ได้ข้อมูลเพิ่มเติม บังเอิญแม่เด็กเป็นเพื่อนกับเพื่อนที่ทำงาน และได้ไปงานศพน้องคนนี้มา ครอบครัวนี้มีลูกสาว 1 คน และเด็กที่เสียชีวิตเป็นผู้ชาย พึ่งมีอายุเพียง 8 วัน ทั้งพ่อและแม่แทบจะยังไม่ได้มีโอกาสถ่ายรูปกับลูก สุดท้ายต้องมาถ่ายรูปกับลูกขณะไร้วิญญาญ บอกว่าจากเหตุการณ์พ่อแม่ไม่เป็นอะไร แต่กระสุนเข้าที่ศีรษะของเด็ก ขณะแม่อุ้มอยู่ (ก็เลยคิดกันเล่นๆ ว่า ถ้าไม่ได้อุ้มลูกไว้ กระสุนก็ตรงหน้าอกของแม่พอดี)
ได้สอบถามว่ารายละเอียดวันนั้นเป็นอย่างไร เพื่อนบอกว่าไม่รู้เพราะไม่อยากถามถึงเหตุการณ์ เนื่องจากกลัวจะสะเทือนความรู้สึก ซึ่งเพียงก็บอกว่าปรกติพ่อเด็กก็ไม่ใช่คนใจร้อนอะไร (อันนี้ก็ไม่รู้ว่าพออยู่ในสถานการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร)

พอดีได้รับเมล์ที่เกี่ยวข้องกับกระทู้ และคิดว่านะจะเป็นประโยชน์เลยนำมาโพสท์ให้อ่านกันดู..
การขับรถ คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่ เชียงราย
drwithan@hotmail.comการขับรถเป็นเรื่องราวที่ผมประทับใจเป็นพิเศษ เพราะมีเหตุการณ์สำคัญๆ
เกิดขึ้นในชีวิตผมกับเรื่องการขับรถ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมเคยประสบเหตุการณ์อะไรพิเศษๆ
ประเภทขับรถไปเจอมนุษย์ต่างดาวหรือเคยขับรถข้ามมหาสมุทรข้ามโลกหรืออะไรแบบนั้น
แต่เป็นการขับรถ "ที่เป็นธรรมดาๆ" "ที่เป็นปกติ" ในชีวิตประจำวันนี่แหละ
เมื่อหลายปีก่อนผมอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งของท่านติช นัท ฮันห์ที่ชื่อ Peace Is Every Step
(มีผู้แปลเป็นภาษาไทยแล้วชื่อหนังสือสันติภาพทุกย่างก้าว)
ท่านบอกว่าทุกครั้งที่เห็นสัญญาณไฟแดงในขณะที่ขับรถ ให้ลองถือเสมือนว่าเป็น "สัญญาณเตือน"
ให้เรากลับมาหาตัวเอง ให้กลับมาฝึกลมหายใจของตัวเองทุกครั้ง
ท่านติช นัท ฮันห์เป็นพระชาวเวียดนาม ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านพลัมประเทศฝรั่งเศส
ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นเสาหลักที่สำคัญคนหนึ่งของพุทธศาสนาเคียงคู่กับองค์ทะไลลามะ
ทั้งสองท่านนี้ได้ทำให้พุทธศาสนาเป็นที่ปรากฏและรู้จักไปทั่วโลก คำว่า "ปรากฏและรู้จัก"
ในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่ "ปรากฏและรู้จัก"
ทางภายนอกเท่านั้นแต่รูปธรรมก็คือมีผู้คนทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาหันมาสนใจที่จะ
"ฝึกฝนตัวเอง" อย่างจริงจังในแนวพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก โดยที่ยังคงอาจจะดำรงตนอยู่ในศาสนาเดิม
และไม่จำเป็นจะต้องหันมาทำตัวหรือมาเปลี่ยนศาสนาให้เป็นพุทธศาสนิกใดๆ
จุดเด่นที่เป็นลักษณะพิเศษของท่านติช นัท ฮันห์คือท่านเน้นว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการทำกิจวัตรปกติในชีวิตต่างๆ ได้
