
Onkyo HT-S5305 เล็ก ๆ แต่ได้ใจ

Onkyo HT-S5305 เป็นชุด HTiB แบบ 5.1 แชนเนล หีบห่อบรรจุภัณฑ์มีรูปสีประกอบ ให้เราได้เห็นหน้าค่าตากันก่อน ดูสวยงามไม่หยอก ขนาดกล่องใหญ่โตอยู่เหมือนกัน (ออกไปทางสูง) แต่ก็ไม่ลำบากในการขนย้ายสักเท่าไหร่ ถ้าวางดี ๆ คิดว่าเอาใส่เบาะหลังรถเก๋งน่าจะได้
หน้าตาของ AVR แบบเต็มๆ


Subwoofer แผงหน้าดำเงาแบบ Hi Gloss ผิวตัวตู้ดูดีด้วยเทกเจอร์แบบ Hair line กึงมันกึ่งด้าน

อุปกรณ์ภายในแพ็คเกจประกอบไปด้วยภาคขยายในรูปแบบ AV Receiver (หรือเรียกย่อ ๆ ว่า AVR) รุ่น HT-R538 และชุดลำโพงเซอร์ราวด์ 5.1 แชนเนล รุ่น HTP-538 ซึ่งเป็นรูปแบบลำโพงขนาดเล็ก หรือ แซทเทลไลท์ บวกกับ แอ็กทีฟซับวูฟเฟอร์ ขนาดย่อม ๆ ที่มีภาคขยายในตัว
ชุดอุปกรณ์ในเซ็ตครบครัน ทั้งสายสัญญาณซับวูฟเฟอร์ สายลำโพง แยกสีสำหรับแต่ละแชนเนลดูเข้าใจง่าย พร้อมรีโมต / คู่มือ / สายอากาศ AM/FM

นอกเหนืออุปกรณ์หลัก ยังมีแอ็คเซสซอรี่ส์ ที่จำเป็นต่อการใช้งาน อย่างรีโมตคอนโทรลไร้สาย สายลำโพง สายสัญญาณซับวูฟเฟอร์ สายอากาศวิทยุ AM/FM เรียกว่าติดตั้งระบบเสร็จ ก็ใช้งานได้เลย ไม่ต้องไปหาสายต่ออะไรให้วุ่นวายอีก อ้อ และที่ขาดมิได้ คือ คู่มือแบบเป็นทางการ สำหรับอ้างอิงการใช้งานโดยละเอียด และ Quick Start Guide
โฉมหน้าของ AVR ครับ

หากใช้เครื่อง Blu-ray Player ปล่อย Bitstream เสียง DTS HD MA มาที่ AVR ของ Onkyo เจ้า AVR ก็จะโชว์การถอดสัญญาณเสียง พร้อมโชว์โลโก้บนหน้าเครื่องให้เห็นชัดๆ

? AV Receiver : HT-R538
เริ่มจากอุปกรณ์หลักของซิสเต็มที่มีความสำคัญมากที่สุดคงหนีไม่พ้น AVR รุ่น HT-R538 ซึ่งบรรจุภาคถอดรหัสเสียง (Surround Decoder) อันเป็นมาตรฐานคอนเท้นต์ระบบเสียงรอบทิศทางอย่าง Dolby Digital และ DTS แน่นอนว่ารองรับไปถึงระบบเสียงระดับ HD ของบลูเรย์ อย่าง Dolby TrueHD และ DTS-HD MA
Input มากมาย เพียงพอสำหรับการใช้งาน ให้ HDMI Input มากถึง 3 ช่อง

