วิธีแก้นิสัยเกเร การลงโทษเด็กเป็นการกระทำเพื่อ
ป้องกันเด็กจากสิ่งที่เด็กไม่พึงกระทำ ไม่ใช่เป็น
การบังคับเด็กให้กระทำในสิ่งที่เราต้องการให้เขา
กระทำ
เช่น ถ้าเราจะบอกเด็กคนหนึ่งให้ปิดประตูบ้านใน
เวลาออกไปหรือเข้ามาในบ้าน เพื่อป้องกันมิให้ขโมย
เข้ามาในบ้าน แต่ว่าเด็กนั้นไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมตน
จะต้องปิดประตู เกิดความทระนงขึ้นและดื้อไม่เชื่อฟัง
คำสั่ง แกล้งเปิดประตูทิ้งไว้ เราไม่รู้จะทำอะไรแก่เขา
จะลงโทษเฆี่ยนตีด้วยโทสะก็จะไปกันใหญ่ คือ เพิ่ม
ความดื้อให้แก่เด็กมากขึ้น หรือถ้าเขาจะทำตามก็ทำด้วย
ความกลัว มิใช่ทำด้วยความสมัครใจ อันไม่ก่อให้เกิด
ผลดีอะไรแก่เด็ก
การทำโทษเด็กด้วยวิธีการที่ไม่ทำให้เขาเข้าใจเหตุผล
เป็นการกระทำที่ไม่ควร เป็นการลงโทษแบบไม่มี
เหตุผล...เสียหายมาก จึงควรถือเป็นหลักไว้ว่าต้อง
ทำความเข้าใจกันก่อน ให้เขาเข้าใจเรื่องอย่างชัดเจน
แล้วจึงลงโทษตามกฎที่ได้ตั้งไว้ เด็กที่รู้ตัวว่าผิด แม้จะ
ถูกตีก็ไม่น้อยใจ แต่ถ้าหากเขารู้ว่าถูกลงโทษเพราะ
อคติแล้วเขาจะน้อยใจนักหนา ขออย่าได้สร้างความ
น้อยใจแก่เด็กของท่านเลย เมื่อท่านทำโทษเด็กด้วยเหตุผลอันสมควรแล้ว
ขอให้ท่านลืมเรื่องนั้นเสีย ทำใจเหมือนกับว่าไม่มีอะไร
เกิดขึ้นแก่ท่านและเด็กของท่าน การลงโทษเขา แล้วยัง
เอามาพูดพร่ำทำเพลงอยู่อีกนั้น ทำให้ท่านกลายเป็นคน
ขี้บ่นจู้จี้ปากเปียกปากแฉะ เด็กของท่านก็จะไม่เคารพ
ในตัวท่าน เขาจะหาว่าท่านเป็นคนไม่ได้ความ
กฎธรรมดามีอยู่ว่า สิ่งใดก่อให้เกิดความเจ็บปวด
เกิดความละอายใจ...สิ่งนั้นไม่มีใครปรารถนา แต่สิ่งใด
ทำให้สบายใจ...ทุกคนจะพอใจสิ่งนั้น ก็อยากให้พูดถึง
สิ่งนั้นบ่อยๆ แต่ก็ต้องพูดเป็นเวลาเป็นสาระ และทำให้
สบายใจผู้ฟังเสมอ
ข้อควรจำ ๑ . อย่าลงโทษเด็กในเมื่อความผิดนั้นไม่ได้ปรากฏต่อ
หน้า หรือไม่มีพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดของเขา
๒ . อย่าทำโทษเด็กเพื่อประชดประชันอีกคนหนึ่ง
เช่น โกรธพ่อทุบลูกเสียบอบช้ำไป อย่างนี้ไม่เป็นธรรม
แก่เด็ก
๓ . อย่าผัดเพี้ยนการทำโทษในเมื่อความผิดนั้นได้
ปรากฏต่อหน้าหรือมีพยานหลักฐานแล้ว เช่นผัดว่า
" รอให้พ่อกลับมาก่อนเถอะ จะให้พ่อเฆี่ยน " ๔ . อย่าเอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับโทษของเด็กมาเป็นการ
ลงโทษเด็ก เช่น สัญญาว่าคืนนี้จะพาเด็กไปดูละคร พอ
เด็กกระทำผิดก็งดการไปดูละครเสีย การงดไปดุ
ละครเป็นการลงโทษเด็ก ซึ่งไม่สมควรทำเช่นนั้น
๕ . อย่าเอาชนะเด็กภายหลังที่ทำโทษเด็กแล้ว จะ
ทำให้เด็กคิดเห็นไปว่าการทำโทษเป็นการบรรเทาโทสะ
ของตน หรือทำให้เด็กเห็นว่าท่านเป็นคนอ่อนแอ
เด็กจะไม่เกรงกลัวท่านในกาลต่อไป
๖ . อย่าลงโทษเด็กที่ได้รับโทษตามความผิดของ
