การถ่ายภาพคอนเสิร์ทหรือการแสดงบนเวทีมีความยากไปอีกแบบนึงครับ อาจกล่าวได้ว่า
1) แสงน้อย
2) แบบมีการเคลื่อนไหว (เต้น)
3) ความเข้มแสงไม่คงที่
4) สีของแสงที่เปลี่ยนไปมา
5) ระยะห่างจากเวที (ยากขึ้นเมื่ออยู่ไกล)
จะเห็นว่าแค่ข้อ 1 กับ 2 ก็เอาเรื่องแล้ว ซึ่งก็เป็นปัญหาหลักของการถ่ายคอนเสิร์ทครับ ลองนึกดูสิครับว่าจะแก้ปัญหา 2 ข้อนี้อย่างไร
ก็เหลือทางเลือกเดียวครับ เร่ง ISO ขึ้นไปสูงๆ สถานการณ์อย่างนี้เลิกกลัว Noise แล้วครับ ถ้ามัวกัวลเรื่อง Noise ภาพเราก็จะไม่นิ่ง ยิ่งหนักกว่าอีก Noise น้อยเชียว แต่ภาพสั่นไหว ต้องเลือกครับ ทีนี้จะเร่งขึ้นไปแค่ไหน
มาดูว่า้เราดึงซูมแค่ไหนก่อนแล้วจะเลือกความเร็วชัตเตอร์แค่ไหนก่อนครับ หลักการพื้นฐานในการปรับความเร็วชัตเตอร์ก็คือ ใช้ความเร็วชัตเตอร์ "หนึ่ง ส่วน ระยะทางยาวโฟกัสในการดึงซูม" งงมั้ยครับ ต้องยกตัวอย่าง สมมติเราดึงซูมไปที่ 200 mm. ก็ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ช้าไปกว่า 1/200 sec. ถ้าดึงไปที่ 100 mm. ก็ใช้ 1/100 sec.
มันเป็นตัวเลขที่เค้าบอกว่าจะทำให้ได้ภาพที่นิ่งพอ แต่ ... นั่นเป็นกรณีทั่วๆไป แต่คราวนี้โจทย์ของเรามีอีกว่า ตัวแบบเคลื่อนไหว หรือ เต้นไปด้วย ทีนี้แหละครับ ความเร็วชัตเตอร์เลยต้องสูงขึ้นไปอีก นี่แหละครับคุณ Yod ถึงได้กำหนดไว้ให้เลยที่ 1/200 sec เป็นอย่างน้อย
แต่ก็มีข้อยกเว้นได้บ้าง หากเรารอจังหวะ จะเห็นว่า การเต้นจะมีช่วงหยุด โดยเฉพาะตอนจบ นักร้องนักเต้นจะหยุดนิ่งค้างท่วงท่าไว้แป๊ปนึง จังหวะนั้นเป็นจังหวะที่จะทำให้เราใช้ความความชัตเตอร์ต่ำหน่อยได้ครับ แต่ก็อย่าให้ต่ำกว่าหลักการเลือกความเร็วชัตเตอร์พื้นฐานที่กล่าวไว้นะครับ นอกจากจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลงได้แล้ว จังหวะนั้นยังเป็นจังหวะที่ท่าทางของนักเต้นจะดูสวยงามด้วยครับ ความยากอีกประการที่ตามมากับข้อ 2 ก็คือ เราอาจจะจับภาพได้จังหวะไม่ดี เช่น ช่วงเวลาที่นักเต้นนักร้องเหวี่ยงแขนบังหน้าตัวเอง หรือจังหวะใดๆก็แล้วแต่ที่ออกมาแล้วดูไม่สวย อันนี้ต้องใจเย็นๆ แรกๆอาจจะไม่ทันบ้างผิดไปบ้าง ซักพักเราจะเริ่มคุ้นและจับจังหวะได้เองแหละครับ ใครมีโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องก็ใช้ช่วยได้ครับ แต่อย่าลืมเตรียม Memory card ไปให้พอนะครับ