HT-R538 รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ภาพและเสียงผ่านทางอินพุตที่มีมากมาย ทั้งอะนาล็อก และ ดิจิทัล จุดที่เน้นเป็นพิเศษย่อมเป็น HDMI อันเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบภาพและเสียงแบบ Digital Hi-Def จำนวน 3 อินพุต และ 1 เอาต์พุต ซึ่งน่าจะเพียงพอกับความต้องการใช้งานในปัจจุบัน ความพิเศษของซิสเต็มนี้อยู่ตรงที่รองรับมาตรฐาน HDMI 1.4 ซึ่งสามารถรับและส่งผ่ารสัญญาณภาพแบบ 3D กับฟีเจอร์ Audio Return Channel ได้ นอกจากนี้ยังมีช่องต่ออุปกรณ์เสริม เช่น iPod Dock และอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ สำหรับเพิ่มเติมในอนาคต ผ่านทาง Universal Port และถ้าสังเกตทางด้านหน้า บริเวณด้านขวาของแผงหน้า จะมีช่องต่ออะนาล็อกอินพุตแบบ 3.5mm ให้ด้วย สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เล่นเพลงแบบพกพาผ่านทางช่องต่อนี้ก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ท่านที่ใช้งานหูฟัง สามารถใช้ HT-R538 เครื่องนี้เป็น Headphone Amp ได้อีกด้วย
ช่องสายลำโพงด้านหลังเครื่อง AVR

จำนวนจุดเชื่อมต่อสายลำโพงเท่ากับจำนวนภาคขยาย 5 แชนเนล (ไม่นับ Front Speakers B) ที่บรรจุอยู่ภายในขนาด 100 วัตต์ (วัดที่ 6-Ohm, 1kHz, 1 channel driven) ในส่วนของลำโพงคู่หน้า ซ้าย – ขวา เป็นแบบ ไบดิ้งโพสต์ ขนาดใหญ่ดูแข็งแรงดี สามารถใช้งานร่วมกับสายลำโพงขนาดใหญ่ที่เข้าหัวบานาน่าได้ (ต้องดึงจุกปิดออกก่อน) ส่วนแชนเนลอื่น ๆ เป็นแบบสปริงหนีบ สำหรับ Front Speakers B มีไว้ในกรณีที่ต้องการใช้งานลำโพงคู่หน้า 2 ชุด (อาจแยกลำโพงอีกชุดไว้ฟังเพลง) RCA เอาต์พุต สีม่วงที่เห็นข้าง ๆ คือ Sub Out สำหรับเชื่อมต่อสัญญาณ LFE (Low Frequency Effect) หรือ .1 แชนเนล เข้ากับแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์นั่นเอง
ขนาดของลำโพง Sattleline เทียบกับฝ่ามือ

ดีไซน์ของ "ลำโพงกลาง" มีโลโก้ Onkyo แปะอยู่ด้วย

ช่องต่อสายลำโพงแบบสปริงหนีบ เข้ากับสายลำโพงที่แถมมาเป็นอย่างดี

? 5.1 Speaker System : HTP-538
แน่นอนว่าเสียงที่เราจะได้ยินถูกขับขานออกมาจากชุดลำโพงขนาดเล็กชุดนี้ ซึ่งมีลักษะแบบลำโพงแซทเทลไลท์ ลำโพงคู่หน้า และคู่หลังเหมือนกัน จึงมิต้องกังวลในเรื่องของความกลมกลืน ขนาดเล็กพอดีมือ ตัวตู้โค้งเว้าสอบเข้าไปทางด้านหลัง เพื่อลดผนังตู้ส่วนที่ขนานกัน ป้องกันเสียงก้องอันไม่พึงประสงค์ ส่วนลำโพงเซ็นเตอร์จะมีขนาดที่ยาวกว่าเล็กน้อย สำหรับวางในแนวนอน ด้านหลังมีตัวอักษรกำกับเพื่อแยกแยะแต่ละแชนเนลเอาไว้พร้อมกับกำหนดสีที่ขั้วต่อลำโพงแบบสปริงหนีบ ไม่ให้สับสนในการติดตั้งเชื่อมต่อสายลำโพง มีรูเผื่อสำหรับแขวนผนังไว้พร้อมสรรพ เพียงแค่เจาะยึดผนังด้วยสกรูตัวเดียวก็สามารถแขวนได้เลย ตัวตู้เป็นวัสดุสังเคราะห์น้ำหนักเบา ผิวสีดำมันเงาดูดีทีเดียว
ลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบแอ็คทีฟ สามารถปรับระดับวอลลุ่มได้ พร้อมสวิทช์เพาเวอร์