เช่นการล้างจาน การถูบ้าน การกินอาหาร รวมไปถึง "การขับรถ"
ไม่จำเป็นจะต้องนุ่งขาวห่มขาวนั่งสมาธิเข้าวัดสร้างวัดเท่านั้นที่ถือว่าเป็น "การปฏิบัติธรรม"
โดยที่ท่านเน้นเรื่อง "การอยู่กับปัจจุบันขณะ" โดยอาศัย "ลมหายใจ" เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ
ผมอยากจะขยายความเพื่ออธิบายเรื่อง "ลมหายใจ" ของท่านนัท ฮันห์อีกสักเล็กน้อย
จุดประสงค์ของการฝึกเรื่องลมหายใจคือเป็นการฝึก "ตัวรู้" ของเรา ให้กลับมาสู่ปัจจุบัน
ผมคิดว่าอุบายของท่าน "แยบยลมาก" ที่มุ่งทำให้เกิด "ความเป็นปกติ" ในชีวิตทั่วๆ
ไปของพวกเรา เมื่อรถติดไฟแดงคนส่วนใหญ่ก็จะ "เผลอหงุดหงิด"
ในช่วงเวลาที่หงุดหงิดหรือวิตกกังวลว่าจะไปทำงานไม่ทัน, ไปถึงที่หมายไม่ทันนั้น คุณกำลังตก "ร่องอารมณ์"
คุณกำลังทำร้ายตัวเองเพราะร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนด้านลบที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมามากมาย ตามที่ผม
ได้เคยให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาหลายครั้งแล้วในบทความครั้งก่อนๆ
การเลือกที่จะกลับมาสู่ "สภาวะแห่งความเป็นปกติ" ด้วยวิธีง่ายๆ
ด้วยลมหายใจนั้นช่วยให้ร่างกายของคุณหลั่งฮอร์โมนด้านบวกอย่างเอ็นดอร์ฟินออกมา
ถ้าเราลองมองในภาพรวมเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าแค่ในช่วงติดไฟแดงเพียงไม่กี่นาทีตรงนั้น
คนที่โดยไม่รู้ตัวเลือกที่จะหงุดหงิดจะมี "ความแตกต่าง" กับคนที่เลือกโดยรู้ตัวที่อยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่จริงมากมายในทุกเรื่อง
ไม่ใช่แค่เรื่องฮอร์โมนบวกลบซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพที่ดีตามที่ผมอธิบายเท่านั้น แต่จะสามารถส่งผลในทุกเรื่องของชีวิต
ประสิทธิภาพในการทำงานได้ดี ความรู้สึกสนุกกับชีวิตอยากเรียนรู้ประสบการณ์ของเอ็นดอร์ฟินเป็นประสบการณ์ที่อบอุ่นหัวใจ
ความสุขในชีวิต ความสัมพันธ์ที่ดีๆ กับคนรอบข้าง ฯลฯ
ในแต่ละวันเราจะพบกับ "กับดัก" ในพื้นที่ของชีวิตนั้นมีมากมายเหลือเกิน พวกเราพร้อมที่จะ"ตกลงไป" "หลุดเข้าไป"
ใน "กับดัก" เหล่านั้นอย่างไม่รู้ตัวเป็นการเข้าไปสู่ "ความไม่ปกติของชีวิต" ซึ่งเรื่องนี้ก็จะนำไปสู่
"การสะสมความเครียด" มากขึ้นไปเรื่อยๆ ทำร้ายร่างกายตัวเองไปเรื่อย ทำร้ายคนรอบข้างไปเรื่อยๆ
และบางคนทำร้ายสังคมไปเรื่อยๆ เช่นกัน
โดยส่วนตัวผมพบประสบการณ์ที่น่าสนใจในเรื่องการฝึกแบบนี้อยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ใหม่ๆ
จะทำค่อนข้างยากคือมักจะลืม แต่ "สัญญาณไฟแดง" แบบที่ท่านนัท ฮันห์แนะนำนี้เป็น"ตัวเตือน" ที่ดีมาก
และเมื่อฝึกเรื่องนี้มากขึ้นๆ น่าแปลกที่เหมือนกับว่าทำให้เรา"เรียนรู้ใหม่" เรียนรู้เส้นทางของความคิดและอารมณ์
