
เอามาฝากคุณ.ฟูฟู และเพื่อนๆครับ
งานวิจัยชิ้นล่าสุดกินผงชูรสมากอาจทำให้ตาบอด?
วารสาร นิว ไซเอินทิสต์ ฉบับวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคมตีพิมพ์ผลวิจัยของนักวิจัยญี่ปุ่นที่เตือนให้ระวังอย่าบริโภคโมโนโซเดียมกลูตาเมทหรือผงชูรสมากเกินไป เพราะอาจทำให้ตาบอดได้
เนื่องจากทีมนักวิจัยนำโดยนายฮิโรชิ โอกูโระ แห่งมหาวิทยาลัยฮิโรซากิในญี่ปุ่นทดลองแบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินอาหารที่ใส่ผงชูรสมาก ๆ ส่วนอีกกลุ่มกินอาหารใส่ผงชูรสปานกลาง และกลุ่มที่สามกินอาหารที่ไม่ใส่ผงชูรสเลย
ปรากฎว่าหนูกลุ่มแรกที่กินอาหารใส่ผงชูรสมากที่สุดมีปัญหาตามองไม่เห็น และเยื่อเรตินาหรือเยื่อชั้นในสุดของส่วนหลังลูกตาที่มีหน้าที่รับภาพจากแก้วตานั้นบางลงไปถึง 75% และผลทดสอบการทำปฏิกิริยากับแสงปรากฏว่าหนูมองไม่เห็นเลย
ส่วนหนูกลุ่มที่กินอาหารปนผงชูรสปานกลางก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน แต่ไม่มากเท่ากลุ่มแรก
ทั้งนี้ผงชูรสคือกรดอะมิโนที่ทำหน้าที่เป็นสารเคมีที่ช่วยส่งสัญญานสื่อสารในหมู่เซลสมอง และคนเอเชียนิยมใช้ปรุงอาหารหรือใช้เป็นส่วนผสมของขนมขบเคี้ยว
ผลการศึกษาหลายรายการก่อนหน้านี้พบว่า เมื่อฉีดผงชูรสเข้าไปในตาโดยตรง มันจะไปทำลายประสาทเสียหาย แต่วารสารนิว ไซเอินทิสต์ ระบุว่า ผลวิจัยล่าสุดของนายโอกูโระนับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่ใส่ผงชูรสก็อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน โดยนักวิจัยพบผงชูรสในปริมาณเข้มข้นสูงอยู่ในของเหลวใสที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงเยื่อเรตินา จึงสรุปว่าผงชูรสจะเกาะอยู่ที่เซลเยื่อเรตินาบางส่วน และจะทำลายมันในที่สุด อีกทั้งจะเข้าไปก่อกวนการทำงานของเซลที่ยังเหลืออยู่ในการส่งสัญญานไปยังสมอง
นักวิจัยกลุ่มนี้ระบุว่า อาหารที่มีผงชูรสเป็นส่วนประกอบในปริมาณ 20% ถือว่าเป็นสัดส่วนสูง แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากินผงชูรสในปริมาณเท่าใดจึงจะไม่เป็นอันตราย แต่ถึงกินในปริมาณน้อย มันก็อาจจะสะสมไว้นานเป็นสิบ ๆ ปี ก่อนออกฤทธิ์ในภายหลัง นายโอกูโระกล่าวว่า ผลวิจัยชิ้นนี้อาจอธิบายได้ว่าทำไมคนในแถบเอเชียตะวันออกถึงเป็นโรคต้อหินในอัตราสูง โดยเฉพาะเมื่อวัยขึ้นต้นด้วยเลขสี่
การตอบโต้จากอย.
