ผลกระทบที่ตามมาของบทภาพยนตร์ต่อผู้ชมและสังคม
Spoil:
13 เกมสยอง ฟ้า Seven
Titanic Devils Advocate The Legend of Bagger Vance
Hero IL MARE The Lake House
The Host Click Cars
เราเคยสังเกตจิตใจของตัวเองบ้างมั๊ยครับว่า หลังจากที่ชมภาพยนตร์แต่ละเรื่องจบแล้ว ความรู้สึก สภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร ทั้งเมื่อเพิ่งจบใหม่ๆและผลที่ตามมาหลังจากนั้น ทั้งในระยะยาวหรือระยะสั้น คิดว่าถ้าจะพอจำกันได้บ้างก็คือห้วงเวลาที่เพิ่งออกจากโรง หนังจบใหม่ๆ เราจะพอจำได้ว่าหนังสนุกแค่ไหน ตื่นเต้นแค่ไหน เป็นที่พอใจจนหากมีคนถามว่าดีมั๊ยน่าดูมั๊ย เราจะบอกเค้าได้ยังไง แต่หนังบางเรื่องอาจประทับอะไรบางอย่างไว้ที่คนดูได้มากกว่าความรู้สึกที่ว่ามา
หลายๆท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์เพิ่มเติมจากนั้น เช่น หลังจากดูหนังผีที่สุดท้ายแล้วตอนจบ ผีมันฆ่าคนจนหมดทั้งเมืองแล้วจบลงโดยที่ผีชนะคน จบลงว่าคนตายกันทั้งเมืองให้ผียึดครองโลก หรือหนังบู๊ที่ดูกันอย่างสนุก มันส์ ตื่นเต้น ลุ้นว่าฝ่ายธรรมะจะพิชิตอธรรมอย่างไร ด้วยกลเม็ดไหน แต่สุดท้าย พระเอกหรือนางเอกตาย !! หรือหนังที่เดินเรื่องไปเรื่อย ทั้งที่อาจจะสนุกตื่นเต้นน่าติดตามมาตลอด แต่จบลงด้วยหลักการ หรือภาษาภาพยนตร์ที่เรียกว่าธีม (Theme) ที่ว่า ทำดีแต่ไม่ได้ดี พูดง่ายๆคือ คนดีไม่รอด คนชั่วรอยนวล !!
จริงอยู่ที่ในชีวิตจริง มันก็เป็นแบบนั้นอยู่ไม่น้อย คนเขียนบทอาจจะมีแนวความคิดในเชิง อยากเสนอหรือกระตุ้นให้คนดูตระหนักถึงความเป็นจริงในสังคมมนุษย์ จึงเขียนให้หนังมันจบลงแบบนั้น แต่ความรู้สึกของคนดู(ซึ่งจ่ายตังค์ค่าตั๋ว)อาจจะกลับออกไปด้วยความหดหู่ ด้วยความเสียวสยอง ด้วยความสิ้นหวังต่อสังคมมนุษย์ ซึ่งหากแบบนั้นแล้วก็คงไม่ดีสักเท่าไหร่นัก อีกสาเหตุหนึ่งที่การจบลงของบทภาพยนตร์เป็นแบบนั้น อาจจะอนุมานได้ว่า มันเป็นการจบลงแบบไม่น้ำเน่า มีแนวความคิดแบบนึงคิดว่า การจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งเป็นหนังน้ำเน่า จึงเกิดความคิดกลับไปในอีกทาง หรืออีกคำหนึ่งเรียกว่าหักมุม ลองนึกเล่นๆว่า ขณะขับรถหรือเดินกลับบ้าน จู่ๆเราก็ไปเจอภาพของอุบัติเหตุ มีรถชนกันแหลก บางคนกระเด็นออกมานอนเรี่ยราดกลางถนน สภาพแหลกเหลว บ้างก็คอขาด แขนขากระเด็นไปคนละทิศละทาง กลับไปถึงบ้าน วันรุ่งขึ้น วันถัดไป ท่านจะรู้สึกอย่างไร กว่าจะลืมความหดหู่สยดสยองได้ก็กินไปเป็นอาทิตย์หรือบางคนติดตาไปนาน หนังคงไม่มีผลขนาดและนานขนาดนั้น แต่นี่เป็นการเปรียบเทียบว่า หากคนดู(ซึ่งจ่ายเงินค่าตั๋ว)กลับออกไปด้วยความรู้สึกไม่ดี หดหู่ สิ้นหวัง ฯลฯ มันดีไหมที่เราจะสร้างหนังแบบนั้นให้เขาดู ......
