ขอบคุณท่านผู้การครับ

....ท่านสรุปได้แบบ สั้น กระชับ ได้ใจความ เข้าใจง่ายดีครับ
ขออนุญาตเพิ่มเติมสักนิดนะครับ....
อาวุธปืนที่เจ้าพนักงานตำรวจพกพาติดตัว จะเป็นอาวุธปืนที่เป็นของส่วนตัว หรือเป็นอาวุธปืนของทางราชการที่เบิกมาใช้ ตามมาตรา ๕ ก็ตามแต่มาตรา ๕ ของ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มิให้รวมถึงมาตรา ๘ ทวิ ในเรื่องการพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะด้วย จึงทำให้เจ้าพนักงานตำรวจ จะพกพาอาวุธปืนของราชการหรือของตนเองไปตามถนน หมู่บ้าน ทางสาธารณะได้นั้นต้องอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๘ ทวิ วรรคสาม (๑) ด้วยครับ
หากไม่ได้อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จะพกพาอาวุธปืนได้ ก็ต้องได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ถ้าไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ก็ต้องมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เหมือนกับประชาชนทั่วไป เพราะหากไม่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๘ ทวิ วรรคสาม (๑) และไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แล้วตำรวจผู้นั้น มีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควรตามมาตรา ๘ ทวิ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๓/๒๕๓๙ จำเลย ที่ ๑ รับราชการตำแหน่งรองสารวัตรแผนก ๕ กองกำกับการ ๒ กองปราบปราม กรมตำรวจ ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นใบลาขอหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่วันที่ ๒๒ ถึงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๒ และได้เดินทางไปที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ต่อมาถูกจับและยึดอาวุธปืนของกลางได้ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๒ ที่ห้องพักโรงแรมพลาซ่า อำเภอสุไหงโก-ลก ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ พาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ทั้งการพาอาวุธปืนของ กลางดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะนั้น จำเลยที่ ๑ มิได้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการเนื่องจากจำเลยที่ ๑ มิได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการในท้องที่ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควรด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิด หากเป็นเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ถ้าเฉพาะเรื่องการพกพาอาวุธปืน ใครจะเป็นผู้จับ หากไม่มีเหตุอื่น หรือปัจจัยอื่น ที่จำเป็นต้องให้จับ.... เพราะตามคำพิพากาฎีกาเต็มข้างต้น จำเลยที่๑ กระทำผิดหลายข้อหา ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตาม ป.อาญา มาตรา ๑๔๘ ,ฐานกรรโชกทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา ๓๓๗ ด้วย