http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1432729735
เสียวไส้ "ทีวีดิจิตอล" ไม่หรูอย่างที่คิดเผลอเพียงแผล็บเดียว ทีวีระบบดิจิตอล ภายใต้การควบคุมและดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ออกอากาศเผยแพร่ไปแล้ว 1 ปีเต็ม หรือเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในวันดังกล่าวยังเป็นวันเดดไลน์ที่บรรดา 24 ช่อง ที่ได้สัมปทานจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมงวดที่ 2
ก่อนที่จะถึงวันต้องควักเงินจ่ายงวดที่ 2 กสทช.เองเคยเตรียมยืดระยะเวลาการจ่ายตามคำขอของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล
ก่อนจะกลับลำกะทันหัน ไม่อนุมัติให้มีการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในช่วงโค้งสุดท้าย
สื่อมวลชนจึงต่างจับจ้องว่าท้ายสุดแล้ว บรรดาเจ้าของทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง จะมาจ่ายเงินกันครบหรือไม่
ปรากฏว่า บริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้ถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิตอลถึง 2 ช่อง ได้แก่ ช่องไทยทีวีและช่องโลก้า
ที่ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมจ่ายเงินพร้อมส่งหนังสือแจ้ง กสทช. เพื่อขอคืนใบอนุญาตทั้ง 2 ใบ ให้ กสทช. โดยให้มีผลภายใน 15 วัน
สำหรับปัญหาของทีวีดิจิตอลในประเทศไทยปีแรกนั้น เริ่มต้นถือได้ว่า "โชคร้าย"
เพราะเริ่มออกอากาศในช่วงปีที่มีความร้อนแรงจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองไปจนถึงเกิดรัฐประหาร
ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไม่ดี รวมทั้งยังติดขัดปัญหาโครงข่ายภาคพื้นดินทีวีดิจิตอลล่าช้า
และ กสทช.แจกคูปองเงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลล่าช้า
ส่งผลให้ในช่วงแรกการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกให้คนมาดูทีวีดิจิตอลเป็นไปอย่างล่าช้ามาก
นอกจากนี้ การที่ทีวีดิจิตอลมีการประมูลพร้อมกัน 24 ช่อง ประกอบกับช่องเดิมที่มาจากระบบทีวีอนาล็อกไม่ต้องประมูลอีก 3 ช่อง
คือ ช่อง 5 ไทยพีบีเอส และเอ็นบีที จึงเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก
แต่มูลค่าโฆษณาที่เป็นรายได้หลักในอุตสาหกรรมโทรทัศน์เปรียบเป็นก้อนเค้กอยู่ราว 70,000 ล้านบาท ไม่พอแบ่งกันกิน เพราะตัวหารมากขึ้น
นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ "ติ๋ม ทีวีพูล" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด เคยให้สัมภาษณ์ว่า
ได้คาดการณ์ธุรกิจทีวีดิจิตอลผิด เพราะคาดว่าจะรุ่ง จึงกระโดดลงธุรกิจทีวีดาวเทียม แต่พอทำจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
ติ๋ม ทีวีพูลยกตัวอย่างด้วยว่า "ถ้าให้เปรียบก็เหมือนสุนัขที่คาบเนื้อชิ้นใหญ่คือธุรกิจทีวีดาวเทียม
แต่พอมองลงไปในน้ำและเห็นก้อนเนื้อที่ใหญ่กว่า ที่เปรียบเสมือนธุรกิจทีวีดิจิตอลที่คาดว่าจะรุ่งกว่า
จึงทิ้งก้อนเนื้อที่มีอยู่และกระโจนลงไปในน้ำ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเลย"
ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า
การที่มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลบางรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
ยอมรับว่าปัญหาบางส่วนก็มีจุดเริ่มต้นมาจาก กสทช. ที่ทำประชาสัมพันธ์ให้คนมาดูทีวีดิจิตอลล่าช้า
แม้ออกอากาศทีวีมาแล้ว 1 ปี
แต่ร่างประกาศคุณสมบัติ (ทีโออาร์) เพื่อหาคนมารับงานประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิตอล มูลค่า 63 ล้านบาท
เพิ่งจะผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กสทช.ไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
"สืบเนื่องจากเดิมมีการตั้งทีโออาร์ไว้สูงมาก รวมทั้งการแจกคูปองทีวีดิจิตอลล่าช้า
และยังอยากให้ไทยทีวีดำเนินธุรกิจต่อ ไม่อยากให้คืนใบอนุญาต จะให้บริการหรือไม่ให้บริการต่อ
ก็ต้องจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลเต็มจำนวน การที่ยังมีธุรกิจอยู่ยังจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มได้" นายธวัชชัยแจ้งถึงเจ๊ติ๋ม
ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กรณีช่องไทยทีวีและช่องโลก้า