มาข้อ 3 และ 4
การวัดแสงก็น่าเวียนหัวครับ เดี๋ยวสว่างมากเดี๋ยวสว่างน้อย ... ลองใช้โหมด วัดแสงเฉพาะจุด วัดที่ใบหน้าหรือตัวแบบตอนที่แสงสาดลงมานะครับ บางครั้งแสงอาจจะส่องมาแป๊ปเดียวหรือออกไปทางกระพริบ ทำให้อ่านค่าไม่ทันก็รอจังหวะที่แสงส่องมานานพอครับ พอได้ค่า ก็ลองถ่ายดูแล้วเปิดดูเลยว่า สว่างไปหรือมืดไปมั้ย แล้วแก้ค่าอีกทีครับ เมื่อได้ค่าแล้วก็อาจจะใช้ค่านี้ไปเลยในโหมด Manual เพราะหากเราใช้ Auto ก่อนกดชัตเตอร์ถ้าจุุดวัดแสงไปทาบผิดที่กล้องก็จะเปิดค่าการรับแสงผิดไปอีกครับ ถ่ายไปเช็คภาพไปด้วยครับ เพราะบางเพลง พอเปลี่ยนเพลง การให้แสงบนเวทีก็เปลี่ยนไปอีกครับ กล้องบางรุ่นมีโหมดการถ่ายแบบ คร่อมค่า คือ กดชัตเตอร์ไปหนึ่งครั้ง กล้องจะถ่ายให้ 3 รูป คือ ตรงตามการวัดแสง 1 รูป , Under 1 รูป และ Over อีก 1 รูป ก็อาจใช้โหมดนี้ช่วยด้วยได้ครับ
ส่วนการที่มีหลากหลายสีเปลี่ยนไปเรื่อยไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ครับ ผมชอบใช้ White Balance ไว้ที่ Daylight เพราะแสงบนเวทีมีทั้งสีเย็น (โทนน้ำเงิน)ไปจนถึงสีร้อน(แดง) จึงเปิด Daylight ให้รับสีเดิมๆของเค้าเลยครับ ส่วนท่านใดอยากให้ภาพออกไปทางร้อนหรือเย็นกว่าปกติก็ปรับแต่งกันได้ตามอัธยาศัยและความชอบส่วนตัวครับ มีจุดสังเกตอีกนิดนึงครับ บางครั้งการแสดงจะมีแสงลำตรง (ไฟ Follow) ส่องมาที่ตัวแสดงหลักหรือนักร้องนำ ระยะหลังแสงตัวนี้จะมีอุณภูมิสีค่อนข้างขาวแล้ว อาจทำให้ภาพดูขาวๆจืืดๆไปนิด ถ้าใครไวพอที่จะปรับ White balance ทันเป็นเพลงๆเป็นช่วงๆ อาจจะปรับให้สีอุ่นขึ้นก็ได้ครับ
ส่วนข้อสุดท้าย เรื่องระยะห่าง ... แก้ง่ายๆครับ .. เพิ่มเงินซื้อตั๋วแถวหน้าเลยครับ ฮ่าๆๆ

ถ้าได้ใกล้หน่อย นอกจากจะได้ใกล้ชิดนักร้องนักแสดงคนโปรดแล้ว ประโยชน์ต่อการถ่ายภาพก็คือ เราจะได้ใช้ช่วงการซูมที่สั้นลงครับ จากที่ต้องดึงซูมถึง 200 mm ก็อาจจะเหลือ 100 mm., 85 mm. หรือ 50 mm 35 mm ทำให้เรามีรูปรับแสงที่กว้างขึ้น อันเนื่องมาจากเลนส์ทางยาวโฟกัสสั้นลงมักจะมีรูหน้ากล้องที่กว้างขึ้น
หวังว่าคงพอช่วยได้ไม่มากก็น้อยนะครับ