Beeman P1
Beeman P1 ออกแบบร่วมกันโดย Dr. Robert Beeman และ Weihrauch ซึ่งใช้ชื่อในประเทศอื่นว่าHW 45 จุดประสงค์หลักในการออกแบบคือ ต้องการขายตลาดอเมริกา จึงต้องเลือกเอาปืนที่คนอเมริกันรู้จักกันมากที่สุด นั่นก็คือ Colt .45 Auto การออกแบบนี้หาใช่เป็นการก๊อปปี้แต่เป็นการคัดเลือกเอาคุณสมบัติที่ดีเด่นมาเป็นฐานงาน ในสมัยแรกปืนลมสั้นจะไม่สั้นนักเพราะการออกแบบด้วยกระบอกสูบที่ปลายด้านหน้าต่อกับลำกล้องอย่างที่เราเคยเห็น ๆ กันมาจนชินตา Webley เริ่มเปลี่ยนโฉมปืนลมสั้น โดยย้ายเอาลำกล้องไปอยู่ด้านบน ส่วนจุดหมุนก็ยังคงอยู่ด้านหน้าเหมือนเดิม แต่ลำกล้องกลับถูกยกจากด้านหลังตีไปด้านหน้าเป็นการขึ้นลำ กลไกเช่นนี้ทำให้ปืนลมสั้นลดขนาดความยาวลงได้ประมาณครึ่งหนึ่งทีเดียว Beeman P1 จึงมีความยาวเพียง 11 นิ้วเท่านั้น อนึ่งนกด้านหลังนั้น ทำหน้าที่เป็นตัวล็อคลำกล้อง ซึ่งไอเดียนี้เป็นของ Toshiko ภรรยาของ Dr. Robert Beeman นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีระบบให้เลือกยิงได้ที่ 2 ระดับ คือถ้าง้างลำกล้องจนมาถึงล็อคแรกก็จะได้ที่ความเร็วประมาณ 380 fps ซึ่งก็ดีกว่าปืนลมสั้นหลาย ๆ ตัวแล้ว แต่ถ้าง้างจนถึงล็อคที่สอง ก็จะได้ที่ความเร็วประมาณ 600 fps ซึ่งนับว่าเป็นปืนลมสั้นที่มีกำลังสูงสุดเท่าที่เคยมีมา เหตุผลก็คือการออกแบบโดยใช้สูบเต็มความยาวของตัวปืน แต่ยังคงสมดุลย์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ด้านบนของลำกล้องจะมีรางขนาด 11 มม. สำหรับติดกล้องซึ่งกล้องที่ติดนี้จะขยับและติดไปกับลำกล้องเสมอ เช่นเดียวกับศูนย์หน้าและศูนย์หลัง จึงทำให้มีความแม่นยำสูง ต่างจากปืนลมอื่น ๆ ซึ่งจะมีศูนย์หน้าติดปลายลำกล้อง แต่ศูนย์หลังติดกับตัวปืนด้านหลัง และเมื่อใช้งานถ้าตัวล็อคลำกล้องไม่แน่นและคงที่ ตำแหน่งสัมพันธ์ของศูนย์ทั้งสองจะเปลี่ยนไป ทำให้ไม่แม่นยำ ไกของ Beeman P1 นั้นเป็นระบบ 2 stages ปรับน้ำหนักได้จาก 28 ออนซ์ ไกกว้างทำให้เบามือ (หมายถึงสบายนิ้วนะครับ) และยังได้รับผลตอบรับจากลูกค้าว่า ไกนั้นเป็นส่วนที่ดีส่วนหนึ่งของ Beeman P1 ทีเดียว การออกแบบอย่างประณีตยังไม่ได้หมดเท่านี้ เพราะด้ามปืนนั้นยังออกแบบให้มีมิติหรือสัดส่วนเท่ากับ Colt .45 จึงสามารถใช้อุปกรณ์ประกับด้ามจาก Colt .45 ได้ด้วย ผลก็คือทำให้สามารถใช้ Beeman P1 ซ้อมยิงแทน Colt .45 โดยไม่ต้องเสียราคากระสุนบรรจุดินปืนที่ราคาแพงกว่าลูกกระสุนปืนลมมาก และด้วยเหตุผลที่ว่า สปริงตอนยิงนั้นคลายตัวจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง recoil จึงให้ความรู้สึกคล้าย ๆ กับปืนจริงมากขึ้นไปอีก มีให้เลือก 3 ขนาดคือ .177, .20 กับ .22 ขนาด .22 นั้น จะต้านลมได้ดีกว่า และมีแรงปะทะสูง โครงปืนทั้งหมดทำด้วยโลหะหล่อ ต่างจากปืนลมปัจจุบันที่มักใช้สารสังเคราะห์หรือแม้กระทั่งพลาสติคก็มี