ในเชิงศิลปะภาพยนตร์ ผมไม่เถียงว่าการจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งนั้นเสี่ยงต่อการเป็นหนังน้ำเน่าในหนังบางประเภท เน้นนะครับว่า บางประเภท แต่อย่าลืมว่า หนังอีกบางประเภท คนดูจะมีความสุขกลับออกไปได้ หนังต้องจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง จะแฮปปี้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องแฮปปี้ ยกตัวอย่างหนังบู๊ (Action) เพื่อนพระเอก เพื่อนนางเอก อาจจะตายไปทีละคนๆ พ่อพระเอก แม่นางเอก อาจจะสุดท้ายต้องตายอย่างเสียไม่ได้ ก็เป็นที่ยอมรับของคนดู แต่ถ้าพระเอก หรือนางเอกตาย คนดูจะค่อนข้างเศร้าออกจากโรงไป ซึ่งไม่น่าจะดีนัก แต่หนังบางประเภทก็เป็นที่ยอมรับได้ว่า การจบลงแบบไม่แฮปปี้เอนดิ้งนั้น จะจารึกความซาบซึ้งและความทรงจำดีๆไปได้ คนเขียนบทจึงควรแยกแยะสองประเด็นนี้ให้ออก เพื่อมอบความสุข ความหมายที่ดีๆ ความรู้สึกที่ดีๆมีประโยชน์และจรรโลงชีวิตต่อเพื่อนมนุษย์หรือผู้มีอุปการะคุณที่ซื้อตั๋วมาดูหนังดูละครของเรา
ร่ายไปร่ายมาอาจจะเห็นภาพไม่ชัด ขอยกตัวอย่างกันไปเลยจะเห็นภาพชัดกว่า ผมขออิงหนังฮอลลีวู้ดเลยนะครับ ใครจะว่าหนังฮอลลีวู้ดเป็นหนังตลาด คุณค่าเชิงศิลปะต่ำ ผมก็คงเถียงไม่ขึ้น แต่ที่ขออิงก็เพราะ หนังฮอลลีวู้ดนี่แหละที่ทำเงินมากที่สุดในตลาดภาพยนตร์ ไม่ว่าจะไปเทียบที่ไหนๆ นั่นคือ เป็นหนังที่คนดูมากที่สุดในโลก ผมไม่เถียงว่าหนังที่มาฉายตามเทศกาลภาพยนตร์นั้นค่อนข้างถูกคัดกรองมาอย่างดี ว่ามีคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์สูง แต่ .. แต่ศิลปะชั้นสูงก็มีคนไม่มากนักที่เข้าใจหรือเข้าถึง บทความนี้ขออนุญาตเน้นไปที่คนดูแบบชาวบ้านๆซะมากกว่า แต่ก็ไม่ลงไปถึงกลุ่มคนดูละครน้ำเน่านะครับ เอาเป็นว่าระดับกลาง หรือจะว่าไปแล้วคือระดับของหนังที่ทำเงินเยอะที่สุดในตลาดก็แล้วกัน
จากประสบการณ์อันน้อยนิดที่เป็นเพียงผู้ชมคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีอาชีพโดยตรงในวงการภาพยนต์ (เมื่อเทียบกับเซียนนักวิจารณ์หนังหรือผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการบันเทิงมานาน) ผมสังเกตได้ว่า หนังฝั่งเอเชียเราจะออกแนวที่กล่าวมาข้างต้นค่อนข้างมากกว่าหนังฮอลลีวู้ด ทั้งๆที่หนังฮอลลีวู้ดมีปริมาณออกสู่ตลาดมากกว่า แต่ผมเจอหนังเอเชียที่เป็นอย่างที่กล่าวมานับเป็นจำนวนเรื่องมากกว่าเสียอีก ขอย้อนกลับไปนิดนึงตรงประเด็นที่ว่า จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งหรือไม่แฮปปี้เอ็นดิ้งแบบไม่น้ำเน่าแล้วทำให้คนดูกลับออกไปด้วยความรู้สึกดีๆ ไม่ว่าจะดีด้วยด้วยแสงสว่างหรือความหวัง ด้วยแนวความคิดที่จะไปปรับปรุงชีวิต ด้วยปรัชญาบางอย่าง หรือด้วยรอยจารึกแห่งความซาบซึ้งใจในความดีงาม เสียสละ ฯลฯของตัวละครที่สุดท้ายอาจต้องตายไป(เข้าข่ายไม่แฮปปี้เอ็นดิ้ง) หรือแม้กระทั่งด้วยความสนุกสนานบันเทิงอิ่มเอิบใจจากหนังที่ไม่ได้ให้สาระเลยแม้แต่น้อย(แต่ให้ความบันเทิงใจ) ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่นักเขียนบท ผู้สร้างภาพยนตร์ควรจะคำนึงถึง หนังที่ดีมีคนชอบมีคนชม(ว่าดี ไม่ใช่ชมที่หมายความว่าดู)อย่างกว้างขวาง น่าจะเป็นหนังที่จรรโลงชีวิตจิตใจคนมากกว่าหนังที่เอาแต่สะใจ จริงอยู่หนังที่เอาแต่สะใจอาจจะมีคนบางกลุ่มบอกว่า ดีมั่กๆ แต่หากหนังเรื่องนั้นเดินไปหรือจบลงไปในทางตรงกันข้ามกับการจรรโลงสังคมมนุษย์ไปในทางที่ดีแล้ว คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นส่วนใหญ่จะรู้สึกอย่างไร
เริ่มยกตัวอย่างกันเลยดีกว่าจะได้เห็นภาพกันชัดๆ ถือว่าเป็นการวิจารณ์ไปด้วยเลยก็ได้นะครับ (ความเห็นส่วนตัวนะครับ)
ล่าสุด สดๆร้อนๆและกำลังฉายอยู่เลย 13 เกมสยอง เริ่มตั้งแต่เห็นหนังตัวอย่าง ผมนึกชมเลยว่า คนไทยเริ่มคิดพล็อตที่สร้างสรร หรือแหวกแนวได้อย่างฝรั่งแล้ว จนไปชมเรื่องนี้เข้าจริงๆ ระหว่างการชมเรื่องนี้ ผมนึกชมอย่างที่กล่าวมาตลอดทั้งเรื่อง ดี ดีมาก เริ่มเก่งแบบฝรั่งเข้าแล้ว แม้จะมีบางส่วนขัดๆไปบ้างนิดหน่อย แต่ก็ยอมหลับตาให้ข้างนึง ถือว่า ก้าวมามากเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับหนังไทยเรื่องอื่นๆที่มีแต่ หนังตลกติงต๊องบ้องตื้น (ที่ตลกไม่จริง ฝืด และทิ้งความรู้สึกขัดๆให้กับคนดูติดมือออกมาจากโรง) หรือหนังผีๆทั้งหลาย หรือหนังที่เอาเรื่องเก่าๆมาสร้างใหม่โดยที่ไม่ต้องคิดพล๊อตใหม่ ...... จนสุดท้าย เสียอยู่นิดเดียว นิดเดียวจริงๆครับ (ผู้สร้างผู้เขียนบทอย่าเสียกำลังใจนะครับ อย่าลืมว่าผมชมมาตลอดทั้งเรื่อง อีกอย่าง ผมก็ไม่ใช่ปรมจารย์หรือผู้รู้ในวงการหรอกครับ ) เสียตรงที่ว่า ทำไมให้ พ่อฆ่าลูก ถ้าไม่ผิด ผมเข้าใจว่าธีมThemeของเรื่องจะบอกว่า ชีวิตคนเรามันไม่งดงาม ความชั่วร้ายในมนุษย์มีอยู่ถ้วนหน้าและจะเผยออกมาเมื่อไหร่ก็ไม่แน่ ท่านสร้างออกมาเลยเถิดจนกลายเป็นว่า พ่อก็ฆ่าลูกได้ จริงครับ จริงที่ในชีวิตจริงมันเคยมีแบบนั้น แต่ ... แต่การจบแบบนั้นดูเหมือนจะเป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ว่า ทำดีไม่ได้ดี ชีวิตที่จะอยู่รอดได้ต้องโหดเข้าไว้ ให้กับสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลต่อเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะต่ำ เป็นไปได้ไหมที่จะแปลงท้ายเรื่องเพียงนิดเดียวเป็นว่า ให้เหตุการณ์ตั้งแต่ที่ภูชิตได้รับโทรศัพท์ลึกลับให้เล่นเกมส์ไปจนถึงตอนที่เกมส์สุดท้ายให้แทงพ่อตัวเองกลับมาเป็นแค่ความฝันหรือจินตนาการชั่ววูบ แบบเรื่อง Click หรือ Devils Advocate เลย คือภูชิตได้รับทราบว่าเกมส์ทั้ง 13 เกมส์นั้นจะให้ทำอะไรบ้าง