ลำโพงซับวูฟเฟอร์ในชุดนี้ เมื่อเป็นแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ ย่อมสามารถปรับระดับวอลลุ่มได้โดยตรง (นอกเหนือจากการปรับระดับเสียงชดเชยที่ AVR) ข้อดีที่สำคัญ เหนือชุด HTiB ที่ใช้ซับวูฟเฟอร์แบบพาสซีฟ ซึ่งต้องอาศัยกำลังขับที่บรรจุอยู่ภายใน AVR คือ ช่วยให้การจ่ายกระแสเป็นไปอย่างสะดวกเต็มกำลัง เนื่องจากส่วนของภาคจ่ายไฟ และภาคขยายถูกแยกอิสระออกมาต่างหาก (ต้องเสียบปลั๊กเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มให้กับซับวูฟเฟอร์อีกจุดหนึ่ง) โดยที่ไม่ดึงกำลังจาก AVR
ผลพลอยได้ยังช่วยลดทอนการรบกวนในส่วนของภาคขยายซับวูฟเฟอร์ มิให้รบกวนภาคขยายของแชนเนลหลัก อ้อ ซับวูฟเฟอร์รุ่นนี้ยังมีฟีเจอร์ Auto On/Off โดยจะเปิดทำงานเองเมื่อมีสัญญาณเสียงจาก AVR เข้ามา (ไฟสถานะเปลี่ยนจาก แดง เป็น น้ำเงิน) และเมื่อไม่มีสัญญาณ จะเข้าสู่โหมดสแตนบายโดยอัตโนมัติ (ไฟสถานะเปลี่ยนเป็นสีแดง) ทำให้สะดวกไม่ต้องลุกไปเปิด-ปิด ทุกครั้งที่ใช้ หรือเลิกใช้งาน แต่ถ้ามิได้ใช้งานเป็นเวลานานก็ปิดสวิทช์เมนเพาเวอร์ไปเลยดีกว่าครับ ช่วยกันประหยัดไฟ ลดโลกร้อน
การออกแบบติดตั้งไดรเวอร์ขนาด 6 นิ้ว แบบยิงพื้น

ติดตั้งไดรเวอร์ขนาด 6 นิ้ว ไว้ด้านล่างตัวตู้แบบยิงลงพื้น ตัวตู้มีขนาดไม่ใหญ่ ดีไซน์เน้นกะทัดรัด ออกไปทางสูงและลึก เห็นเล็ก ๆ แบบนี้ ทว่าเสียงความถี่ต่ำได้น้ำได้เนื้อ เติมเต็มห้องทดสอบขนาดกว่า 20 ตร.ม. ไม่ขาดตกบกพร่อง ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์ของภาคขยาย กำลังขับสูงสุด 150 วัตต์ (Dynamic Power) ส่วนอัตราการตอบสนองความถี่ตามสเป็คอยู่ที่ 27Hz – 150Hz
? การติดตั้งลำโพง
ในขั้นตอนการติดตั้งลำโพงนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากเอาไว้สักเล็กน้อย คือ ไม่ควรละเลยการติดฐานยางที่ด้านใต้ตัวตู้ลำโพงหลัก (ฐานยางดังกล่าวมีมาให้ในแพ็คเกจ) ซึ่งไม่ว่าจะวางลำโพงบนชั้นวาง บนโต๊ะทำงาน บนขาตั้ง หรือแม้แต่การแขวนผนัง ฐานยางดังกล่าวมีส่วนช่วยให้การตั้งวางลำโพงมั่นคงขึ้น ในแง่ของการลดทอนการสั่นเมื่อลำโพงทำงาน และป้องกันการโยกคลอนในส่วนของลำโพงเซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีผลกับการถ่ายทอดคุณภาพเสียงของลำโพงเช่นกัน แม้ว่าไม่ถึงกับเปลี่ยนเสียงลำโพงให้ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา ทว่ามีส่วนช่วยให้ซิสเต็มลำโพงสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังป้องกันการลื่นไถล ลดการเกิดรอยขีดข่วยที่ผิวใต้ลำโพง สุดท้ายย่อมส่งผลต่อศักยภาพการใช้งานโดยรวมไม่มากก็น้อย
หากเป็นการติดตั้งลำโพงโดยการแขวนชิดติดกับผนัง ให้ติดฐานยางรองที่ด้านหลังลำโพงในตำแหน่งศรชี้ เพื่อเป็นตัวรองรับระหว่างลำโพงกับผนัง ลดทอนการสั่นอันไม่พึงประสงค์

