ตั้งใจทำสำคัญกว่า
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com
ธรรมชาติของจิต โดยส่วนมากจะไหลไปตามกระแสกิเลสมีการใฝ่ต่ำเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ท่านอุปมาเหมือนน้ำ กระแสน้ำนั้นย่อมไหลลงไปสู่ที่ต่ำ น้ำจะไหลไปขังกันอยู่ในที่นั้น จิตใจของคนเราส่วนมากเช่นเดียวกัน คิดแต่จะกระทำกรรมชั่วอยู่เนืองนิตย์ แล้วเมื่อประจวบกับเหตุที่เหมาะแล้ว เขาจะกระทำความชั่วได้ทันที
ส่วนการกระทำกรรมดีนั้นเป็นของยากยิ่ง เหมือนกับการทดน้ำอันมีธรรมชาติไหลไปสู่ที่ต่ำให้ไหลขึ้นที่สูง หรือเหมือนการพายเรือทวนกระแสน้ำ จะต้องอาศัยความพยายามมาก อาศัยกำลังมากจึงสามารถนำเรือแหวกทวนกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากนั้นได้สำเร็จ
ปัจจุบันนี้มีเหตุที่ยั่วเย้าให้เราคิดกระทำกรรมชั่วมากมายแค่ไหน ส่วนมากจึงตก เป็นทาสของความชั่วร้ายมากขึ้น ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป
ความเมตตากรุณาต่อกันก็เสื่อมไปตามลำดับ เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรที่จะเป็นหลักประกันความสุขสงบได้ เป็นหลักประกันความกลัวไม่ให้เกิดขึ้นได้ ไม่มีเลยโลกเราจะตกอยู่ในฐานะที่เป็นศัตรูต่อกันตลอดไป เพราะการกระทำกรรมชั่วเป็นเหตุ
ความเข้าใจในกฎแห่งกรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องให้ความสว่างทางจิตใจแก่คนเราทุกคน ความฉลาดในกฎแห่งกรรมนี้ที่จะทำให้คนเราทุกคนละเว้นจากความชั่ว ประพฤติกรรมดี ให้แข่งกันทำความดี
กรรม แปลว่า การกระทำ ตามศัพท์แสดงให้เห็นว่า การกระทำนั้นแหละเป็นตัวกรรม โดยที่ท่านไม่ได้จำกัดไปเลยว่า เป็นการกระทำดีหรือกระทำชั่ว กรรมจึงเป็นคำกลางๆ จะว่าเป็นเรื่องของความดีอย่างเดียวไม่ได้ จะว่าเป็นเรื่องของความชั่วอย่างเดียวไม่ได้
การกระทำที่ปรากฏออกมาได้ ต้องอาศัยเจตนาคือความตั้งใจที่เกิดขึ้นภายในจิตเป็นสำคัญ พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาคือตัวกรรม สัตว์ที่กระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็ดี ย่อมมีการปรุงแต่งคือนึกคิดก่อนแล้วจึงทำ
เจตนา คือ ความตั้งใจ เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการกระทำ การกระทำของคนเรามีเพียงสามทางเท่านั้น คือ การกระทำทางกาย เรียกว่า กายกรรม กระทำทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม กระทำทางใจ เรียกว่า มโนกรรม
กรรมเป็นแต่เพียงเหตุกับผล เรื่องของกรรมจึงเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะแสดงถึงเหตุกับผล เหตุเช่นใด ผลก็เช่นนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
กฎแห่งกรรม เป็นกฎสาธารณะแก่สรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้าที่มีอยู่ในโลกนี้ เรื่องของกรรมนี้จึงมิได้จำกัดแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ทั่วไปแก่สรรพสัตว์โดยไม่มีจำกัด ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม เมื่อท่านกระทำกรรมดีแล้ว ย่อมจะต้องได้รับผลดีทั้งนั้น และตรงกันข้ามถ้าท่านกระทำกรรมชั่วแล้ว ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม
ท่านจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำกรรมชั่วนั้นเช่นกัน
หน้า 23
คัดลอกจาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdOakUzTURFMU9BPT0=§ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE5TMHdNUzB4Tnc9PQ==