แล้วก็จินตนาการไปเรื่อยๆว่าจะทำอย่างไรให้พิชิตเกมส์ไปได้จนถึงเกมที่ 12 ก่อนสุดท้าย ( ณ บริเวณบันไดหนีไฟของบริษัทนั่นแหละ ) เมื่อฝันหรือจินตนาการไปจนถึงข้อสุดท้ายที่ให้ฆ่าพ่อตัวเอง ก็บรรลุว่า ไม่ควรหลงไหลยึดติดอยู่กับเงินทองผลประโยชน์จนทำร้ายผู้คนมากมายขนาดนี้ และยอมสละเงินรางวัล 100 ล้านโดยไม่แทงพ่อตนเอง แล้วก็ตัดกลับมาที่บริเวณบันไดหนีไฟของบริษัท จบลงโดยการกดหมายเลข 2 ในมือถือ คือ ไม่เล่นเกมส์ แบบนี้จะจรรโลงและช่วยปรับปรุงคุณธรรม จริยธรรมของสังคมมนุษย์ดีกว่ามั๊ยครับ ในประเด็นศิลปะภาพยนตร์ การจบแบบนี้ ถ้าผู้ชมไม่เคยดูเรื่อง Devils Advocate หรือ Click ก็แน่นอนที่จะไม่ทราบว่ามีลักษณะการเล่าเรื่องแบบเดียวกับ Devils Advocate กับ Click หรือถึงแม้เคยดูสองเรื่องนี้มาก่อน การมีลักษณะการเล่าเรื่องที่เหมือนกันก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร เพราะธีมและเนื้อหาของเรื่องต่างกัน ไม่เช่นนั้น Click มิเสียหายว่าเลียนแบบตอนจบอย่าง Devils Advocate หรือ ?? Hero มิเสียหายว่าเลียนแบบการเล่าเรื่องแบบราโชมอนหรือ

ธีมของ Devils Advocate อยู่ที่ เราจะเอาความสามารถที่สูงส่งของเราไปช่วยเหลือคนชั่วเพื่อผลประโยชน์ลาภยศเงินทองหรือ ในขณะที่ธีมของ Click อยู่ที่ การหนีปัญหาของชีวิตจะทำให้เราไม่เข้าใจชีวิตดีพอและสูญเสียห้วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาชีวิตจนมีผลไปสู่ความล้มเหลวของครอบครัว สองเรื่องนี้ใช้วิธีนำเสนอและจบเหมือนกันเด๊ะ แต่ธีมไม่เหมือนกัน ธีมของเรื่อง 13 เกมสยองก็ไม่เหมือนสองเรื่องที่กล่าวมา หากเข้าใจไม่ผิด ธีมของ 13 เกมสยองคือการจะสื่อว่า การทำความดีเป็นคนดีก็อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเสมอไป ถ้าเราจะสื่อกันเพียงเท่านี้แล้วเผยแพร่ออกไปให้กับสังคมหรือเยาวชน มันจะเป็นการยุให้คนเปลี่ยนแนวความคิดที่ว่า ทำดีได้ดี ไปหรือเปล่า การที่สังคมปัจจุบันไม่เป็นไปตามนั้นเป็นเพราะโลกและสังคมมนุษย์ในยุคหลังๆนี้มีการเปลี่ยนแปลง ถูกแทรกซึมด้วยค่านิยมแปลกๆเพี้ยนๆมากเกินไป เราจะสนับสนุนให้สิ่งเหล่าเดินหน้าต่อไปหรือ หรือจะช่วยกันต่อต้านด้วยการดึงคนที่เริ่มท้อแท้กับการทำความดีให้กลับมาช่วยกันทำความดี แล้ววันหนึ่ง การทำความดีจะส่งผลให้คนทำความดีได้ดีเหมือนสมัยก่อน !!! คิดหรือไม่ว่า จบลงแบบนี้แล้ว เยาวชนจะเอาแบบไหนไปเป็นเยี่ยงอย่าง เป็นไปได้มั๊ยที่เราจะเพิ่มธีมเข้าไปอีกนิดนึงจากที่ว่า การทำความดีอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเสมอไป เพิ่มต่อออกไปอีกว่า แต่การหลงติดอยู่กับหลักการที่ว่าการทำความดีอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเสมอไป จะทำให้เราจมดิ่งลงไปสู่หายนะมากๆขึ้น เราควรฉุดรั้งดึงตัวเองออกจากบ่วงนั้น และตั้งหน้าทำความดีต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมบางอย่างในสังคม จนวันหนึ่งความไม่ยุติธรรมเหล่านั้นจะหมดไปจากสังคม" !!!!! จบแฮปปี้เอ็นดิ้งแบบนี้จะน้ำเน่ามั๊ยครับ