ในส่วนของลำโพงเซ็นเตอร์ การติดฐานยางช่วยให้ลำโพงไม่โยกเยก อีกทั้งถ้ากะตำแหน่งติดดี ๆ ยังเป็นปรับมุมก้มเงยได้อีกด้วย

หากเป็นการติดตั้งลำโพงโดยการแขวนชิดติดกับผนัง ให้ติดฐานยางรองที่ด้านหลังลำโพงในตำแหน่งศรชี้ เพื่อเป็นตัวรองรับระหว่างลำโพงกับผนัง ลดทอนการสั่นอันไม่พึงประสงค์


สำหรับตำแหน่งการติดตั้งลำโพงนั้นมิได้ตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายในห้อง อย่างไรก็ดีโดยมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงกันจะเป็นดังภาพ ซึ่งเป็นการจัดวางในห้องที่ถูกกำหนดให้เป็นห้องโฮมเธียเตอร์โดยเฉพาะ ระยะจอภาพ และตำแหน่งนั่งฟัง รวมไปถึงตำแหน่งบาลานซ์ลำโพงซ้าย – ขวา และตำแหน่งของลำโพงเซ็นเตอร์อยู่ในแนวกึ่งกลางห้อง ระยะห่างของลำโพงซ้ายขวาขั้นต่ำ ไม่ควรน้อยกว่าความกว้างของจอภาพที่ใช้ หรือไม่น้อยกว่า 60 ซม. สามารถกำหนดให้มีระยะห่างมากกว่าได้ ตามความเหมาะสม ส่วนลำโพงเซอร์ราวด์ก็อยู่ตรงกับด้านข้างของตำแหน่งนั่งฟัง หรือเยื้องไปทางทางหลังเล็กน้อย สำหรับซับวูฟเฟอร์ ถ้าต้องการเน้นน้ำหนักเสียงความถี่ต่ำให้มีปริมาณมากขึ้น อาจวางบริเวณมุมห้อง แต่จุดนี้จะยากอยู่บ้างในการเซ็ตอัพเพื่อสร้างความกลมกลืนเข้ากับลำโพงหลักเมื่อเทียบกับตำแหน่งที่วางอยู่บริเวณ 1 ใน 3 ของความกว้างห้องที่มีระยะใกล้กับลำโพงหลักคู่หน้ามากกว่า
? การเซ็ตอัพระบบเสียง
จุดสำคัญของระบบเสียงโฮมเธียเตอร์ ที่ประกอบไปด้วยลำโพงหลายแชนเนลทำงานประสานกัน คือ ความกลมกลืน หากไม่สามารถทำให้ลำโพงในระบบทำงานประสานกลมกลืนสอดคล้องไปด้วยกันได้ โอกาสจะได้เสียงที่ดีย่อมเป็นไปได้ยาก ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเสียงดังกล่าวที่ได้ยิน เป็นเสียงที่อยู่นอกเหนือความคาดหวัง ความรู้สึก ขาด ๆ เกิน ๆ ย่อมลดทอนอรรถรสในการรับชมลงไปไม่มากก็น้อย กรณีนี้ถ้าฟังแล้วไม่รู้สึกแฮปปี้ ท่านจะโทษว่าเสียงของเขาไม่ดีคงไม่ได้ เพราะเป็นเสียงที่เกิดจากการเซ็ตอัพที่ไม่ถูกต้อง หรืออยู่นอกเหนือมาตรฐาน
แล้วการเซ็ตอัพตามมาตรฐานเป็นอย่างไร ถ้ามีระบบ Audyssey เหมือน Onkyo AVR รุ่นใหญ่ ๆ ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะช่วยให้เราได้เสียงที่ดีตามมาตรฐานได้ง่ายยิ่งขึ้น (แต่อาจต้องมีการปรับแต่งนิดหน่อย ตามประสิทธิภาพของระบบและสภาพแวดล้อม) อย่างไรก็ดีถึงแม้ HT-S5305 จะไม่มีระบบ Audyssey ในเบื้องต้นเราสามารถเซ็ตอัพแบบแมนน่วลได้เองครับ ตามหลักการคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

