
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ HDTV กับ “ขอบดำ”
ยังจำวันที่คุณซื้อ HDTV ในวันแรกได้ไหมครับ เมื่อคุณเอา HDTV ตัวเก่งของคุณมาต่อเข้ากับเครื่องเล่น DVD หรือเครื่องเล่น Blu-ray disc แล้วพบว่า ทำไมหนังบางเรื่องถึงแสดงได้เต็มจอ ในขณะที่หนังบางเรื่องเมื่อนำมาแสดงบนจอแล้วมีขอบดำอยู่ด้านบน-ล่าง ในขณะที่หนังบางเรื่องมีขอบดำด้านซ้าย-ขวา และที่แย่ไปกว่านั้น หนังบางเรื่องมีขอบดำทั้ง 4 ด้านเลย

HDTV กับ “ขอบดำ”
“อ้าว… ผมอุตส่าห์ซื้อทีวีจอกว้างมาแล้ว ทำไมเจ้าขอบดำยังตามมาหลอกหลอนผมอยู่ล่ะครับ?” คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิต ซึ่งคุณสามารถหาได้ตามกระทู้ปักหมุดของเว็บบอร์ดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ HDTV วันนี้เรามาหาคำตอบกันดีกว่าครับ ว่าทำไม “ขอบดำ” กับ “ทีวี” (ทั้ง SDTV และ HDTV) จึงเป็นของคู่กันมานาน และจะคู่กันตลอดไป
คำตอบสั้นๆ ของคำถามที่ว่า “ทำไม HDTV จอกว้างจึงแสดงภาพที่มีขอบดำอยู่” นั่นก็คือ “เพราะภาพที่แสดงมันมีสัดส่วนไม่ตรงกับสัดส่วนของ HDTV นั่นเอง” ถึงแม้คำตอบนี้จะเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ตาม แต่มันก็เป็นความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้เลย
บทความนี้จะไม่กล่าวถึงสัดส่วนของภาพแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ แต่จะพูดถึงในประเด็นที่คุณ– ในฐานะเจ้าของ HDTV อยากทราบมากที่สุด นั่นคือ HDTV ของคุณมีวิธีการ หรือเทคนิคอย่างไรในการนำภาพที่มีสัดส่วนต่างๆ ซึ่งไม่ตรงกับสัดส่วน Panel ของพวกมันมาแสดง
HDTV จอกว้างที่มีขายในบ้านเราเกือบทั้งหมดมีสัดส่วนแบบ 16:9 หรือ 1.78:1 ซึ่งหมายความว่าถ้าจอโทรทัศน์มีความยาว 16 นิ้ว มันก็จะมีความสูง 9 นิ้วนั่นเอง สัดส่วนแบบ 16:9 นี้จึงมีความ “กว้าง” กว่าทีวีทั่วไปอยู่หลายขุม (ทีวีที่ไม่ใช่แบบจอกว้างจะมีสัดส่วนแบบ 4:3 หรือ 1.33:1)
ถ้าสื่อภาพยนตร์ในโลกนี้มีสัดส่วน 2 ประเภทอย่างที่กล่าวข้างต้น ก็คงจะไม่ทำให้ผู้บริโภคสับสนมากนัก แต่ชีวิตมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะนอกจากสัดส่วน 2 ประเภทที่ได้กล่าวไปแล้ว มาตรฐานของการถ่ายทำภาพยนตร์ ยังได้กำหนดสัดส่วนในแบบอื่นๆ ไว้อีก เช่นสัดส่วนแบบ 1.85:1 และ 2.35:1 เป็นต้น
เมื่อนำภาพยนตร์มาแสดงบนจอภาพที่มีสัดส่วนไม่เท่ากับสัดส่วนที่ใช้ในการถ่ายทำ ภาพที่แสดงบนจอทีวีของคุณจึงต้องมีขอบดำ ไม่ว่าจะเป็นขอบดำในแนวนอน หรือขอบดำในแนวตั้งก็ตาม เพื่อให้ภาพที่แสดงบนจอนั้นมีสัดส่วนถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน และจึงเป็นคำตอบว่าทำไมขอบดำจะไม่มีวันตายไปจากโลกนี้
และเพื่อทำให้ชีวิตของคุณยุ่งยากขึ้นไปอีก นอกจากประเด็นเรื่องภาพยนตร์ที่มีสัดส่วนไม่ตรงกับจอที่คุณต้องการเอามาแสดงแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ให้คุณปวดหัวเพิ่มขึ้น เช่นภาพยนตร์บางเรื่องใช้สัดส่วนแบบ 2.4:1 และถูกจัดรูปแบบให้แสดงผลได้ดีที่สุดบนจอแบบ 4:3 แต่เมื่อคุณเอาภาพยนตร์ดังกล่าวมาแสดงบนจอแบบ 16:9 แน่นอนว่าผลที่คุณได้รับคงจะดูไม่จืดแน่ๆ เพราะภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ได้ถูกจัดรูปแบบให้แสดงผลบนจอแบบ 16:9 มาตั้งแต่แรก
เราลองมาดูตัวอย่างแรกกันก่อนนะครับ สมมติว่าคุณเอา HDTV ตัวเก่งของคุณมารับชมฟรีทีวีในบ้านเรา ซึ่งออกอากาศด้วยสัดส่วนภาพแบบ 4:3 ถ้า HDTV ของคุณเอาภาพมาแสดงโดยไม่ให้ผิดสัดส่วน (pillar box) คุณจะพบว่าภาพที่แสดงบนจอนั้นมีขอบดำด้านซ้าย-ขวา ดังภาพ แน่นอนว่าการแสดงภาพแบบนี้เป็นวิธีเดียวที่ช่วยให้คุณสามารถรับชมฟรีทีวีได้อย่างไม่ผิดสัดส่วน แต่หลายๆ คนคงไม่พอใจกับภาพแบบนี้แน่ๆ