ตัวอย่างถัดไปที่อยากวิจารณ์คือเรื่อง ฟ้า หนังบู๊ของเราเมื่อหลายปีมาแล้ว ต้องยอมรับว่า ณ ช่วงเวลานั้น เรื่องฟ้า เป็นหนังไทยที่ผู้สร้างพยายามจะไม่ให้เป็นหนังน้ำเน่าได้ดีทีเดียว แต่ด้วยความรู้สึกส่วนตัว ผมก็ว่าหนังเรื่องนี้พลาดตอนจบไปนิดเดียว คือปล่อยให้นางเอกตาย ถ้าเราสังเกตหนังฮอลลีวู้ด(อีกแล้ว) จะเห็นว่า อาการแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นง่ายๆ ความสะเทือนใจที่คนดีต้องตายไป หนังฮอลลีวู้ดมักจะให้เกิดกับเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือหนักๆเข้าก็พ่อแม่คนใดคนหนึ่งของพระเอกหรือนางเอก เค้าจะให้ตายไปทีละนิดทีละหน่อย แต่สุดท้ายมักจะให้พระเอกนางเอกรอด มองแบบนักเขียนบท บางคนอาจบอกว่ามันน้ำเน่า ครับ ก็คงไม่ผิด แต่ ... แต่ทำไมหนังฮอลลีวู้ด ซึ่งทำเงินเยอะที่สุดในตลาดยังคงมักให้หนังแอคชั่นจบลงแบบนั้น

? ผมคิดเอาของผมเองนะครับว่า เพราะหนังแอคชั่นมันไม่ค่อยมีสาระอะไรกับคนดูเหมือนหนังดราม่า เช่นนั้นแล้ว สิ่งดีๆความรู้สึกดีๆที่หนังจะให้คนดูกลับออกไปจากโรงคืออะไร มันก็คือภาพและผลลัพธ์ของหนังที่จบลงดีๆ ให้คนดูกลับออกไปด้วยความชื่นอกชื่นใจ ไม่ต้องกลับไปฝันร้ายหรือเกิดอาการติดตาคล้ายกับที่ตัวอย่างที่ว่าก่อนถึงบ้านเจอศพเรียงกันเต็มถนนแล้วจะกลับไปติดตาอีกนานเท่าไร
ถึงตรงนี้อย่าหาว่าวิจารณ์แต่หนังไทยนะครับ ถัดไปคือหนังเกาหลีที่ได้ยินว่าใช้ทีม Visual Effect เดียวกับ Harry Porter 4 และ Pirate of the Caribbean 2 คือ The Host หนังเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดที่กลายพันธุ์มาจากปลาในแม่น้ำจนเป็นสัตว์ตัวมหึมาเนื่องมาจากการทิ้งสารเคมีลงแม่น้ำของห้องทดลอง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นปิดโฆษณาหรือหนังตัวอย่าง ต่างก็ชูโรงให้หนูน้อยฮุนเซียวเป็นตัวเอก หนังให้สัตว์ประหลาดโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำฮาน อาละวาดไล่กัดกินผู้คนริมแม่น้ำ จนแม่หนูฮุนเซียวโดนจับไป โดยไม่ตาย ถูกสัตว์ประหลาดเอาไปเก็บไว้กับศพอื่นๆในซอกหลืบแห่งหนึ่งริมแม่น้ำฮาน หนังให้ฮุนเซียวใช้โทรศัพท์มือถือโทรมาบอกพ่อว่ายังไม่ตาย ครอบครัวของฮุนเซียวที่สิ้นหวังไปแล้วกลับมีความหวังขึ้นมา แต่รัฐบาลไม่เชื่อว่าหนูน้อยยังมีชีวิต คิดว่าตัวพ่อเพี้ยน จึงไม่ส่งคนออกค้นหา ทำให้ครอบครัวของฮุนเซียวต้องออกตามหากันเองตามมีตามเกิด สุดท้ายก็เจอ แต่ฮุนเซียวตาย พ่อฮุนเซียวได้เด็กจรจัดอีกคนที่ถูกจับไปทีหลังมาเลี้ยงแทน ...... เลยต้องเดินหงอยออกจากโรงเลย !!