อนึ่งปืนลมถ้าจำหน่ายโดย Beeman แล้ว จะมี option ให้เลือกมากมาย อาทิ กลุ่มกระสุน (คือหลังจากผลิตแล้ว เขาจะนำปืนมาหนีบกับแท่นแล้วยิงเข้าเป้า 5-10 นัด ปืนแต่ละกระบอกก็จะมีเป้าของตัวเองติดมา ทาง Beeman จะเลือกเอาที่กลุ่มกระสุนดีที่สุด อีกอย่างด้ามไม้ก็สามารถเลือกเกรดได้เป็นต้น


สำหรับกระบอกของผมนี้ ได้ทำการปรับแต่งดังนี้คือ
1. ตัวถังถอดออกมาทุกส่วนแล้วทำกระบวนการพ่นทรายหรือ sand blast แต่ความจริงแล้วผมไม่ได้ใช้ทรายแต่เป็นผงลูกแก้ว หรือ glass beads เพราะออกมาจะดูเนียนและละเอียดกว่าผงทราย
2. จากที่ปรับความแรงได้ 2 ระดับ ผมทำเป็น 3 ระดับ คือเพิ่ม ระดับต่ำสุดเข้าไป สำหรับยิงในบ้านระยะใกล้ ๆ งานนี้ทำโดยการเอาลูกสูบออกมา เจาะรูสี่เหลี่ยมเพิ่ม ในแนวเดียวกับ 2 รูเดิม แต่กะระยะพอว่าให้สปริงถูกกดได้ราว 1 ใน 3 แล้วไกก็จะล็อค
3. กล้องที่ใช้คือ Aimpoint รุ่นแรก ตัวถังทั้งแท่งหล่อจากอะลูมิเนียมหนักประมาณ 2 ตันเห็นจะได้....555 มองดูที่รูจะเห็นเป็นจุดแสงสีแดง ไม่เหมือนกับแสงเลเซอร์ที่มองเห็นยากในที่แจ้ง ผมเอาไปทำการ sand blast ด้วย glass beads ให้เหมือนกับตัวปืน
4. ด้ามนั้น ผมทำเองจากไม้จันดง ใช้เวลาทำอยู่หลายวันตอนเย็น ๆ และตัดสินใจใช้ทาน้ำมันทั้งด้านนอกและด้านในแทนการเคลือบเงา เพราะจะได้กลมกลืนกับความด้านของส่วนอื่น ๆ
5. ภายในผมถอดออกมา ล้างด้วยน้ำมันล้างคาร์บิว และทำงานชะโลมน้ำมันหรือจาระบีแล้วแต่ความเหมาะสม

Beeman P1 ยังมีอีก option หนึ่งแต่ผมไม่ได้ซื้อมาคือ ด้ามพานท้ายขนาดเดียวกับปืนยาว ทำด้วยไม้ มีเดือยเหล็กใส่ประกบกับด้ามแล้วสามารถใช้ประทับยิงได้แบบปืนยาว ดังรูปครับ

นอกจากนี้ยังมีลำกล้องทั้ง 3 ขนาดขายแยกให้ และสามารถเปลี่ยนเองได้โดยง่าย อนึ่งในอังกฤษมีคนทำลำกล้องยาวพิเศษขาย ซึ่งแจ้งว่าสามารถเพิ่มความเร็วและความแม่นยำได้ด้วย

การที่ผมถอดชิ้นส่วนมาทำความสะอาดและทาน้ำมันแบบนี้ มันติดต่อไปยังเครื่องมืออื่น ๆ ด้วย เช่น สว่านไฟฟ้า หรือ พวกเครื่องมือที่มีส่วนเคลื่อนไหวและต้องการสารหล่อลื่น ผมจะถอดมาทำหมดทุก ๆ อย่าง ทำแล้วสบายใจ และรู้สึกว่าเครื่องมือจะใช้ดีขึ้นและทนทานนานมากขึ้น อีกอย่างเราจะได้รู้ระบบกลไกการทำงานภายในไปด้วยในตัว เครืองมือบางอย่างดูเหมือนจะถอดแยกไม่ได้ แต่ผมมักจะบอกตัวเองเสมอ ๆ ว่า ในเมื่อเขา ประกอบ มาได้ เราก็ต้อง ถอดแยก ออกได้ เครื่องมือบางอย่าง ก็ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการถอด


Beeman P1 กระบอกนี้ ถ้าเป็นนักกีฬาก็นับว่าได้ถูกยกเข้า Hall of Fame กับเขาด้วย

ครั้งหน้าผมจะนำปืนลมอีก 2 กระบอกซึ่งสามารถเป็นสมาชิกใน Hall of Fame มาให้ชมกัน