พลันที่มีข่าวจากนักวิจัยญี่ปุ่นดังกล่าวออกมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ของไทยก็ได้ออกมาตอบโต้ทันทีว่า การวิจัยของนักวิจัยญี่ปุ่นทีมดังกล่าวมีการใช้ผงชูรสในอาหาร 20 กรัมต่อน้ำหนักอาหาร 100 กรัม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงคิดเทียบได้กับอาหารที่เป็นก๋วยเตี๋ยว 1 ชามในปริมาณน้ำหนัก 300 กรัม ใช้ผงชูรสถึง 60 กรัม หรือเทียบเท่าผงชูรส 12 ช้อนชา ต่อการบริโภค 1 ครั้ง ซึ่งไม่ใช่วิธีของการปรุงอาหารตามปกติอยู่แล้ว
พร้อมกันนั้นก็ได้รับรองว่าการบริโภคจะไม่เกิดอันตรายกับผู้บริโภค โดยอ้างการประเมินค่าความปลอดภัยของผงชูรสที่คณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหารระดับนานาชาติ คือ JECFA (joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives) ทำอยู่แล้ว โดยมีการทดสอบทางด้านความเป็นพิษแบบพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง ผลระบุว่าผงชูรสมีความเป็นพิษต่ำมากจนไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้บริโภค ด้วยข้อมูลดังกล่าวทำให้อย.ไม่ได้มีมาตรการกำหนดให้มีการแสดงคำเตือนใด ๆ บนฉลาก และออกมารับรองทุกครั้งว่าผงชูรสสามารถกินได้โดยปลอดภัย ตามวิธีการกินโดยปกติ
แต่ขณะเดียวกันอย.ก็ยอมรับเช่นกันว่า มีคนเคยต้องพิษจากการบริโภคผงชูรสไปหลายรายแล้ว แต่อย.จะใช้คำว่า คนกลุ่มนั้นบริโภคผงชูรสโดยวิธีการที่ไม่ปกติ เช่น กินขนมครกจิ้มผงชูรส หรือผงชูรสผสมพริกกับเกลือ เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มคนที่แพ้ผงชูรสโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่อันตรายที่เกิดขึ้นอย.มักเน้นเสมอมาว่าเป็นอันตรายเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงแล้วจะหายไปเอง เช่น อาการชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้า ปวดท้อง คลื่นไส้ กระหายน้ำ วูบวาบ เป็นต้น แต่อย.ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ากลุ่มอาการเหล่านี้ใช่กลุ่มอาการ ภัตราคารจีน หรือ Chinese Restaurant Syndrome หรือไม่
ความกังขาของผู้บริโภคและนักวิชาการ
พลันที่ อย.ได้เสนอข่าวการันตีความปลอดภัยให้กับผงชูรสโดยไม่มีงานวิจัยของตัวเองอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในหมู่ผู้บริโภคและนักวิชาการบางส่วนที่เห็นว่าผงชูรสมีอันตราย
รศ.ดร.พิชัย โตวิวิชญ์ หนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามข้อมูลพิษภัยของผงชูรสมาอย่างยาวนานได้รายงานไว้ในเอกสารชิ้นหนึ่งว่า ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับพิษภัยของผงชูรสออกมามักจะมี ข่าวแจก ออกมาสู่สื่อมวลชนอย่างทันทีทันใด โดยมักจะอ้างว่าเป็นข่าวจาก อย. มีหัวจดหมายของ อย. อย่างดี เนื้อหาสาระใน ข่าวแจก มักจะซ้ำ ๆ ซาก ๆ ดังเช่นการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง ยกตัวอย่างเช่น
-- อ.ย.ระบุผู้บริโภคอย่าหวั่นวิตกอันตรายจากผงชูรส
- อ้าง ผลงานนานาชาติมีการตรวจสอบแล้วว่าผงชูรสมีความเป็นพิษต่ำมาก โดยไม่วิเคราะห์ผลงานนานาชาติเหล่านั้นว่ามาจากนักวิชาการระหว่างประเทศที่รับเงินจากบริษัทผุ้ผลิตผงชูรสหรือไม่ และมีความไม่ถูกต้องในการวิจัยอย่างไร
- อ้าง คณะผู้เชี่ยวชาญ JECFA ระบุว่าผงชูรสมีความเป็นพิษต่ำมากจนไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้บริโภค และสามารถกินได้โดยปลอดภัยตามวิธีการกินโดยปกติ ข้อนี้ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการซ่อนเร้นข้อมูลของ JECFA อย่างไรก็ตาม JECFA ก็ไม่เคยแนะนำให้ใช้ผงชูรสกับเด็กทารก และกลับแนะนำว่า ผงชูรสจะปลอดภัยได้เฉพาะตามวิธีการกินปกติ ซึ่งพฤติกรรมการกินผงชูรสของคนไทยในปัจจุบันไม่ปกติเหมือนประเทศอื่น ๆ เช่น มีการใส่ผงชูรสในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง เผา ซึ่งผงชูรสจะแปรเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งได้ หรือการกินข้าวเหนียวจิ้มผงชูรส ส้มตำ น้ำจิ้ม ฯลฯ ล้วนแต่ใส่ผงชูรสกันอย่างมากมายเกินความจำเป็นทั้งนั้น