ดูแล้วเหมือนกับว่าฮอลลีวู้ดจะเอาใจใส่และคำนึงถึงความอ่อนไหวของคนดูและสังคมดีทีเดียว อีกตัวอย่างที่เห็นได้คือ ฉากบู๊ หนังฮ่องกงมักจะให้สมจริงรุนแรง ซึ่งดูแล้วก็สะใจดี บางเรื่องถึงขั้นเตะถีบหรือฆ่าผู้หญิงกันให้เห็นชัดๆ ซึ่งคิวบู๊ฮอลลีวู้ดในหนังแอ็คชั่นมักจะไม่โหดเท่า อาจจะมีดีกรีความโหดมากขึ้นบ้างในแนว Horror แต่โดยเฉลี่ยแล้วคงไม่เท่าหนังฮ่องกง ซึ่งหนังของเฉินหลงจะเป็นข้อยกเว้น สังเกตได้ไม่ยากว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเฉินหลงคือ เฉินหลงจะไม่ชกต่อยต่อสู้จนคู่ต่อสู้ตายคามือเขา ความรุนแรงไม่โหดเท่าหนังบู๊ฮ่องกงทั่วไป เน้นไปที่ความพริ้วและความสวยงามของท่วงท่ากังฟู จริงอยู่ของเค้ามักจะมีฉากที่ตัวละครตก กระแทกแรงๆแบบจะโชว์ว่าไม่ใช้สตั๊นท์ แต่เค้าจะไม่ค่อยเล่นกับผู้หญิงหนักๆหรือโหดๆ นานๆมีครั้งเช่นมีวิ่งสู้ฟัดอยู่ภาคนึงที่เค้าคว้านางเอกที่กำลังขับมอเตอร์ไซค์ออกไปจนตกลงมานั่งจ้ำเบ้ากับพื้น นั่นคงเป็นอิทธิพลของหนังฮ่องกงทั่วไปที่หลงเหลืออยู่ในวิ่งสู้ฟัดภาคนั้น
ถ้าจะว่าถึง หนังที่จบลงอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งโดยไม่จำเป็นต้องเป็นหนังน้ำเน่าเสมอไป ผมก็นึกถึงหนังอยู่หลายเรื่อง เรื่องแรกต้องบอกว่าเป็นหนังคู่กัน คือ The Lake House ซึ่งคู่กับหนังเกาหลี IL MARE เพราะ The Lake House เอาพล็อต IL MARE มาสร้างใหม่เป็นแบบฉบับฮอลลีวู้ด หนังคู่นี้จบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งได้อย่างสวยงาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้ามมิติของเวลา แต่เป็นเรื่องของความรัก มิใช่แนว Back to the future คือพระเอกกับนางเอกสื่อสารกันผ่านตู้จดหมายของบ้านริมทะเลสาปหลังเดียวกัน แต่สองคนอยู่ห่างกัน 2 ปี ก่อนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง บทได้สร้างสถานการณ์อันเป็นอุปสรรคอย่างน่ากลัวที่จะให้พระเอกต้องโดนรถชนตาย แต่สุดท้ายนางเอกสามารถแก้ทางได้อย่างสวยงามจนพระเอกรอดและก็ได้เจอกันจริงๆในที่สุด (เรื่องนี้อ่านสรุปสั้นๆคงเข้าใจยากนะครับ ต้องดูเองครับ)
หรือล่าสุดคือหนังแอนนิเมชั่นเรื่อง CARS จะเห็นว่าตอนท้ายของเรื่องมีรถ 3 คันเข้าชิงชัยกัน คันพระเอกก็คือพระเอก คันถัดมาคือแชมป์เก่าที่จะแข่งนัดนี้เป็นนัดสุดท้าย และคันสุดท้ายคือผู้ร้ายหรือนักแข่งตัวโกงนั่นเอง ถ้าคิดบทกันง่ายๆ(หรือจะเรียกว่าน้ำเน่าของเซียนก็ได้) ก็คงให้จบลงแบบง่ายๆว่า สู้กันไปสู้กันมาตลอดการแข่งขันแล้วสุดท้ายก็พระเอกเข้าเส้นชัยได้ที่หนึ่ง แต่ CARS ไม่เป็นเช่นนั้น CARS ให้ตัวโกงเข้าที่หนึ่ง