ATV นี่มันเป็นคำย่อครับ มาจากชื่อเต็มๆ ของมันคือ ALL TERRAIN VEHICLE ซึ่งก็แปลง่ายๆ ว่า ยานยนต์ที่สามารถไปได้ทุกที่ ประมาณนั้นนั่นเอง ลักษณะเด่นๆ ของรถ ATV ที่เห็นได้ชัดๆ คือ มี 4 ล้อ (รุ่นเก่าๆ บางรุ่น อาจจะมี 3 ล้อ ) และมีแฮนด์ เป็นตัวบังคับทิศทางของรถคล้ายมอเตอร์ไซค์ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ ก็คือเครื่องมอเตอร์ไซค์นี่แหละและจุดเด่นของรถ ATV คือ คันเร่งจะไม่ใช้แบบบิดที่ปลอกแฮนด์แบบรถมอเตอร์ไซค์ แต่จะเป็นแบบใช้นิ้วโป้งดันที่ใต้ปลอกแฮนด์ด้านขวามือแทน เพราะว่ารถประเภทนี้ต้องใช้แรงในการเลี้ยวสูง ถ้าใช้คันแร่งแบบบิดปลอกอาจจะทำให้เสียการทรงตัวได้ แต่รถ ATV ใช่จะเหมือนกันหมดทุกรุ่น มีการแบ่งแยกประเภทเอาไว้เหมือนกันตามจุดประสงค์การใช้งาน ไปดูกันเลยดีกว่า
ประเภทแรก เป็น ATV ที่เหมาะกับการขี่เล่น หรือเด็กๆ ผู้ที่เริ่มต้นขี่ ซึ่งรถ ATV ประเภทนี้ จะมีเครื่องยนต์ที่ไม่ใหญ่โต จะอยู่ที่ประมาณ 80 - 125 ซี.ซี. และเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ก็จะไม่เลิศเลออะไรนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่อง 2 และ 4 จังหวะ ระบายความร้อนด้วยอากาศ แรงม้าไม่มาก (ส่วนใหญ่จะไม่ถึง 10 ตัว) ระบบกันสะเทือนก็จะว่ากันง่ายๆ คือ ด้านหน้า อาจจะเป็นแบบคานแข็ง คอยล์สปริงธรรมดาๆ หรือรุ่นที่ดีหน่อยก็อาจจะเป็นแบบอิสระ A-ARM แต่มีเพียงแขนยึดด้านล่างเพียงแขนเดียว ซึ่งต่างกับระบบกันสะเทือนแบบอิสระปีกนกสองชั้นทั่วไป ส่วนด้านหลัง ก็จะเป็นแบบมาตรฐานของรถ ATV ทั่วไปคือเป็นแบบสวิงอาร์ม คานแข็ง ระบบขับเคลื่อนก็มักจะเป็นโซ่เสียเป็นส่วนใหญ่ (ระบบเพลาก็มี) และยึดด้วยช็อคอัพ 1 ตัว รถ ATV ประเภทนี้เน้นความสะดวกสบายในการขับขี่ โดยไม่ต้องวุ่นวายในการเปลี่ยนเกียร์ให้ยุ่งยาก ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กๆ ที่เริ่มต้นมากทีเดียว
ประเภทที่สอง เป็นรถ ATV ที่เน้นการใช้งานแบบสมบุกสมบัน เหมาะกับการใช้งานในไร่ หรือฟาร์ม สามารถนำไปบรรทุกของหนักๆ ได้ โดยมักจะมีตระแกรงบรรทุกไว้ให้ และยังสามารถนำไปลุยป่าฝ่าโคลนแบบรถยนต์ 4WD ได้อีกด้วย สาเหตุที่รถ ATV ประเภทนี้สามารถลุยและบรรทุกของหนักๆ ได้นั้น มาจากเครื่องยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 4 จังหวะ สูบเดี่ยว ความจุกระบอกสูบสูงๆ (250 ซี.ซี. ขึ้นไป) ที่เน้นแรงบิดสูงในรอบต่ำๆ ไม่เน้นความเร็วรอบเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ก็มักจะเป็นแบบอัตโนมัติ หรือ อาจจะเป็นเกียร์แบบรถครอบครัวบ้านเรา คืออาศัยระบบคลัทช์แรงเหวี่ยง ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องมาพะวงกับการบีบคลัทช์ ระบบขับเคลื่อนก็มักจะเป็นแบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา (Full time 4WD) และที่พิเศษของรถ ATV ประเภทนี้ คือ จะมีเกียร์พิเศษช่วยเพิ่มแรงบิด หรือเกียร์สโลว์ แบบรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อนั่นเอง ซึ่งเกียร์สโลว์นี้ จะมีอัตราทดที่สูงกว่าปกติ ช่วยเพิ่มแรงบิดที่ส่งถ่ายมายังล้อได้มาก ช่วยเพิ่มเรี่ยวแรงเวลาปีนป่ายฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ แต่ความเร็วของรถก็จะลดลงไปด้วย และที่พิเศษอีกอย่างคือ ระบบกันสะเทือน ซึ่งในด้านหน้านั้นจะเหมือนรถ ATV ส่วนใหญ่ คือเป็นแบบอิสระ ปีกนกสองชั้น คอยล์สปริง สอดตรงกลางด้วยเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า ส่วนด้านหลังนี่แหละ พิเศษที่บอก คือเป็นแบบคานแข็ง แต่มีการให้ตัวของเพลาได้ (ลืมบอกไปว่ารถประเภทนี้ นิยมใช้เพลาขับเคลื่อนแบบรถยนต์) คือ แขนยึดเพลาท้ายทั้งสองข้างจะอิสระต่อกัน (ไม่เชื่อมติดตายระหว่างแขนยึดทั้งสองข้าง) ทำให้ล้อหลังสามารถบิดตัวไปตามเส้นทางที่ต่างระดับกันได้ ซึ่งเป็นผลดีขณะลุย เพราะล้อจะสัมผัสกับพื้นผิวทางตลอดเวลา ทำให้ลดการเสี่ยงที่จะติดแหงกอยู่กับอุปสรรคต่างๆ แต่ก็จะมีข้อเสียคือ เมื่อใช้ความเร็วสูง จะโคลงตัวอย่างมาก แต่ก็ไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะรถประเภทนี้ไม่เน้นความเร็วสูงอยู่แล้ว และที่พิเศษ (อีกแล้ว) คือ มีวินซ์ หรือ รอกไฟฟ้า แบบรถขับเคลื่อน 4 ล้อเป็นของแต่งอีกต่างหาก
ประเภทที่สาม ATV ประเภทนี้ จะค่อนข้างเน้นความเร็ว ซึ่งจะมีตั้งแต่เร็วระดับใช้งานปกติได้ จนถึงระดับแข่งขัน ซึ่งต้นตอของความเร็วดังกล่าวจะมากจากเครื่องยนต์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 2 จังหวะ ความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 200 ซี.ซี. ขึ้นไป ระบายความร้อนด้วยอากาศ (ในรุ่นที่ราคาถูกหน่อย) จนไปถึงระบายความร้อนด้วยน้ำ (พวกแพงๆ หรือตัวแข่งทั้งหลาย) ระบบคลัทช์และเกียร์ก็จะเป็นแบบแมนน่วล หรือแบบคลัทช์มือ มีเกียร์ให้เล่นหลายๆ เกียร์ อัตราเร่งฉับไว รถแบบนี้นิยมขับเคลื่อนเพียงแค่ 2 ล้อหลัง ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง แต่บางค่าย เช่น POLARIS (ไม่ใช่น้ำดื่มนะจ๊ะ) รถ ATV สัญชาติอเมริกัน จะใช้กันสะเทือนด้านหน้าแบบ แมคเฟอร์สัน สตรัท (หาดูได้จากช่วงล่างด้านหน้าของรถเก๋งขนาดเล็ก เช่น ซิตี้ โซลูน่า เป็นต้น) ส่วนกันสะเทือนหลังมักจะเป็นแบบสวิงอาร์ม คานแข็ง ใช้ช็อคอัพเดี่ยว แต่ประสิทธิภาพสูง และมักใช่โซ่ขับเคลื่อน เพื่อกินแรงเครื่องยนต์ให้น้อยที่สุด ระบบเบรคมักจะเป็นดิสก์เบรคทั้งหน้าและหลัง (รุ่นถูกๆ อาจจะเป็นแบบดรัมเบรคหน้า) ซึ่งรถ ATV ประเภทนี้มักจะเอาไว้ขี่สนองตัณหา เพื่อความมันส์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยนิยมเอามาใช้งาน เพราะรับประทานน้ำมันค่อนข้างมาก
เอาละครับ สาธยายมาซะยืดยาว หวังว่าเพื่อนๆ คงจะรู้จักกับรถ ATV ได้ดีขึ้นนะครับ และบางคนอยากจะหามาไว้เป็นเจ้าของเสียด้วยซิ
เพียงแต่ว่ารถประเภทนี้ไม่สามารถจดทะเบียนมาวิ่งบนท้องถนนได้ จึงซ่าได้เฉพาะนอกถนนเท่านั้น

เครดิตบทความจาก
www.mocyc.com