การแสดงภาพแบบ Pillar box — เครดิตภาพ: Engadget
หากคุณเซ็ตให้ทีวีของคุณขยายภาพออกให้เต็ม panel คุณก็จะได้ภาพที่ผิดสัดส่วนตามภาพข้างล่าง วิธีนี้เป็นการขยายแบบ Linear stretch คือการจับภาพมาขยายแบบตรงๆ โดยไม่สนใจว่าสัดส่วนจะผิดเพี้ยนหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นความคิดที่ดี แต่หลายๆ คนคงไม่พอใจที่อะไรๆ ที่แสดงบนจอนั้นดู “อ้วน” ผิดปกติ

การแสดงภาพแบบ Linear stretch — เครดิตภาพ: Engadget
เทคนิคการขยายภาพอีกเทคนิคหนึ่งคือแบบ Non-linear stretch วิธีนี้จะใช้เทคนิคขยายส่วนข้างๆ ด้านซ้ายและขวาของภาพแทน แต่จะไม่แตะต้องส่วนกลางของภาพ ทำให้วัตถุที่อยู่กลางภาพมีสัดส่วนไม่ผิดเพี้ยน คุณอาจคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดี เพราะอย่างน้อยผู้ชมส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่กลางจอมากที่สุดอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการ pan กล้องขึ้นมา คุณจะเริ่มสังเกตเห็นว่าภาพด้านซ้ายและขวานั้นผิดสัดส่วนเป็นอย่างมากทีเดียว ลองนึกถึงภาพระยะใกล้ของหญิงสาวในภาพดูนะครับ หากเอามาขยายด้วยเทคนิคนี้จะพบว่าถึงแม้หน้าของเธอจะดูไม่ผิดสัดส่วนก็ตาม แต่บริเวณไหล่และมือของเธอนั้นดู “กว้าง” ผิดปกติ และเมื่อมีการ pan กล้องให้หน้าของเธอคนนี้ไปอยู่บริเวณขอบจอ คุณก็จะพบว่าหน้าตาของเธอก็จะผิดสัดส่วนจนดูไม่จืดเช่นเดียวกัน
การแสดงภาพแบบ Non-linear stretch — เครดิตภาพ: engadget

อีกเทคนิคหนึ่งในการแสดงภาพแบบ 4:3 บนจอแบบ 16:9 คือเทคนิคที่เรียกว่า “cropping” ซึ่งแปลได้ตรงๆ เลยคือการ “ตัด” เอาขอบด้านบนและล่างออกไป เพื่อให้ภาพสัดส่วน 4:3 กลายเป็นแบบ 16:9 พอดิบพอดี แต่สิ่งที่คุณจะต้องเสียไปเมื่อใช้เทคนิค cropping ก็คือ รายละเอียดด้านบน และด้านล่างของภาพ จากภาพด้านล่าง จะสังเกตว่าโลโก้ของช่องโทรทัศน์นั้นถูกตัดหายไปเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียว และคุณก็ไม่สามารถมองเห็นข้อมือของหญิงสาวในภาพได้อีกด้วย เนื่องจากรายละเอียดของภาพจำนวนไม่น้อยถูก “ตัด” หรือ “crop” ออกไปนั่นเอง

