ตื้นตันใจที่สุด ที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินไทยใต้ร่มโพธิสมภาร ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
http://203.154.97.19/citizen_report/breaking/read.php?newsid=218236&lang=Tในหลวงทรงให้ผันน้ำเข้าที่ดินส่วนพระองค์สกัดน้ำเข้ากรุง
11:35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าที่ดินส่วนพระองค์ ที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำชาวบ้านอีกหลายทุ่งอนุญาตให้ผันน้ำเข้าด้วย ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ เห็นได้ชัด และเชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤติน้ำท่วมกรุงช่วงน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตาม บริเวณนครสวรรค์น้ำยังเพิ่มขึ้น คาดแตะระดับสูงสุดเมื่อปี 2538
นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เช้าวันนี้มีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ 3,465 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังคงอยู่ในระดับที่วางแผนควบคุม ทั้งนี้ เนื่องจากการประชุมคณะที่ปรึกษาและกรรมการประสานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2549 มีมติให้เจรจาขอผันน้ำเข้าทุ่งหลายแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิ ทุ่งบางบาล ทุ่งเจ้าเจ็ด พร้อมกันนี้ ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ผันน้ำเข้าไปในที่ดินส่วนพระองค์นับพันไร่ ที่พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและยินยอมให้ผันน้ำเข้าทุ่งที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ (9 ต.ค.) ช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลมากรุงเทพฯ อย่างเห็นได้ชัด และเชื่อว่าจะผ่านพ้นวิกฤติช่วงน้ำทะเลหนุนสูงนี้ไปได้
ก็คงให้ชาวบ้านได้เห็นว่า ที่ดินของพระเจ้าอยู่หัวก็ยังมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเข้าได้ ซึ่งคงจะสามารถตัดยอดน้ำช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงใน กทม.อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังมีบางจุดที่คันกั้นน้ำขาดทำให้น้ำไหลเข้าไปเอง เช่น ที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว จังหวัดสิงห์บุรี ทำให้น้ำเข้าไปท่วมขังอยู่ในทุ่งมหาราชส่วนหนึ่งด้วย เมื่อมาตรวจสอบระดับน้ำวันนี้ก็ต่ำกว่าที่เราคาด นายสามารถ ระบุ
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวยืนยันอีกว่า จากที่ทาง กทม.ดำเนินการเต็มที่โดยเสริมกระสอบทรายขึ้นเป็น 2.70 เมตร และประสานให้หน่วยทหารไปเฝ้าระวังตลอดแนวเจ้าพระยา ทำให้น่าจะเบาใจและมั่นใจได้ ว่าไม่น่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงใน กทม. ส่วนฝนที่ตกลงมาอย่างหนักค่ำวานนี้ (9 ต.ค.) สร้างปัญหาเพียงเล็กน้อยเช่นน้ำท่วมขังถนน และ กทม.ยังคงต้องทำตามข้อตกลง คือบริหารจัดการน้ำฝนในพื้นที่ โดยจะสามารถสูบน้ำพร่องคลองต่าง ๆ ลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่ถ้ามีน้ำทะเลหนุนสูงก็ให้สูบเท่าที่จะทำได้โดยสังเกตจากระดับน้ำ