พิจารณาได้ 2 ด้าน คือ
1.ช่องนี้ในสายตาผู้ชมเป็นช่องที่มีปัญหาตั้งแต่แรก ถ้าดูทั้ง 2 ช่องจะไม่ถูกใจผู้ชม
ทางช่องไปซื้อคอนเทนต์ที่ไม่ถูกใจผู้ชม ทำให้สินค้าที่เข้าไปโฆษณาจะต้องชั่งใจว่าคุณภาพรายการของช่องนี้เทียบกับช่องอื่นได้ไหม
2.การที่มีการยื่นขอคืนใบอนุญาต มองว่าฝ่ายกฎหมายของช่องอาจจะดูระเบียบของข้อกฎหมาย ว่าจริงๆ แล้วถึงจะยื่นคืนใบอนุญาต
ก็ยังต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลอยู่ดี แต่ที่ทำให้ตัดสินใจยื่นคืนใบอนุญาตเพราะมองว่าจะนำไปสู่เหตุฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
หรืออาจจะเป็นเรื่องของการต่อรองในการเสียค่างวดในรอบต่อไป มองว่าเขาอาจจะไม่ได้ยื่นเพื่อจะคืนช่องจริงๆ
ส่วนการอ้างว่าปัญหามาจากการดำเนินงานของ กสทช.นั้น ฉลองรัฐบอกว่า ส่วนหนึ่งก็มองว่าจริง
ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลก็พูดตรงกันว่าการทำงานของ กสทช. เรื่องวางโครงข่ายช้าไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ
ตั้งแต่ต้นก่อนเปิดให้มีการออกอากาศรวมทุกเรื่องคุณภาพของเครือข่ายที่บางจังหวัดยังไม่สามารถชมทีวีดิจิตอลได้ชัดครบทุกช่อง
"ผมมองว่าช่องทางในอนาคต กสทช.อาจจะจัดสรรทุนเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ
เช่น มีมาตรการที่จะส่งเสริมการผลิตรายการคุณภาพให้กับช่อง โดยเฉพาะช่องเด็กและครอบครัวที่โฆษณาไม่ค่อยเข้า" ฉลองรัฐอธิบาย
สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระ เจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องทีวีดิจิตอลในประเทศไทย
จาก Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า นี่ไม่ใช่กระบวนการที่ง่าย
กสทช.ต้องส่งเรื่องแจ้งว่าบริษัทนี้ไม่ได้ชำระค่าใช้จ่ายและมีโทษอย่างไรบ้าง
ในหลายกรณีเราได้เรียนรู้แล้วคืออาจมีการให้เวลาถึงไหน
เมื่อมีเบี้ยปรับ คำสั่งระงับชั่วคราว มาถึงขั้นสุดท้ายคือการเพิกถอนใบอนุญาต
"ขณะเดียวกันต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น กรณีอาจมีการฟ้องร้องแทรกเข้ามา คุณติ๋มอาจตั้งไว้อยู่แล้ว
หรือบริษัทที่ร่วมประมูลอีก 16 กลุ่มอาจสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้อง กสท.ในการปฏิบัติหน้าที่ที่
อาจไม่เป็นไปตามแผนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ดิจิตอล ฉะนั้น ปัจจัยอื่นๆ ต้องดูไปด้วย
ไม่ใช่แค่ว่าไม่จ่ายแล้วผิดเลย ขั้นแรกเลย กสทช.คงต้องประชุม ชี้แจงขั้นตอนตรงนี้ก่อน นี่เป็นเคสแรกที่เกิดขึ้น"
สิขเรศกล่าวต่อว่า "จากการศึกษาทีวีดิจิตอลในต่างประเทศ ต้องใช้ระยะเวลาตั้งตัว 5-7 ปี ไม่มีทางที่ 1-2 ปี เราจะรุ่งเลย
ในต่างประเทศมีทั้งตัวอย่างที่ดีและไม่ดี เช่น สหราชอาณาจักรเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีดิจิตอลครั้งแรกคือปี 2002
แต่ล้มเหลวเพราะงบประมาณ แล้วเริ่มทำใหม่ปี 2008-2012
เมื่อรัฐมีนโยบายสนับสนุนและเข้าใจสภาพการณ์ตลาดโทรทัศน์ดิจิตอลได้ดียิ่งขึ้น สามารถร่วมมือกันทำให้กิจการดำเนินการไปได้
"ส่วนในฝรั่งเศส ผลประกอบการต้องมีสถิติที่ชัดเจน ใช้เวลาประมาณ 5 ปี สถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ๆ จึงลืมตาอ้าปากได้
แย่งส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ประกอบการรายเดิมได้ หรืออย่างสหรัฐอเมริกามีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเป็นช่วงเวลาสำคัญ
อย่างการแจกคูปองเซตท็อปบ๊อกซ์ก็ไม่ใช่แจกปีเดียวแล้วจบ เขามีกระบวนการในการตรวจสอบ การแจก
การสนับสนุนภาคประชาชน การประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ 4-5 ปีที่เขาทำต่อเนื่องกันไป
"ประเทศไทยควรกลับมาประเมินตัวเอง รู้สึกเศร้าใจมากที่ธุรกิจมูลค่าแสนล้านแต่การประชาสัมพันธ์ยังไม่มีแผนเชิงรุก
"กสทช.ควรทำตามโรดแมปที่ตัวเองวางไว้ เช่น เรื่องโครงข่ายต้องทำให้บรรลุผลในเชิงปริมาณ
ส่วนเชิงคุณภาพตอนนี้มีเสียงท้วงติงว่าบางโครงข่ายหายไปเลย จึงต้องดูแลโครงข่ายให้ใช้งานได้ปกติ"
ด้วยรักและห่วงใย สิขเรศทิ้งหมัดไว้ว่า กสทช.ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน
บางเรื่องต้องปล่อยให้เป็นกลไกทางธุรกิจ แต่บางเรื่องที่ กสทช.รับปากไว้แล้วก็ต้องทำให้ได้