เขาแล้ว เช่นเด็กซนไปล้มลงท่านก็โกรธไปตีซ้ำ พร้อม
กับพูดคำหยาบสำทับเขา ย่อมเป็นการไม่เหมาะสม
เพราะหากหกล้มสอนให้เขารู้ว่า เจ็บปวดขนาดไหนอยู่
แล้ว อย่าเพิ่มความปวดร้าวทางใจให้เขาอีกเลย และ
หากว่าเด็กยังไม่เดียงสา ท่านก็ควรให้ความระมัดระวัง
แก่เขา
๗ . อย่าทำโทษเด็กด้วยลิ้นของตน การด่าว่าบ่นจู้จี้
เด็กเป็นสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นการถ่ายทอดนิสัยให้
เด็กเปล่าๆ คนปากจัดจึงควรระวังสักหน่อย ๘ . สิ่งใดที่ท่านบอกว่าเขาผิด ก็ให้ถือว่าเป็นความผิด
ตลอดไป เช่นเด็กของท่านตบหน้าท่าน ท่านก็ตีเขาใน
ฐานะที่ความประพฤติไม่ดี แต่ต่อมาเขาตบหน้าท่านอีก
บังเอิญอารมณ์ของท่านดี ท่านหัวเราะเห็นเป็นของขันไป
การกระทำของท่านทำให้เด็กงงงวย ไม่สามารถเข้าใจว่า
เมื่อไรการกระทำเช่นนั้นถูกผิดอย่างไร
๙ . อย่าทำโทษให้ผิดกันระหว่างผู้มีสิทธิทำโทษเด็ก
พ่อทำโทษเด็กอย่างใดในความผิดอย่างหนึ่ง แม่ก็ควรทำโทษแบบ
เดียวกัน
๑๐ . อย่าทำโทษด้วยความลำเอียง เช่นพี่น้องทะเลาะ
กัน พี่ถูกทำโทษหนัก น้องถูกทำโทษสถานเบาเพราะ
เห็นว่าเล็กกว่า ทำให้พี่เกิดน้อยใจและริษยาน้อง เกิด
ความเคียดแค้น อาจที่จะทำร้ายน้องได้ในภายหลัง และ
ขาดจากความเคารพในตัวท่านด้วย
๑๑ . อย่าทำโทษเด็กโดยอาการเปาะแปะและพร่ำเพื่อ
จงทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ๑๒. จงอย่าลงโทษเด็กโดยอาการไม่สมควร เช่น
โกรธไม่พูดด้วยสามวัน
๑๓. อย่าโต้แย้งในเรื่องการลงโทษเด็กต่อหน้าเด็ก
ถ้าจะโต้เถียงกันอย่าทำให้เด็กเห็น
๑๔. อย่าแสดงอาการเหลาะแหละ ไม่กล้าเอาจริง
เอาจัง ด้วยการแสดงเอะอะให้คนอื่นทำโทษเด็กให้
การทำโทษนั้นจะไม่ศักดิ์สิทธิ และไม่ทำให้เด็กเชื่อถือยำเกรง
การทำโทษเด็กเป็นเรื่องสำคัญ
อย่าลงโทษเด็กของท่าน...
โดยปราศจากหลักการเป็นอันขาด
หลักการทำโทษเด็กทั้ง ๑๔ ข้อนี้
เป็นหลักใหญ่ที่ท่านควรจำไว้ให้ดีและนำไปใช้เถิด
ลูกของท่านก็จะกลายเป็นเด็กสุภาพเรียบร้อย
มีความเคารพยำเกรงในตัวท่าน
เชื่อฟังคำของท่านเสมอ แต่ถ้าท่านทำตนไม่เหมาะสม
เอาอารมณ์โทสะเข้าใช้กับเด็กแล้ว
มันก็เป็นความผิดของท่านเอง
จะไปโทษใครหาได้ไม่
ขอท่านอย่าได้ร้อนใจในภายหลังจากเรื่องนี้เลย พ่อ...แม่ ที่มีความรักลูก
ก็อยากจะให้ลูกเป็นคนดี
มีคุณธรรมประจำจิตใจ
เรื่องคนดีนี่อยู่ที่มีคุณธรรม
ถ้าไม่มีคุณธรรมแล้ว...ก็เอาดีไม่ได้
เด็กทุกคนไม่อยากกระทำผิด
แต่ทำไปเพราะความไม่รู้
จงให้เขารู้เสียว่าอะไรผิด และเขาจะไม่ทำสิ่งนั้นเป็นอันขาด
เพราะปกติของเด็กอยากให้ผู้ใหญ่รักตน
ถ้ารู้ว่าทำอย่างนั้นผู้ใหญ่ไม่รัก...เขาก็คงเลิกไปเอง
รักลูก
ให้ถูกทาง...หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