จุดที่ผู้ใช้ต้องกำหนดโดยหลัก ๆ มีอยู่ 3 จุด จุดแรก คือ การกำหนดลักษณะลำโพงให้สัมพันธ์กับจุดตัดความถี่ของซับวูฟเฟอร์ ซึ่งอยู่ในเมนูหัวข้อ Sp Config ในกรณีของ HT-S5305 เป็นลำโพงแซทเทลไลท์ขนาดเล็ก ฉะนั้นแน่นอนว่าขนาดลำโพง Front Center และ Surround จึงเป็น Small ส่วนจุดตัดความถี่ให้ทดลองกำหนดค่าเริ่มต้นที่ 120Hz ก่อน หากพบว่าเสียงของลำโพงหลักและซับวูฟเฟอร์ยังไม่ประสานกลมกลืนกันดี ค่อยทำการเปลี่ยนแปลง

จุดที่ 2 การกำหนดระยะห่างของลำโพง (อ้างอิงการหน่วงเวลา) เพื่อให้เสียงของลำโพงในระบบมาถึงหูของผู้ฟังโดยสัมพันธ์กัน ซึ่งอยู่ในหัวข้อ Sp Distance ปกติหากลำโพงแชนเนลใดอยู่ใกล้หูมาก เสียงก็จะมาถึงหูผู้ฟังก่อนเสียงของลำโพงแชนเนลอื่นที่อยู่ห่างออกไป จริงอยู่ว่าความแตกต่างอยู่ในระดับมิลลิวินาที แต่มิใช่ว่าจะไม่สามารถรับรู้เสียทีเดียว การกำหนดในจุดนี้ในเบื้องต้น ให้ใช้ตลับเมตรวัดระยะห่างของลำโพงแต่ละตัวถึงจุดนั่งฟัง แล้วกำหนดค่าลงไป

