ภัยโรคหัวใจคร่าชีวิตคนไทย ชม. 2 คน ภัยโรคหัวใจเป็นเหตุคนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 10,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 2 คน จ.สิงห์บุรี กทม. และนนทบุรี ติดอันดับสูงสุด แนะเดินออกกำลังป้องกันโรค โดยคนอ้วน คนสูบบุหรี่ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง คนที่เมินผัก ผลไม้ เป็นกลุ่มที่ต้องระวังมากที่สุด มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนปกติ 2-3 เท่าตัว
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.49 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. นำผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สธ. วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวันมหิดล และนำข้าราชการ ประชาชนประมาณ 3,000 คน ใส่เสื้อสีเหลือง เดินออกกำลังกายเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี เถลิงราชย์ เนื่องในวันหัวใจโลก 24 ก.ย.49 ซึ่งจัดพร้อมกันทั่วประเทศ ภายใต้การผนึกกำลังรณรงค์ รักษ์หัวใจถวายในหลวง
น.พ.ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้โรคหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นจาก 16.7 ล้านคน ในปี 2546 เป็น 17.6 ล้านคน ในปี 2548 โดย 80% อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง สำหรับประเทศไทยในรอบ 6 ปีมานี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ในปี 2548 จำนวน 11,066 คน เฉลี่ยตายชั่วโมงละเกือบ 2 คน ผู้ชายตายมากกว่าผู้หญิงในอัตรา 6:4 ขณะที่ในปี 2543 คนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 6,200 คน โดยพบสูงสุดที่จังหวัดสิงห์บุรี กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี ในขณะเดียวกัน มีผู้ป่วยจากโรคหัวใจขาดเลือดต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลปีละกว่า 1 แสนคน
ทั้งนี้ พบว่าผู้ที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 95% เป็นวัยทำงานและสูงอายุ และมีประวัติสำคัญคือ สูบบุหรี่เป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน เบาหวาน อ้วน และมีไขมันในหลอดเลือดสูง ซึ่งล้วนมีผลต่อหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตันไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อของหัวใจซึ่งทำงานอย่างหนัก เต้นวันละกว่า 1 แสนครั้ง ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว โดยอาการเบื้องต้นของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็คือ อาการแน่นปวดเค้นที่หน้าอกซ้ายร้าวไปคอ เดินแล้วเหนื่อยง่าย ต้องรีบพบแพทย์เป็นการด่วน จากการประเมินล่าสุดนี้ คาดว่ามีคนไทยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่า 10 ล้านคน
ทางด้าน น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัวใจขาดเลือดไม่ใช่โรคกรรมพันธุ์ แต่เกิดมาจากพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน การประเมินความแข็งแรงของหัวใจ สามารถใช้วิธีทดสอบง่ายๆ โดยเดินเร็วภายในเวลา 6 นาที หากหัวใจแข็งแรงจะสามารถก้าวได้มากกว่า 833 ก้าว แต่หากน้อยกว่านี้แสดงว่า หัวใจหรือปอดเริ่มผิดปกติ ต้องรีบดูแลสุขภาพหัวใจอย่างจริงจัง ด้วยการออกกำลังกาย
ที่มา : บ้านเมืองออนไลน์ เมื่อเวลา 8:14:00 วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2549 http://www.banmuang.co.th/crime.asp?id=90936 
ด้วยความห่วงใย เพื่อนสมาชิกที่ยังไม่เลิกสูบบุหรี่ เลิกเถอะครับ....