ผมเคยตั้งกระทู้ถามเรื่องโดนตร.เรียกกรณีขับรถชิดขวา(แถวอีสาน) วันนี้มีข้อมูลจาก web มาเผยแพร่ครับ ผมพิมพ์ติดรถไว้แจกคนที่โบกรถผมครับอาจจะเป็นเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จึงขอนำ กฎหมายข้อความจริงมาชี้แจงให้ทราบตามกฎหมาย พรบ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 ระบุไว้ว่า
มาตรา ๓๓ ในการขับรถ ผู้ขับขี่ต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้ายและต้องไม่ล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาหรือล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถได้
(๑) ด้านซ้ายของทางเดินรถมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร
(๒) ทางเดินรถนั้นเจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
(๓) ทางเดินรถนั้นกว้างไม่ถึงหกเมตร
มาตรา ๓๔ ในการใช้ทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือที่ได้จัดช่องเดินรถประจำทางไว้ในช่องเดินรถซ้ายสุด ผู้ขับขี่ต้องขับรถในช่องซ้ายสุดหรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทาง เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาของทางเดินรถได้
(๑) ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร
(๒) ทางเดินรถนั้น เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
(๓) จะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก
(๔) เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
(๕)[1] เมื่อผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถในช่องเดินรถด้านซ้าย
มาตรา ๓๕[2] รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้
ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่สองช่องขึ้นไปหรือได้จัดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณี
ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
หมายถึง รถทุกคันต้องชิดซ้าย เว้นแต่ ในมาตรา 33 และ 34
ส่วนใน มาตรา 35 บังคับ รถที่ขับช้า รถบรรทุก และ จักรยานยนต์ ต้องชิดซ้าย โดยยกเว้น รถบรรทุกส่วนบุคคล(รถบ้าน) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1,600 กก. และรถนั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หมายถึง รถเก๋ง ปิดอัพ รถตู้ ที่ทำให้นั่งได้เกิน 7 คน แต่จดทะเบียนแบบรถส่วนบุคคล (รถบ้าน) ไม่ใช่เพื่อขนส่งสาธารณะ
[1] มาตรา ๓๔ (๕) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[2] มาตรา ๓๕ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๙
ขอขอบคุณข้อมูล :
http://www.police.go.th