ส่วนพระเอกที่กำลังจะเข้าที่หนึ่งอยู่แล้วกลับถอยรถกลับมาช่วยแชมป์เก่า(ที่กำลังจะอำลาชีวิตการแข่งรถนัดนี้เป็นนัดสุดท้าย) ช่วยเข็นแชมป์เก่าที่โดนตัวโกงชนให้พลิกคว่ำหลายตลบจนจอดแน่นิ่งไปไหนไม่ได้ให้เข้าจนถึงเส้นชัย(แม้ไม่ใช่ที่หนึ่ง)พร้อมกับคำพูดที่ว่า ผมคิดว่าคุณควรอำลาสนามในนัดสุดท้ายด้วยการวิ่งให้ครบรอบจนถึงเส้นชัยนะ !!!! สุดท้าย ตัวโกงได้ถ้วยก็จริง แต่คนโห่กันทั้งสนาม ฝ่ายพระเอกแม้ไม่เป็นผู้ชนะ แต่ก็ได้รับการติดต่อจากสปอนเซอร์ให้เป็นพรีเซนเตอร์ของสินค้าแทนตัวโกงทั้งๆที่ชนะเข้าที่หนึ่ง เห็นมั๊ยครับว่า ทั้งแฮปปี้เอ็นดิ้งและไม่น้ำเน่า แถมถือเป็นแนวการจบแบบใหม่อีกแบบนึงที่ประทับใจคนดูและจรรโลงความเป็นมนุษย์ได้ดีทีเดียว
เรื่องถัดไปที่คล้ายๆกันก็คือ The Legend of Bagger Vance พระเอกเป็นตัวละครที่เคยมีฝีมือการเล่นกอล์ฟที่น่าประทับใจคนในวงการมาก่อน แล้วจู่ๆต้องเข้าสงครามจนทหารลูกน้องตายหมด ตัวเองกลับมาตุภูมิด้วยความรู้สึกว่าตัวเองผิดจนเพี้ยน กินเหล้าเมายา ทิ้งแฟนที่ยังรักตัวเอง ฝีมือกอล์ฟที่เคยโด่งดังก็สูญสิ้น เรื่องนี้แต่งเหตุการณ์เพื่อต้องการให้พระเอกฟื้นจากสภาพย่ำแย่ดังกล่าวด้วยการสร้างเงื่อนไขให้ต้องกลับมาแข่งกอล์ฟนัดประวัติศาสตร์ เป็นการแข่งขันกับมือวางอันดับสูงของประเทศที่มาจากรัฐอื่น ถ้าคิดแบบพื้น(หรือน้ำเน่า) ก็ไม่พ้นต้องจบลงว่า หลังจากขับเคี่ยวกันอย่างหนักหน่วงกับคู่ต่อสู้ สุดท้ายพระเอกก็ชนะที่หนึ่ง หากแต่เรื่องนี้ไม่เป็นเช่นนั้น อ้าว ถ้าพระเอกไม่มาวินเป็นที่หนึ่งแล้วหนังจะจบลงอย่างสวยงามได้อย่างไรเล่า ... สวยครับ เรื่องนี้จบสวยมากๆอีกเช่นกัน หนังเรื่องนี้เดินเรื่องให้พระเอกเริ่มต่อสู้แล้วดีขึ้นๆเรื่อยๆไปในระหว่างการแข่ง เสน่ห์อีกอย่างของเรื่องนี้ที่ต้องบอกว่าสวนกับคำว่าน้ำเน่าคือ พระเอกไม่ได้ดีขึ้นแบบพรวดๆๆไปจนจบเรื่อง หากแต่ดีขึ้นๆ แล้วบางตอนเกิดความฮึกเหิมหยิ่งพยองขึ้นมาบ้างจนทำให้ตกลงไปอีก หนังเรื่องนี้สร้างให้ตัวพระเอกต้องฝ่าฝันกับทั้งภูมิหลังที่ฝังใจ และความอหังการที่เกิดจากความสำเร็จในการตีบางหลุม สุดท้าย หนังเรื่องนี้แสดงออกถึงน้ำใจนักกีฬาที่พระเอกมีในหลุมสุดท้ายของการแข่งขัน ว่าตัวเองทำผิดกติกาเข้าให้แล้วด้วยการไปดึงหญ้าที่อยู่ใกล้ลูกกอล์ฟจนลูกเขยื้อนและบอกกับกรรมการและคู่แข่งขัน (ทั้งที่ไม่บอกก็ไม่รู้) ตามด้วยน้ำใจนักกีฬาของคู่ปรับทั้งสองคนอีกว่า เราไม่อยากชนะคุณด้วยการฟาวล์แบบนี้แล้วตบไหล่พระเอกให้เล่นหลุมสุดท้ายให้จบเกมส์ ซึ่งเกมส์จบลงด้วยทั้งสามคนเสมอกัน สองคนเป็นมือวางอันดับสูงสุดของประเทศ อีกคนเป็นผู้แพ้และเพี้ยนจากสงคราม(แต่มีฝีมือเก่าอยู่ก่อน) จบลงได้สวยงามมากจริงๆ แบบไม่น้ำเน่าด้วย !!!!!