"เส้นทางใหม่" ที่จะไม่นำไปสู่ "ฮอร์โมนลบ"
"การเรียนรู้ใหม่" (Re-Learn) ที่ว่านี้ก็ตรงกับที่บรูซ ลิปตันนักชีววิทยาผู้เสนอทฤษฎีเซลล์แบบใหม่ที่บอกว่า
เซลล์ของร่างกายเราสามารถสร้าง "ยีนส์ใหม่" ได้จากผนังเซลล์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำตาม "ความเคยชิน"
ตามที่ยีนส์ในนิวเคลียสได้กำหนดมาไว้แล้ว ลิปตันบอกว่าการเรียนรู้คือการสร้างยีนส์ใหม่ออกมานั่นเอง
โดยส่วนตัวผมพบว่าการขับรถเป็น "บริเวณของชีวิต" ของผมที่ผมสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก
จากเดิมที่ผมเคยหงุดหงิดเป็นประจำและมากถึง 80-90% ของเวลาที่ใช้ในการขับรถมาเหลืออยู่เพียง 10-20% เท่านั้นเดี๋ยวนี้ผมรู้จักรอที่จะให้รถทางขวาไปก่อน ไม่พยายามแย่งชิงจังหวะตัดหน้ากัน
แถมยังสามารถส่งยิ้มส่งความปรารถนาดีๆ ไปให้คนขับคนอื่น
เดี๋ยวนี้ผมรู้จักรอให้รถฝั่งตรงข้ามที่ต้องการจะเลี้ยวขวาเพื่อเข้าซอยที่อยู่ฝั่งผม
เดี๋ยวผมรู้สึกเข้าใจแล้วว่าทำไมมอเตอร์ไซค์หรือจักรยานไม่ค่อยอยากจะชิดซ้ายมากนัก
รู้สึกเข้าใจสามล้อถีบที่ขวางทางอยู่ข้างหน้า ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนจะหงุดหงิดมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ยอมชิดขอบทางและขับเกะกะ
รู้สึกหงุดหงิดกับสามล้อที่ช้าต้วมเตี้ยมขวางทางอยู่ข้างหน้า
และเดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าผมควรจะหยุดรถเพื่อให้คนเดินข้ามถนนและผมพร้อมที่รอคนเหล่านี้ข้ามถนน ทั้งๆที่เมื่อก่อนนี้จะรู้สึกว่า
ถนนเป็นของรถยนต์คนข้ามถนนควรจะต้องรอรถยนต์มากกว่าให้รถยนต์หยุดรอ
ที่เล่ามานี้ก็เพียงแค่เล่าให้เห็นประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าเป็นไปได้ที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงให้มีอารมณ์ดีขึ้นได้โดยผ่าน
"ประสบการณ์ปกติธรรมดาๆ" ที่เราเจอกันอยู่ทุกวี่ทุกวันอย่างเช่นการขับรถนี้
ผมเชื่อว่าหลายท่านจะทำได้เหมือนผมและหลายท่านก็คงจะทำได้ดีกว่าผมไปแล้วด้วยซ้ำ
ที่เล่ามานี้ผมไม่ได้มีเจตโอ้อวดใดๆ ตัวผมยังต้องเรียนรู้ใน "บริเวณอื่นๆ ของชีวิต "อีกมากมาย
ตัวอย่างเช่นในเรื่องการเลี้ยงลูกเป็นตัวอย่างที่ท้าทายยิ่ง
กล่าวคือเป็นบริเวณพื้นที่ของชีวิตที่ผมยังอาจจะทำได้ไม่ดีนัก เป็นต้น
ผมเชื่อว่า เราสามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ปกติธรรมดาๆ ได้เป็นอย่างดี
เราคงต้องรู้สึกขอบคุณชีวิตที่ให้ "แบบฝึกหัด" ต่างๆ
มากมายที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวันที่ทำให้ทุกวันเป็นวันที่เสมือนหนึ่งทำให้เราพบ
"ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" กันได้ตลอดเวลาอย่างที่ติช นัท ฮันห์ได้นำเสนอไว้จริงๆ