http://www.fpmconsultant.com/htm/advocate_dtl.php?id=440เรื่องที่ 440 ทนายสอนน้อง ...เรื่อง อายุความตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขาย
เรื่อง ขอคำปรึกษา
เรียน ที่ปรึกษากฎหมาย
คำถาม
อยากทราบว่ามูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย มีอายุความกี่ปี และเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไรค่ะ
ขอบคุณค่ะ
ตอบคำถาม
ตามที่ท่านได้ขอคำปรึกษาเรื่อง มูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายมีอายุความกี่ปี
และเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อไร นั้น ที่ปรึกษากฎหมายขอเรียนให้คำปรึกษาดังนี้
1. อายุความสัญญาจะซื้อจะขาย
1.1) สัญญาจะซื้อจะขายคือสัญญาที่คู่สัญญามีเจตนาจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
ให้ถูกต้องตามแบบของกฎหมาย
1.2) ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ
หรือสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสองหมื่นบาทขึ้นไปต้องทำเป็นหนังสือ
ลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วน
สัญญาจะซื้อจะขายจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามป.พ.พ.มาตรา 456
เช่น ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่งในราคาแปลงละ 3,000,000 บาท
โดยนัดจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินกันในวันเดียวกันนี้ของปีหน้า
โดยผู้ซื้อได้วางเงินมัดจำให้ไว้แก่ผู้ขายเป็นเงิน 100,000 บาท
และคู่สัญญายังตกลงกันอีกว่า จะมาทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวภายใน 7 วัน
เพื่อกำหนดงวดการชำระเงินค่าที่ดิน เช่นนี้
แม้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์กฎหมายบัญญัติให้ต้องทำตามแบบของกฎหมาย
คือ ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายจึงจะสมบูรณ์
แต่กรณีนี้เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในขณะที่ทำสัญญา
สัญญานี้ก็ไม่ตกเป็นโมฆะ เนื่องจากคู่สัญญามีเจตนาที่จะดำเนินการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
ถ้าคู่สัญญาผิดสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้
เพราะมีหลักฐานการบังคับคดีแล้ว คือได้วางมัดจำนั่นเอง
1.3) อายุความตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะ
จึงให้มีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30
อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี
คำพิพากษาฎีกาที่ 1624/2535, 6368/2541 การฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อขาย
ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าให้ใช้บังคับเสียภายในระยะเวลาเท่าใด จึงมีอายุความ 10 ปี 2. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเริ่มนับอายุความแยกพิจารณาตามมาตรา 193/12 และ 193/13 ดังนี้
2.1) กรณีสิทธิเรียกร้องทั่วไป
2.1.1) ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้
(ก) ในกรณีมีกำหนดเวลาชำระหนี้ให้เริ่มนับวันรุ่งขึ้นจากวันที่ครบกำหนด
(ข) ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันทำนิติกรรม
(ค) ในกรณีที่สิทธิเรียกร้องไม่ได้เกิดจากนิติกรรม ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป
โดยยึดหลักที่ว่า เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่เจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้
2.2) กรณีสิทธิเรียกร้องที่จะต้องมีการบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อน
2.2.1) กรณีสิทธิเรียกร้องที่ต้องมีการทวงถาม
หมายถึง สิทธิเรียกร้องที่มีการกำหนดให้เจ้าหนี้มีหน้าที่ทวงถามลูกหนี้ให้ชำระหนี้ก่อน
หากเจ้าหนี้ยังไม่ทวงถาม ลูกหนี้ยังไม่ต้องชำระหนี้ การกำหนดให้เจ้าหนี้มีหน้าที่ทวงถาม
ปกติจะกำหนดโดยสัญญาที่ก่อสิทธิเรียกร้องนั้น คือ สัญญาที่ก่อสิทธิเรียกร้องขึ้น
มีข้อตกลงกำหนดให้เจ้าหนี้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืน (
หรือมีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนก็ได้) และสัญญามีข้อตกลงกำหนดว่า
เมื่อเจ้าหนี้ต้องการให้ชำระหนี้จะต้องบอกกล่าวลูกหนี้ก่อน
2.2.2) การเริ่มนับอายุความกรณีทวงถามโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ คือ
เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องทวงถามลูกหนี้ก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องบังคับคดีได้
โดยสัญญาที่ก่อสิทธิเรียกร้องกำหนดให้เจ้าหนี้มีหน้าที่อย่างเดียว คือ ทวงถามลูกหนี้ก่อน ไ
ม่ต้องกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้แต่อย่างใด
กฎหมายให้เริ่มนับอายุความ ตั้งแต่เวลาแรกที่อาจทวงถามได้เป็นต้นไป
คำว่า เวลาแรกที่อาจทวงถามได้ คือ เพียงอาจทวงถามได้เท่านั้น
แม้ยังไม่ได้ทวงถาม อายุความเริ่มนับแล้ว ดังนี้เจ้าหนี้จะทวงถามลูกหนี้หรือไม่
ไม่มีผลต่อการเริ่มนับอายุความ เพราะอายุความเริ่มนับมาแล้วตั้งแต่เวลาแรกที่อาจทวงถามได้
ไม่ได้เริ่มนับเมื่อได้ทวงถาม
2.2.3) การเริ่มนับอายุความกรณีทวงถามโดยมีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ คือ
สัญญาก่อสิทธิเรียกร้องกำหนดให้เจ้าหนี้มีหน้าที่ 2 ประการ ได้แก่ หน้าที่ทวงถามลูกหนี้
และหน้าที่กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ด้วย ซึ่งลูกหนี้จะต้องชำระหนี้
ต่อเมื่อพ้นระยะเวลาชำระหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนด กฎหมายให้เริ่มนับอายุความ
ตั้งแต่ระยะเวลานั้นได้สิ้นสุดไปแล้ว
การเริ่มนับอายุความเมื่อพ้นระยะเวลาชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ต้องกำหนดในการทวงถาม
เจ้าหนี้จะได้ทวงถามจริงๆ หรือไม่ ไม่สำคัญ แม้ยังมิได้ทวงถามลูกหนี้เลย อายุความเริ่มนับแล้ว
เช่น ทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 โดยไม่มีกำหนดเวลาให้ชำระหนี้
แต่สัญญาระบุว่า เมื่อเจ้าหนี้ต้องการให้ชำระหนี้ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้มิได้กำหนดระยะเวลาไว้ จึงถึงกำหนดในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย
แต่สัญญากำหนดให้เจ้าหนี้ทวงถามล่วงหน้า 1 เดือน อายุความเริ่มนับเมื่อพ้น 1 เดือน
นับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย คือเริ่มนับวันที่ 1
มกราคม 2550 แม้เจ้าหนี้ยังไม่ได้ทวงถามลูกหนี้เลย อายุความเริ่มนับแล้ว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
จงรักษ์ นรแสน (ที่ปรึกษากฎหมาย)
www.fpmconsultant.come-mail :
jongrak@fpmconsultant.com