ลองมาดูตัวอย่างหนังฮอลลีวู้ดที่ไม่ได้จบลงอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งบ้าง
Titanic เป็นที่ทราบๆกันแล้วว่า ตอนจบ Jack ตาย ซึ่งถูกต้อง ไม่แฮปปี้เอ็นดิ้ง แต่หนังเค้ามีเหตุผลที่จะให้เป็นแบบนั้น บทเค้าอิงอยู่กับความเป็นจริง (Realistic) ทีเดียวว่า ในชีวิตจริง ฐานะอย่าง Jack และ Rose ไม่น่าจะไปกันได้ตลอดรอดฝั่ง บทสื่อให้เห็นถึงความรักของคนสองคนที่ต่างฐานะกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความผูกพันแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้จริง ความผูกพันและความรักแบบนี้มันโดนใจคน แต่ในที่สุดเค้าต้องจบลงอย่างที่ความเป็นจริงส่วนใหญ่จะเป็นคือ ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ซึ่งเค้าไม่ได้ให้ความที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เกิดจากการขัดขวางของผู้อื่น แต่ให้เกิดจากอุบัติเหตุ การจบลงอย่างไม่แฮปปี้เอ็นดิ้งของเรื่องนี้ถึงแม้จากสร้างความหงอยเหงาเศร้าสร้อยให้คนดูไปนาน แต่ลึกๆแล้วมันทำให้อีกด้านหนึ่งของจิตใจรู้สึกและสัมผัสได้ถึงความงดงามของความรักที่จริงใจ (จนยอมสละชีวิต และไม่ตายจากไปเปล่าๆ แถมยังห่วงใยนางเอกจนต้องกำชับให้สัญญาว่าจะอยู่รอดต่อไปให้ได้) ซึ่งเป็นความประทับที่ดีๆต่อคนดู
Hero ที่นำแสดงโดย Jet Li พระเอกเก็บความแค้นที่จิ๋นซีฮ่องเต้ปราบก๊กเหล่าต่างๆเพื่อรวมชาติและไปส่งผลให้ครอบครัวพระเอกตายยกครัวจนซุ่มฝึกวิทยายุทธเพื่อเข้าสังหารฮ่องเต้ให้ได้ บทให้พระเอกประสบความสำเร็จจนเข้าถึงตัวฮ่องเต้และพร้อมจะสังหารได้แล้ว แต่เมื่อฮ่องเต้ทำให้พระเอกได้ตระหนักถึงความจำเป็นและความจริงใจของฮ่องเต้ที่จะรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นเพื่อให้ประชาราชมีความอยู่เย็นเป็นสุขที่แท้จริง พระเอกถึงกับล้มเลิกความแค้นที่สะสมมานับสิบปีและความตั้งใจที่ที่จะสังหารฮ่องเต้ลง และสุดท้ายจบลงด้วยที่พระเอกก็ยังคงต้องถูกประหาร ครับ ไม่แฮปปี้เอ็นดิ้งเลย แต่มันก็ทำให้คนรู้รับรู้ได้ถึงความดีงามบางอย่างของของคน แถมพ่วงด้วยแนวความคิดในเชิงปกครองและเมตตาธรรมของฮ่องเต้ที่ว่า ฮ่องเต้อยากอภัยโทษให้พระเอก แต่เหล่าขุนนางก็เสนอว่า การคิดลอบปลงพระชนม์สมควรมีโทษถึงตายและควรเคร่งครัดมิให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ตอนจบบอกได้เลยว่าเศร้าและบีบหัวใจคนดูมากทีเดียว แต่ในความเศร้าเสียดายก็ยังแฝงความรู้สึกดีๆเอาไว้ด้วยมากเช่นกัน อีกนิดนึงเกี่ยวกับการเล่าเรื่องของ Hero จะเห็นว่า เรื่องนี้มีลักษณะการเล่าเรื่องคล้ายกับ ราโชมอน มากทีเดียว อย่างนี้แล้วเราจะหาว่า Hero เลียนแบบ ราโชมอน มั๊ย การเล่าอาจใช่ แต่ธีมนั้นไม่เหมือนกันเลย
ไม่ใช่ว่าหนังฮอลลีวู้ดไม่มีแนวจบแบบให้คนดูได้แต่ความหดหู่กลับไปนะครับ นานมาแล้วเคยมีหนังเรื่องนึง (จำชื่อไม่ได้ครับ เพรานานมาแล้วจริงๆ) ที่ตอนจบผีเล่นงานคนจนหมดทั้งเมือง ผมงี้กลับมาหดหู่ไปนานเลย ว่าทำไมมันต้องเป็นแบบนั้นด้วย หรืออย่างเรื่อง Seven ที่ Brad Pitt กับ Morgan Freeman แสดง Brad Pitt ที่เป็นตำรวจที่ตามล่าฆาตกรต่อเนื่อง แต่สุดท้ายจบลงด้วยการที่ภรรยาของตัวเองโดนซะเอง ครับ จบแบบนี้มันไม่น้ำเน่าดี มันไม่เหมือนใครดี มันสะใจดี แต่มันส่งผลอะไรต่อจากนั้นบ้างล่ะครับ มากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ความรุนแรง
ท่านล่ะครับ หลังจากจ่ายตังค์ค่าตั๋วไปแล้ว อยากได้อะไรกลับออกมาจากโรงบ้างล่ะครับ