จุดที่ 3 การกำหนดบาลานซ์ระดับเสียงของลำโพงในระบบ ซึ่งอยู่ในหมวด Level Cal ในเบื้องต้นสามารถใช้การฟังเปรียบเทียบอ้างอิงจากเสียงเทสโทนของระบบได้ แต่บางทีเสียงที่ได้ยินก็มักจะหลอกหู โดยเฉพาะระดับเสียงของซับวูฟเฟอร์ ซึ่งฟังแล้วอาจรู้สึกว่าเบากว่าระดับเสียงของลำโพงเชนเนลหลัก ส่วนใหญ่จึงมักเร่งระดับเสียงซับวูฟเฟอร์ขึ้นมาล้ำเกินแชนเนลอื่น ด้วยหวังว่าจะเพิ่มความกระแทกกระทั้นสะใจยิ่งขึ้น ถามว่าเป็นอะไรไหม ? ก็มิใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร อันที่จริงหากมองว่าเป็นความพึงพอใจก็สามารถกระทำได้ แต่เสี่ยงที่เบสจะบวม อื้ออึง ขาดความผ่อนคลาย จนกลายเป็นการรบกวนโสตประสาทไป ถ้าเป็นไปได้ ใช้ตัวช่วยอย่าง Sound Level Meter จะได้ผลลัพธ์ที่แน่นอน เที่ยงตรงกว่าการอ้างอิงด้วยหูครับ ในส่วนของบาลานซ์ระดับเสียงนี้สำคัญมาก เพราะส่งผลถึงความกลมกลืนมากที่สุด เมื่อเทียบกับตัวแปรอื่น ๆ จึงควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ
หมายเหตุ: ตัวเลขที่ปรากฏในภาพ เป็นค่ากำหนดที่ใช้ในสภาพแวดล้อมภายในห้องทดสอบเท่านั้น
? คุณภาพ
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ถึงเวลาฟังเสียงกัน ผมเชื่อว่าถ้าท่านเซ็ตอัพทุกอย่างลงตัวแล้ว จะต้องแฮปปี้กับเสียงของซิสเต็มนี้แน่นอน คุณภาพเสียงสามารถตอบสนองการใช้งานได้ทั้งดูหนัง ฟังเพลง สไตล์เสียงที่ออกไปทางนุ่มนวลของ HT-R538 ยังผลให้เสียงของซิสเต็มนี้เจือความอิ่มหวานอยู่เนือง ๆ แม้ลำโพงหลักมีขนาดเล็กก็จริง แต่เสียงที่ได้ยินก็ยังมีน้ำหนัก อิ่มเอิบอยู่ในทีจากการที่ได้เสียงของซับวูฟเฟอร์มาเสริมอย่างพอดี แนวเสียงที่จูนมาเน้นกระแทกระทั้น หนักแน่นเกินตัวของซับวูฟเฟอร์ ช่วยเพิ่มความสะใจในการรับชมภาพยนตร์และเล่นเกมได้ดี อาจส่งผลให้การรับฟังเพลงติดรุกเร้าหนักอกอยู่บ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อย
ความเที่ยงตรงของเสียงโดยรวมยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีสำหรับซิสเต็มระดับเริ่มต้นที่มีราคาไม่แพง จุดสำคัญของซิสเต็มนี้อยู่ที่หากสามารถเซ็ตอัพสร้างความกลมกลืนระหว่างลำโพงหลักกับซับวูฟเฟอร์ได้ ทุกอย่างก็จะส่งผลไปในทางที่ดีอย่างน่าพอใจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งนี้ในส่วนของการเซ็ตอัพ แม้ไม่มีระบบ Auto Calibration ช่วยเหลือ แต่การรองรับฟีเจอร์ปรับแต่งต่าง ๆ ค่อนข้างครอบคลุมตามมาตรฐานการกำหนดค่าอ้างอิงในระบบโฮมเธียเตอร์แบบแมนน่วล จึงอยู่ในวิสัยที่ทำให้ระบบลงตัวได้ถ้ากระทำอย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาพการใช้งาน

จุดเชื่อมต่อจาก HT-R538 ค่อนข้างครบถ้วนตามสไตล์การออกแบบลักษณะเดียวกับ AVR ทั่วไป จึงมีความยืดหยุ่นในการรองรับอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ ได้มาก การขยับขยายซิสเต็มก็ทำได้ไม่ยาก แม้อินพุตต่าง ๆ จะมีจำนวนไม่มากมายอะไร แต่ก็นับว่าเพียงพอ ฟีเจอร์เสริมในส่วนของภาควิดีโอ แม้ไม่มี VDO Scaler และ VDO Up-Conversion แต่ถ้าหากใช้งานร่วมกับเพลเยอร์ในปัจจุบันที่มี VDO Scaler ในตัว และเชื่อมต่อทาง HDMI ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
รูปลักษณ์ภายนอกดูดีด้วยผิวลำโพงดำเงา วัสดุอาจเน้นเป็นวัสดุสังเคราะห์ก็จริง แต่ยังดูดี ผิวตัวตู้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ด้านบนและด้านข้างนับว่าน่าสนใจ แทนที่จะเป็นผิวลายไม้ด้าน ๆ แบบเดิม ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไปจากลำโพงที่มีราคาไม่แพง ทว่า Onkyo เลือกที่จะใช้ผิวแบบใหม่ เท็กเจอร์แบบ Hair line ผิวกึ่งมันกึ่งด้าน ดูโมเดิร์นแหวกแนวดี
เครดิตที่มา :
http://www.hdplayerthailand.com