เทคนิค Cropping — เครดิตภาพ: Engadget
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคในการแสดงภาพ 4:3 ในแบบอื่นๆ อีก เช่นเทคนิคการผสมกันระหว่าง Linear stretch กับ cropping ซึ่งนำข้อดีของทั้งสองเทคนิคมารวมกัน ทำให้ภาพที่แสดงบนจอถูกตัดรายละเอียดออกไปน้อยที่สุด ในขณะที่สัดส่วนของภาพผิดเพี้ยนน้อยที่สุดนั่นเอง
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่มีเทคนิคไหนที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ 100% คุณจึงจำเป็นต้องเลือกวิธีการแสดงผลที่คุณมองแล้วรู้สึกว่าชอบ และสบายตาที่สุดด้วยตัวของคุณเองครับ
ตัวอย่างถัดไปเป็นการแสดงภาพที่ “น่ารำคาญ” ที่สุดของ HDTV โดยเมื่อคุณนำคอนเทนท์จอกว้างที่ถูกจัดรูปแบบ (format) ให้แสดงผลได้ดีที่สุดบนจอแบบ 4:3 มาแสดงบน HDTV จอกว้างของคุณ คุณจะพบว่าภาพนั้นมีขอบดำทั้งสี่ด้าน (เชื่อไหมครับว่า ดีวีดีในสมัยแรกๆ ก็ทำออกมาแบบนี้เกือบทั้งหมด!) แต่ถ้าหาก HDTV ของคุณมีฟังก์ชันซูมภาพ ก็สามารถช่วยขัดตาทัพไปก่อนได้ ถึงแม้ว่าภาพที่ซูมเข้ามานั้นจะแตกไปบ้าง แต่ก็อาจจะดีกว่าภาพที่มีขอบดำทั้งสี่ด้านตามตัวอย่างข้างล่างนี้แน่ๆ

ภาพจอกว้างที่ถูกจัดรูปแบบให้แสดงผลบนจอ 4:3 แต่นำมาแสดงบนจอแบบ 16:9 — เครดิตภาพ: Engadget
ไม่เพียงแต่ภาพแบบ 4:3 เมื่อนำมาแสดงบนจอกว้างแล้วเกิดปัญหาเท่านั้น ในโลกของจอกว้างเองก็มีปัญหาขอบดำเช่นเดียวกัน เนื่องจากสัดส่วนของภาพยนตร์จอกว้างนั้นก็มีหลายแบบ ภาพตัวอย่างข้างล่างเป็นภาพแบบ 2.35:1 เมื่อนำมาแสดงบนจอแบบ 16:9 จะเห็นว่าภาพที่แสดงนั้นยังมีขอบดำด้านบนและด้านล่างอยู่ และนี่ก็กลายเป็นคำถามยอดฮิตของคนที่เล่น HDTV ใหม่ๆ ว่า ทำไมทีวีจอกว้างที่พวกเขาซื้อมานั้น เมื่อเอามาเล่นหนังจอกว้างแล้วยังมีขอบสีดำอยู่ ถึงแม้ทีวีบางรุ่นจะมีฟังก์ชันให้คุณสามารถซูมภาพให้เต็มจอได้ก็ตาม แต่นั่นก็คงไม่เป็นที่พึงปรารถนานัก เพราะรายละเอียดด้านข้าง (ซ้าย-ขวา) ของภาพก็จะถูกตัดออกไปด้วย และคุณอาจจะพลาดอะไรเด็ดๆ ไปโดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยก็ได้

ภาพ 2.35:1 บนจอแบบ 16:9 — เครดิตภาพ: Engadget
ภาพสุดท้ายนี้เป็นตัวอย่างที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่สังเกตเห็น เมื่อคุณเล่นหนังจาก DVD หรือ Blu-ray disc ที่มีสัดส่วนแบบ 1.85:1 บนจอ HDTV แบบ 16:9 ภาพที่ได้จะเป็นดังภาพข้างล่างนี้

ภาพ 1.85:1 บนจอแบบ 16:9 — เครดิตภาพ: Engadget
เหตุผลที่คุณไม่เห็นขอบดำเล็กๆ ด้านบนและด้านล่างเป็นเพราะสัดส่วนแบบ 1.85:1 กับ 16:9 (1.78:1) นั้นเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงมาก และทีวีของคุณมีฟังก์ชัน overscan ที่จะตัดเอาขอบของภาพทั้งสี่ด้านออกไปโดยอัตโนมัติ ทำให้ภาพแบบ 1.85:1 นั้นดูเต็มจอพอดี
แต่หากคุณปิดฟังก์ชัน overscan ของทีวี (เช่น ใช้ “Just scan” ของ Samsung หรือ “dot by dot” ของ Pioneer) ก็จะพบว่าขอบดำๆ นั้นก็ยังตามมาหลอกหลอนคุณอยู่ดี
นี่ล่ะครับ ตัวอย่างต่างๆ ของเทคนิคการแสดงผลภาพในสัดส่วนต่างๆ ของ HDTV ขอบดำต่างๆ เหล่านี้จะยังอยู่กับเราตลอดไป เพราะฉะนั้นแทนที่จะหาทางหลีกเลี่ยงพวกมัน เราควรปรับทัศนคติเสียใหม่ว่า อย่างน้อยขอบดำเหล่านี้ก็ทำให้เราได้ชมภาพยนตร์ในแบบที่ผู้ผลิตเขาตั้งใจทำออกมาให้เราชมจริงๆ ครับ
อ้างอิง: Engadget