http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1272962207&grpid=&catid=02วันฉัตรมงคล โดย ..... วสิษฐ เดชกุญชร
" ... อาจมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นพิธีภายใน และกระทำเป็นส่วนพระองค์ แต่แท้ที่จริงพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นงานของชาติ เป็นการทำบุญถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในรัชกาลก่อนๆ ..."วันพรุ่งนี้ (พุธที่ 5 พฤษภาคม 2553) เป็นวันครบรอบปีที่ 60 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสมบัติ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคต การนับรัชกาลจึงเริ่มแต่วันนั้น และปีนี้จึงเป็นปีที่ 64 ในรัชกาลปัจจุบัน แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มาทำในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493
ในวันครบรอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกปี มีพระราชพิธีสำคัญที่เรียกว่า พระราชกุศลทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล (คือการทำบุญฉลองฉัตร) ในพิธีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยังพระบรมมหาราชวัง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์
สำหรับ "ฉัตร" น้อยคนคงระลึกได้ว่า ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 นั้น พระมหาราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ ได้ถวายนพปฎล เศวตฉัตร (ฉัตรสีขาวเก้าชั้น) พระมหาเศวตฉัตรถือเป็นเครื่องหมายของพระมหากษัตริย์ไทย และจึงถือเป็นโบราณราชประเพณี ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภช ในโอกาสอันสำคัญนี้
ส่วนเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ คือของใช้อันเป็นเครื่องหมายของพระราชาธิบดีนั้น พระมหาราชครูวามเทพมุนีก็ถวายในโอกาสเดียวกัน ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแส้จามรี ธารพระกร (ไม้เท้า) พระแส้หางช้างเผือก ฉลองพระบาทเชิงงอน (รองเท้าปลายงอน) และพัดวาลวิชนี (พัดทำด้วยขนจามรี)
พระราชพิธีฉัตรมงคลนั้น มีขึ้นเป็นเครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2395 หรือเมื่อ 158 ปีมาแล้ว และในรัชกาลต่อมา (เว้นรัชกาลที่

ก็ได้มีพระราชพิธีนี้เป็นประจำทุกปี วันและเดือนเปลี่ยนไปตามวันที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ
อาจมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นพิธีภายใน และกระทำเป็นส่วนพระองค์ แต่แท้ที่จริงพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นงานของชาติ เป็นการทำบุญถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในรัชกาลก่อนๆ เพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญ อันเป็นคุณประโยชน์อย่างไพศาลแก่ประชาชนและแก่ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงอุทิศพระราชกุศลพระราชทาน (แบ่งบุญ) แก่ประชาชนคนไทยด้วย
เป็นที่ทราบและตระหนักกันทั้งแก่ประชาชนคนไทยและชาวต่างประเทศว่า พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มีเอกลักษณ์ตรงที่ทรงอุทิศพระวรกายอย่างทุ่มเทและไม่ทรงหยุดยั้ง เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน
ตั้งแต่วันฉัตรมงคล วันที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 วันที่เฉลิมพระประมาภิไธยเป็น "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เป็นต้นมา แทบจะไม่เคยได้ทรงหยุดเพื่อการสำราญพระราชหฤทัย เหมือนประมุขของประเทศอื่น แต่ทรงอุทิศเวลาเพื่อการศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยทุกข์ของประชาชน คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ฉะนั้นการศึกษา วิเคราะห์และวิจัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงหนักไปในเรื่องของดินและน้ำ สองปัจจัยสำคัญในเกษตรกรรม ผลของพระราชอุตสาหะทำให้เกิดโครงการตามพระราชดำริขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ
เอกลักษณ์ของโครงการตามพระราชดำรินั้น คือความ "พอเพียง" ไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย เกินพอ แต่ให้รู้จักสันโดษ มัธยัสถ์ ช่วยตัวเอง และเติบโตขึ้นตามกำลังความสามารถของตน
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ขณะที่ประทับเหนือ พระที่นั่งภัทรบิฐ ใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ท่ามกลางมหาสมาคมนั้น ทรงเปล่งพระ วาจาประกาศเป็นพระปฐมบรมราชโองการว่า
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
เวลา 60 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง รักษาและปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชโองการนั้นอย่างมั่นคง ไม่ทรงหยุดยั้ง หรือหวั่นไหว แม้ในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤตการณ์หนักหรือเบา
วันฉัตรมงคลที่เวียนมาถึงแต่ละปี จึงเป็นวันที่เราชาวไทยควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ระลึกถึงความเหน็ดเหนื่อยและอุทิศพระวรกาย และร่วมกันสนองพระมหากรุณาธิคุณนั้น ด้วยการตั้งใจทำหน้าที่ของแต่ละคนๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้สมบูรณ์ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดอยู่ในฐานะใด
ผมขอร่วมกับคนไทยทั้งประเทศ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายชัยมงคล
ขอจงทรงพระเจริญ