
มติชน วันที่ 28 มีนาคม 2551 เวลา 20:40:58 น.
กองทัพเรือจัดสร้าง'เรือดำน้ำ'ลำแรกในไทย ปูทางอนาคตอีก 4 ลำ ปลดประจำการไปแล้ว 70 ปี เผยใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท ยาว 11 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร ระวางน้ำ 27 ตัน ปฏิบัติการที่น้ำลึกไม่เกิน 50 เมตร บรรจุลูกเรือได้ 3 คน ใช้ฝึกกำลังพลให้คุ้นเคย สำรวจแหล่งท
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีปฐมฤกษ์สร้างยานใต้น้ำขนาดเล็ก ที่บริษัท อู่กรุงเทพฯ จำกัด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยยานใต้น้ำดังกล่าว สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ได้ว่าจ้างให้บริษัทอู่กรุงเทพฯ จำกัด จัดสร้างเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งการจ้างสร้างยานใต้น้ำขนาดเล็กนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาที่ สวพ.ทร. เป็นหน่วยเจ้าของโครงการ มี พล.ร.ต.พงศ์สรร ถวิลประวัติ เป็นนายทหารโครงการ ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม จำนวน 24,953,200 บาท และจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 5 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ระหว่างปี 2549-2552
พล.ร.ต.พงศ์สรรกล่าวว่า ที่ผ่านมากองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำเข้าประจำการประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา จำนวน 4 ลำ แต่ได้ปลดระวางไปตามวาระ กองทัพเรือจึงมีแนวคิดที่จะวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับยานใต้น้ำกลับคืนขึ้นมาอีกครั้ง โดยมอบหมายให้ สวพ.ทร.เป็นผู้ดำเนินการวิจัย และนำเสนอให้สำนักวิยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ให้ความเห็นชอบ โดยโครงการวิจัยยานใต้นำขนาดเล็กเริ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2548 ซึ่งประโยชน์ที่ได้ คือการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของยานใต้น้ำขึ้นในประเทศไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางด้านกิจการพลเรือนการทหาร เช่น การสำรวจแหล่งทรัพยากรใต้น้ำ การสำรวจวิจัยพื้นผิวท้องทะเล ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สนับสนุนการตรวจซ่อมโครงสร้างใต้ทะเล เช่น ฐานแท่นขุดเจาะ ท่อใต้ทะเล และสายเคเบิลใต้น้ำ
พล.ร.ต.พงศ์สรรกล่าวว่า โครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่หนึ่ง ศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับขีดความสามารถของยานใต้น้ำเบื้องต้น ค้นหาข้อมูลเพื่อเสนองบฯในการสร้างยานใต้น้ำ ส่วนระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะปัจจุบัน เมื่อผ่านการดำเนินการระยะที่ 1 ทำให้คณะวิจัยมั่นใจว่า สามารถสร้างยานใต้น้ำขึ้นในประเทศไทยได้เอง จึงได้มีการออกแบบ ถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จำเป็นจากต่างประเทศในส่วนที่ต้องการความปลอดภัยสูงและที่จำเป็นต่อการสร้างยานใต้น้ำ เพื่อนำไปสู่การสร้างยานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดคือ 4 ปี
คณะวิจัยกำหนดขนาดมิติและขีดความสามารถของยานใต้น้ำ ดังนี้ ขนาดความยาว 11 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร ระวางน้ำประมาณ 27 ตัน ส่วนขีดความสามารถ สามารถปฏิบัติการที่น้ำลึกไม่เกิน 50 เมตร ระยะเวลาปฏิบัติการใต้น้ำ 3-5 ชั่วโมง ความเร็ว 5 น็อต บรรจุลูกเรือได้ 3 คน ทั้งนี้ ยานใต้น้ำเป็นการออกแบบเพื่อประยุกต์ใช้กับภารกิจอื่น พล.ร.ต.พงศ์สรรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงกลาโหมอนุมัติให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กในประเทศ เมื่อปี 2547 และโครงการวิจัยยานใต้น้ำขนาดเล็กนี้เป็นขั้นที่ 2 ในการต่อยอดองค์ความรู้ โดยกำหนดวัตถุประสงค์การสร้างต้นแบบยานใต้น้ำขนาดเล็ก ระหว่างขับน้ำประมาณ 27 ตัน ในประเทศไทย ผลจากการวิจัยนี้จะทำให้กองทัพเรือมียานใต้น้ำขนาดเล็กสำหรับใช้ในการฝึกหัดกำลังพลในการสร้างความคุ้นเคยกับการปฏิบัติการใต้น้ำใช้ดัดแปลงในการทำภารกิจต่างๆ ทั้งทางยุทธการ การหาข่าว การสำรวจใต้น้ำ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาการต่อเรือในประเทศให้มีความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เกิดจาการวิจัยนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกองทัพเรือและประเทศชาติ
ทั้งนี้ เมื่อ 70 ปีที่ผ่านมากองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำประจำการ จำนวน 4 ลำ คือเรือดำน้ำมัจฉานุ เรือดำน้ำพลายชุมพล เรือดำน้ำสุดสาคร และเรือดำน้ำวิรุณ ซึ่งเป็นเรือที่ซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ต้องยุติการใช้งานและปลดประจำการหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทำให้ถูกสั่งห้ามผลิตอะไหล่ เป็นเหตุให้กองทัพเรือไม่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีจนต้องปลดประจำการไป
-----------------------------------------------
ชื่นชมการทำงานของกองทัพเรือไทยมากครับ ไม่ใช่คิดแต่จะซื้ออย่างเดียว แม้ใช้เวลาบ้าง แต่การดำเนินงานรอบคอบมาก
