ทำไมถึงเอาเรือไปฉีดน้ำเพื่อหล่อเย็น แบบวันก่อนไม่ได้ล่ะครับ
กลับต้องเอา ฮ ไปตักน้ำมาราดแทน
เดาเอาเองว่าคงจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของคนทำงานหน่ะครับ
ปล. นับถือใจของอาสาสมัครที่เข้าไปทำงานในโรงไฟฟ้าเลยครับ รู้ทั้งรู้ว่าเข้าไปแล้วจะมีผลกระทบกับตัวเองอย่างไร แต่ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ

รายละเอียด ผู้อาสาสมัครครับ
ครอบครัวเผยภารกิจพลีชีพของของฟูกูชิม่า 50
18 มีค. 2554 13:41 น. จากผู้จัดการ on line
ครอบครัวเผยภารกิจพลีชีพของของฟูกูชิม่า 50 ระดมฉีดน้ำแรงดันสูงอาจเป็นทางเลือกสุดท้าย ยอดตาย-สูญหายแตะ 14,000 คน อีก 492,000คน ไร้ที่อยู่อาศัย ราษฎร 850,000 ครัวเรือน ทางตอนเหนือ ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ท่ามกลางอุณหภูมิที่เย็นจัด
คนงานภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิม่า หมายเลข 1 จำนวน 50 คน หรือ ฟูกูชิม่า 50 ได้ยอมรับชะตากรรมของพวกเขา ที่ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า บางทีอาจเรียกได้ว่า เป็นภารกิจพลีชีพ โดยหนึ่งในคนงาน ที่กำลังทำงานอุทิศตนเพื่อส่วนรวม บอกว่า พวกเขายอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตหรือสูญหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิ พุ่งไปอยู่ที่ 14,000 คนแล้ว อีก 492,000คน ไร้ที่อยู่อาศัย ราษฎร 850,000 ครัวเรือน ทางตอนเหนือ ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ท่ามกลางอุณหภูมิที่เย็นจัด
ตอนนี้ ระดับของสารกัมมันตรังสีภายในโรงไฟฟ้า ได้เข้าสู่ระดับที่ถ้าไม่ทำให้คนงานเสียชีวิตในทันที ก็อาจทำให้พวกเขาล้มป่วยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ชุดป้องกันที่พวกเขาสวมใส่ ป้องกันการปนเปื้อนได้เพียงเล็กน้อย ทั้ง 50 คน ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง หลังจากเพื่อนร่วมงาน 700 คน ต่างถอนตัวออกไป เมื่อพบว่า ระดับสารกัมมันตรังสีอันตรายเกินไป
ไม่มีการเปิดเผยว่า คนงานทั้ง 50 คน เป็นใครบ้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า พวกเขาเป็นช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ที่รู้เรื่องโรงไฟฟ้าแห่งนี้ดีที่สุด อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงวัยที่อาสาเข้าทำงานเสี่ยงภัย เพราะคิดว่า พวกเขามีลูกกันหมดแล้ว แต่พวกหนุ่ม ๆ อาจเสี่ยงจะเป็นหมันได้ ถ้าต้องเผชิญกับสารกัมมันตรังสี
เชื่อว่า ฟูกูชิม่า 50 จะมีทีมงานจริง ๆ รวม 200 คน แต่พวกเขาจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทีมละ 50 คน ในการทำงาน 4 กะ เพื่อกอบกู้ระบบหล่อเย็นให้กลับมาใช้งานได้อีก ข่าวสารจากพวกเขาที่ส่งกลับบ้าน ได้ถูกสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ นำมาเผยแพร่เมื่อวานนี้ พร้อมกับสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวของพวกเขา ลูกสาวของคนงานคนหนึ่ง บอกว่า พ่อของเธอกำลังทำงานอยู่ในโรงไฟฟ้า โดยบอกว่า ยอมรับชะตากรรมที่เหมือนกับคำตัดสินประหารชีวิต
ผู้หญิงคนหนึ่ง บอกว่า สามีของเธอที่ทำงานอยู่ในโรงไฟฟ้า ยังคงทำงานต่อไปทั้งที่ทราบดีว่าเขากำลังได้รับสารกัมมันตรังสีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนอีกคนหนึ่ง บอกว่า พ่อของเธอ ซึ่งมีอายุ 59ปีแล้ว ได้อาสาเข้าไปทำงานในฟูกูชิม่า แม้ว่ากำลังจะเกษียณในเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งเวลาอยู่ที่บ้าน พ่อของเธอไม่ได้มีทีท่าว่าจะเป็นคนที่รับผิดชอบภารกิจอันใหญ่หลวงได้ แต่ตอนนี้ เธอภูมิใจในตัวเขา และสวดมนตร์ขอให้เขากลับออกมาอย่างปลอดภัย