด วันทยาหัตถ์ด้วยมือซ้ายเหมือนไอ้เณร
กันเป็นแถว ใช้การจริงไม่ค่อยได้หรอกครับแค่แบกปืนเฝ้าวังโก้ๆเป็นพอแล้ว ระบบไพร่นี่ก็พอใช้ได้ในตอนต้นพอ
นานๆเข้าพ่อก็หนีไม่ยอมถูกจับปั๊มเบอร์บนแขนกันใหญ่ ที่ขึ้นทะเบียนก็หาทางหลบ ยิ่งถ้าต้องไปรบต้องเป็นผู้มี
สปิริตสูงพอควร พวกขี้เกียจมารับราชการปีละ 3 เดือนก็มีทางออก เพราะเงินย่อมเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาเสมอ
โดยสามารถจ่ายให้เจ้านายที่คุมกรมปีละ 6 บาท เป็นการจ้างใครก็ไม่รู้มาแบกปืนยืนยามแทน เงินนี้เราเรียกว่า
"เงินค่าราชการ" หรือ "เงินภาษีรัชชูปราการ" ซึ่งเป็นรายได้ของชาติที่ดีหากเจ้านายท่านจะยอมส่งเข้าคลังหลวงนะ
ครับ มาดูท่อนต่อไปของจดหมายดีกว่าว่าท่านหญิงท่านทำอย่างไรกับรายได้ก้อนนี้
"จะเป็นเงินมากน้อยเท่าใด ข้าฯหาทราบเกล้าไม่ ด้วยเจ้าพนักงานยังไม่เกณฑ์ (เรียกเก็บเงิน) ข้าฯ ได้ให้พี่เลี้ยงและ
สมุห์บัญชีไปเก็บเงินมาส่งเจ้าพนักงานก็เก็บเอาเงินไปใช้สอยเสียหมด หาส่งให้ครบจำนวนที่ยังคงค้างอยู่นั้นไม่ บัด
นี้พี่เลี้ยงกับสมุห์บัญชีก็ถึงแก่กรรมเสียแล้ว"
ดูเอาเถิดครับ เห็นเจ้านายเป็นหญิงชรา เลยโกงเงินภาษีที่จะส่งหลวงไปกาสิโนที่ชายแดนเสียหมด ทั้งที่มิได้อยู่ใน
คณะกรรมมาธิการอะไรกับเขาเลย เรื่องแบบนี้กลายเป็นลูกโซ่ บรรดาเจ้านายหลายกรมต้องรับกรรมหาเงินมาใช้หลวง
เป็นหนี้เป็นสินมากเข้าก็เขียนหนังสือมาขอทำการลดหนี้ทั้งต้นทั้งดอก เรียกว่าทำ Haircut แล้วก็โบกมือลาขอคืน
เจ้าพวกสักเลข พ้นๆหน้าที่ไปดีกว่า
"ข้าฯ ไม่มีเงินที่จะส่งต่อไป จึงขอพระราชทานเงินค้าง (ขอยกเลิกหนี้) เก่าและใหม่ที่ยังค้างเพราะเหลือสติกำลังที่จะ
คุมเลขไว้ต่อไป ขอทูลเกล้าถวายเลขทั้ง 183 คน เป็นไพร่หลวงจ่าย แต่ข้าฯ จะขอรับพระราชทานเลขไว้ 30 คน ส่วน
ที่เกี่ยวข้องเป็นสุพันธุ์ญาติและคนเก่า"
สาธุ! ถึงตรงนี้ผมอดนึกถึงผู้หญิงชราผมขาวโพลนหลังค่อมน่าสงสารนั่งอยู่ในตำหนักเล็กๆไม่ได้ ด้วยพระเมตตาที่มี
ต่อหญิงสูงศักดิ์ท่านนี้ จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตตามที่ขอ
พอดูปีที่จดหมายถูกเขียนแล้วตกใจ ตรงกับ พ.ศ. 2435 อีกปีเดียวก็จะยิงกันที่ปากน้ำแล้วยังคงใช้ระบบโบราณอยู่
เลย พอ ร.5 จะให้หัดทหารแบบใหม่ก็พบปัญหาไพร่หลวงไม่พอใช้เพราะหนีบ้าง จ้างคนมาแทนบ้าง หรือกลุ่มที่เขา
มีอำนาจอยู่เดิมไม่ร่วมมือปล่อยคนมาบ้าง ก็อาศัยการโอนเลขจากท่านๆที่กล่าวข้างต้นนี่ละครับมาใช้งานทหาร
โชคร้ายก็จะเจอแต่ไพร่หลวงแก่ๆแบกปืนไม่ไหว(แต่อาจยังเตะปี๊บดังอยู่) อย่างนี้ไม่พอปกป้องสยามหรอกครับเมื่อ
ถึงคราวฝรั่งเศสมาหาเรื่องในปี พ.ศ. 2435 พบว่ากรมยุทธนาธิการ มีทหารอยู่ในบัญชีทั้งประเทศแค่ 5,605 คน เรื่อง
นี้ถูกแก้สำเร็จด้วยการเลิกทาสแล้วออก พรบ. เกณฑ์ทหารขึ้น
http://www.thailandoutdoor.com/GunStory/SiameseMauser/siamesemauser.html