รศ.ดร.พิชัยระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการที่ผู้ผลิตผงชูรสมีอิทธิพลต่อหน่วยงานของรัฐ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และรวมถึงประเทศไทย แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ผู้ผลิตผงชูรสถึงกับให้เงินสนับสนุนการจัดตั้ง คณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องกลูตาเมตหรือผงชูรสที่เรียกว่า International Glutamate Technical Committee หรือ IGTC จ้างนักวิชาการที่มีชื่อเสียงให้ทำการทดลอง เพื่อหักล้างผลการทดลองของนักวิชาการอิสระที่ได้พิสูจน์แล้วว่า ผงชูรสมีพิษภัย โดยใช้เล่ห์กลในการทดลองหรือซ่อนเร้นอำพรางข้อความจริง รวมทั้งใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าผงชูรส ปลอดภัย
สำหรับประเทศไทย รศ.ดร.พิชัยระบุว่า มีเอกสารชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่าอย.มีความเกี่ยวพันกับบริษัทผู้ผลิตผงชูรสในลักษณะของการรับจ้างทำงานวิจัย เอกสารชิ้นนี้พิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในช่วงปี 2526 และพิมพ์แจกต่อ ๆ มาอีกหลายปี เอกสารดังกล่าวเป็นผลงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดการตอบรับต่อกลุ่มอาการ ภัตราคารจีน กับการบริโภคโมโนโซเดียมกลูตาเมต
โดยหลักฐานที่ชี้ชัดว่า โครงการนี้ได้รับเงินจากบริษัทผู้ผลิตผงชูรสก็ตรงที่กิติกรรมประกาศซึ่งผู้ทำวิจัยจะต้องประกาศขอบคุณผู้มีอุปการะคุณที่ทำให้ผู้วิจัยทำงานได้สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี และผู้ที่ให้อุดหนุนสำหรับการวิจัยในครั้งนี้ทั้งหมด ได้แก่ คณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องกลูตาเมตหรือผงชูรส หรือ IGTC นั่นเอง ซึ่งรศ.ดร.พิชัยระบุว่าผู้ผลิตผงชูรสเป็นผู้ให้การสนับสนุน
ขณะเดียวกัน IGTC ยังเป็นที่ปรึกษาของโครงการนี้อีกด้วย รศ.ดร.พิชัยจึงเห็นว่า ไม่แปลกใจที่ผลงานวิจัยชิ้นนี้จะสรุปออกมาว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะการใช้และการบริโภคโมโนโซเดียมกลูตาเมต (หรือผงชูรส) ของคนไทยในปัจจุบันนี้ ไม่น่าเป็นที่ห่วงกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มในการบริโภคในปริมาณที่มากจนเกินไป และไม่มีหลักฐานแสดงถึงความเชื่อมโยงกันในระหว่างการเกิดอาการผิดปกติบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการไวรับที่สูงมากผิดปกติต่อการใช้โมโนโซเดียมกลูตาเมตแต่อย่างใด
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ไม่น่าห่วงใยในการใช้ผงชูรสในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป และกลุ่มอาการ ภัตราคารจีน หรือ Chinese Restaurant Syndrome ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผงชูรสแต่อย่างใด
รศ.ดร.พิชัยเห็นว่าผลสรุปดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะทั่วโลกทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า กลุ่มอาการ ภัตราคารจีน ซึ่งจะมีอาการชาที่ลิ้น ริมฝีปาก แก้ม หรือต้นคอ บางคนหายใจไม่ปกติคล้ายหืดหอบ วิงเวียนศีรษะ และบางคนมีอาการคล้ายโรคหัวใจ หรือมีจ้ำสีดำขึ้นตามตัวอาการเหล่านี้เกิดมาจากผงชูรสอันเนื่องจากฝรั่งไปรับประทานอาหารจีนซึ่งมักจะใส่ผงชูรสแล้วเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น จึงได้ขนานนามของกลุ่มอาการนี้ว่า Chinese Restaurant Syndrome หรือกลุ่มอาการ ภัตราคารจีน นั่นเอง
ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค