http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1437551631
บทบาทพนักงานอัยการญี่ปุ่น กับการใช้ดุลพินิจ
ในการสอบสวนและดำเนินคดีอาญา (ตอนที่2)โดย อรรถพล ใหญ่สว่าง3. หลักการฟ้องคดีอาญาโดยพนักงานอัยการ
ปัจจุบัน หลักการฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ที่นานาประเทศใช้นั้น
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ หลักการฟ้องคดีอาญาตามกฎหมาย (Legality Principle)
และหลักการฟ้องคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle) ดังนี้
(1) หลักการฟ้องคดีอาญาตามกฎหมาย (Legality Principle)
หลักการฟ้องคดีอาญาตามกฎหมาย มีหลักว่า เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น
เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวน โดยไม่คำนึงว่า จะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่
เมื่อสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการเห็นว่า มีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดกฎหมาย
พนักงานอัยการต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นหลักประกันแห่งความเสมอภาคตามกฎหมาย
ทั้งป้องกันมิให้เกิดการใช้อิทธิพลที่มิชอบด้วยความยุติธรรม ต่อการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ
และเมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว จะถอนฟ้องมิได้ เพราะถือว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว
โดยประเทศที่นำหลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายมาใช้ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี อิตาลี และสเปน เป็นต้น
(2) หลักการฟ้องคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle)
หลักการฟ้องคดีอาญาตามดุลพินิจเป็นระบบที่ให้เจ้าพนักงานฝ่ายบริหาร มีบทบาทเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
ในกระบวนการยุติธรรม เจ้าพนักงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานอัยการ สามารถใช้ดุลพินิจสั่งคดีได้
โดยพิจารณาถึงการค้นหาความจริง (Finds Facts) ภูมิหลังของผู้ต้องหาพยานหลักฐาน พยานบุคคล สิ่งแวดล้อม
ตลอดจนนโยบายของรัฐ การปรับข้อเท็จจริงเข้ากับหลักกฎหมาย (Applies Law)
รวมทั้ง การพิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ในสถานการณ์นั้นๆ ภายหลังจากที่ทราบข้อเท็จจริง
และข้อกฎหมายแล้ว (Decides what is desirable in the circumstances after the facts and the law are known)
พนักงานอัยการอาจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องในคดีบางคดี แม้จะปรากฏว่า มีหลักฐานเพียงพอมีเหตุควรเชื่อว่า
ผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริง โดยให้ใช้ดุลพินิจพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นคดีๆ ไป
โดยพิจารณาไม่ยิ่งหย่อนกว่าข้อพิจารณาด้านกฎหมาย
โดยเห็นว่าการลงโทษจะต้องให้เหมาะสมกับความผิด และความชั่วของผู้กระทำความผิด
เพื่อให้เขาได้มีโอกาสในการปรับปรุงตนเอง ไม่กระทำความผิดเช่นนั้นซ้ำขึ้นอีก
และเพื่อให้กลับสู่สังคมอีกได้โดยประเทศที่ใช้หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ
เช่น ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น
4.จริยธรรมและมาตรฐานการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการในทางสากล
จริยธรรมและมาตรฐานการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการในทางสากล
ก็ได้แสดงถึงแก่นจริยธรรมแห่งวิชาชีพพนักงานอัยการตรงกันในสาระสำคัญ
ประกอบด้วยหลักการใหญ่ 6 ประการ กล่าวคือ
(1) ต้องรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นพนักงานอัยการ
(2) ต้องมีความเที่ยงธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นกลางปราศจากอคติ
ไม่ยอมให้อิทธิพลหรืออคติใดๆ มาอยู่เหนือการวินิจฉัยหรือการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการ
(3) ต้องมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพกฎหมายและการปฏิบัติงานสมกับการเป็นพนักงานอัยการ
โดยเป็นไปอย่างรอบคอบและรวดเร็ว
(4) ต้องมีจิตสำนึกที่มุ่งมั่นในการรักษาผลประโยชน์ของสาธารณชนและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(5) ต้องดำเนินบทบาทที่แข็งขันในการตรวจสอบให้ได้ความจริงตามหลักนิติธรรมเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรม
(6) ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมและให้ความร่วมมือที่ดีในการอำนวยความยุติธรรม
5. บทบาทพนักงานอัยการญี่ปุ่นกับการใช้ดุลพินิจในการสอบสวนและดำเนินคดีอาญา
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ขณะที่ผู้เขียนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดนั้น
ผู้เขียนได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงและพนักงานอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุด
เข้าเยี่ยมคารวะอัยการสูงสุดแห่งประเทศญี่ปุ่น ณ สำนักงานอัยการสูงสุด กรุงโตเกียว
เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่อัยการสูงสุดแห่งประเทศญี่ปุ่น เข้ารับตำแหน่งใหม่
แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ทำงานในตำแหน่งอัยการสูงสุดระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
รวมทั้ง เพื่อส่งพนักงานอัยการไทยไปเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมระบบงานยุติธรรม
และเทคนิคการสอบสวนจากพนักงานอัยการญี่ปุ่น
จึงทำให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้โดยตรงจากอัยการสูงสุดแห่งประเทศญี่ปุ่นว่า
ในอดีต การดำเนินคดีอาญาในประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน
การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาจึงเริ่มจากการร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย
จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของในการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีอาญา
โดยศาลมักมีการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงโดยวิธีทรมาน เพื่อให้รับสารภาพ
เช่นเดียวกับระบบศาลไต่สวนยุคแรกในทวีปยุโรป
ต่อมาในปี ค.ศ.1868 ประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากประเทศภาคพื้นยุโรป
จึงเลิกระบบการทรมานเพื่อค้นหาความจริง ในปี ค.ศ.1872 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานอัยการญี่ปุ่น
เพื่อรับผิดชอบในการสอบสวนฟ้องร้องคดีอาญาทั้งระบบ และต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1948
ได้มีการยกฐานะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งประเทศญี่ปุ่น (Homucho) ขึ้น
โดยให้มีอำนาจหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายสูงสุดของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบร่างกฎหมาย และสนธิสัญญา ศึกษาวิจัยระบบงานยุติธรรมและกฎหมาย
รวมทั้งการปฏิบัติงานด้านคดีแพ่ง คดีปกครอง และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ พนักงานอัยการมักจะได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารในกระทรวงยุติธรรม
เช่น อธิบดีกรมสำคัญหรือผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าdkiกระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ เนื่องจากพนักงานอัยกา
รเป็นดั่งทนายความของแผ่นดิน เป็นตัวแทนประโยชน์สาธารณะ
และสาธารณชนให้ความเชื่อมั่นต่อวิชาชีพพนักงานอัยการมาก
และเนื่องจากปรัชญาการทำงานของพนักงานอัยการ ประเทศญี่ปุ่นนั้น
ถือหลักว่า "พนักงานอัยการต้องควบคุมการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย
บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ถูกต้องเป็นธรรม ควบคุมกระบวนพิจารณาคดีอาญาในชั้นศาลให้ถูกต้อง (Due Process 0f Law)
โดยจะต้องไม่มีผู้บริสุทธิ์คนใดต้องถูกลงโทษ"
ดังนั้น พนักงานอัยการจึงมีบทบาทที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
เช่น มีอำนาจเต็มที่ในการใช้ดุลพินิจที่จะทำการสอบสวนคดีอาญาได้ทุกคดี
และมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการมีดุลพินิจที่จะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา
หรือเป็นตัวแทนของรัฐในการดำเนินคดีอาญาในศาล
โดยผู้เสียหายหรือประชาชนไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลโดยตรงได้
รวมทั้ง มีอำนาจกำกับดูแลการบังคับตามคำพิพากษาด้วยตามลำดับ
6.สถานะของพนักงานอัยการญี่ปุ่น
พนักงานอัยการแต่งตั้งโดยพระบรมราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิ เช่นเดียวกับผู้พิพากษา
จึงมีสถานะที่เท่าเทียมกัน สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งประเทศญี่ปุ่น (Homucho)
กำหนดตำแหน่งข้าราชการอัยการออกเป็น อัยการสูงสุด (KenjiSouchou) รองอัยการสูงสุด (Jichou Kenji)
หัวหน้าสำนักงานอัยการอุทธรณ์ (Kenjichou) พนักงานอัยการ (Kenji) และพนักงานอัยการผู้ช่วย (FukuKenji)
การแต่งตั้งหรือปลดจากตำแหน่งอัยการสูงสุด ทำโดยคณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของสมเด็จพระจักรพรรดิ
ส่วนการแต่งตั้งหรือปลดพนักงานอัยการหรือพนักงานอัยการผู้ช่วย ทำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ พนักงานอัยการมีความเป็นอิสระ โดยปลอดจากอิทธิพลในทางการเมืองและอิทธิพลที่ไม่ชอบต่างๆ
พนักงานอัยการไม่สามารถถูกให้ออกจากงาน หรือถูกพักงาน หรือลดเงินเดือน ยกเว้นการถูกดำเนินการทางวินัยหรือเหตุอื่น
พนักงานอัยการจะเกษียณเมื่ออายุ 63 ปี ยกเว้น อัยการสูงสุดจะเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี
เหตุที่สถานภาพของพนักงานอัยการจะต้องมีความเป็นอิสระนั้น เนื่องจากภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการทำงาน
จำเป็นจะต้องป้องกันมิให้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซงการทำงาน
พนักงานอัยการญี่ปุ่นจึงมีสถานภาพเท่าเทียมกับข้าราชการตุลาการ นอกจากนี้
พนักงานอัยการต้องมีความเป็นกลางและเป็นตัวแทนของผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) ด้วย
อนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นใช้ระบบการฟ้องคดีอาญาโดยรัฐ พนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา
โดยผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องคดีอาญาเองได้ พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีอาญา
ตามหลักการฟ้องคดีอาญาตามดุลพินิจ (OpportunityPrinciple) โดยมีข้อสังเกตว่า การให้พนักงานอัยการ
มีอำนาจการสอบสวนคดีอาญานั้น เพราะต้องการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเรื่องการสอบสวนคดีอาญาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เนื่องจากในปี ค.ศ. 1896 ศาลได้ยกฟ้องคดีอาญาที่ผ่านการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นจำนวนมาก
ประชาชนที่มีความรู้และนักวิชาการทางกฎหมายต่างๆ จึงมีการเรียกร้องให้พนักงานอัยการเข้ามารับผิดชอบ
ในการสอบสวนคดีอาญาแทน เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการฟ้องคดีอาญา โดยปราศจากพยานหลักฐานที่หนักแน่นและเพียงพอ
ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าพนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินคดีอาญาในศาล จึงทำให้ทราบว่า จะพิสูจน์ความผิดของจำเลย
ให้ศาลลงโทษโดยปราศจากข้อสงสัยได้อย่างไร และจากเหตุผลทางสถิติเมื่อปี ค.ศ.1986
ก่อนพนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนจากตำรวจ พบว่ามีอัตราส่วนการฟ้อง
การยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและการยกฟ้องในชั้นการพิจารณาคดีของศาล คือ 80%, 44%, 7% ตามลำดับ
ต่อมาเมื่อพนักงานอัยการเข้ามารับผิดชอบในการสอบสวนคดีอาญาแทน ในการนี้ มีการสำรวจทางสถิติพบว่า
คดีอาญาที่สอบสวนโดยพนักงานอัยการนั้น มีอัตราส่วนการยกฟ้องของศาล ลดต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง
โดยพบว่ามีอัตราส่วนการฟ้องการยกฟ้องในชั้นการพิจารณาคดีของศาล คือ 31%, 5%, 1.6% ตามลำดับ
จึงมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเปลี่ยนให้พนักงานอัยการเข้ามารับผิดชอบ
และควบคุมการสอบสวนคดีอาญาทั้งระบบ โดยประชาชนได้สนับสนุนและเชื่อมั่นให้พนักงานอัยการ
เป็นผู้ทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญาจนถึงปัจจุบัน
และในปัจจุบันนี้ การพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ จะเป็นไปอย่างรอบคอบ
เพราะในประเทศญี่ปุ่น พนักงานอัยการจะสั่งฟ้องคดีอาญา ต่อเมื่อพนักงานอัยการมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในพยานหลักฐาน
ที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริงและศาลจะพิพากษาว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดต่อกฎหมาย
แต่ถ้าพนักงานอัยการไม่มีความมั่นใจและไม่เชื่อมั่นในพยานหลักฐาน ที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน
หรือมีความเป็นไปได้ว่า ศาลอาจพิพากษาว่า ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมาย
พนักงานอัยการก็จะทำคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาต่อไป