ผู้นำสำคัญของกลุ่มเสมอภาคคือ นักลัทธิประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ชื่อ
จอห์น ลิลเบอร์น(Lilburne John 1614-1657)

ลิลเบอร์นเคยถูกจับขังคุกในสมัยการปกครองของกษัตริย์ชาร์ลส์เนื่องจากเขาคัดค้านคณะอังกลิกัล
หลังจากออกจากคุกในปี 1641 แล้ว ก็เข้าเป็นทหารร่วมรบอยู่ในกองทัพรัฐสภา ต่อมาเนื่องจาก
ไม่พอใจต่อนโยบายคัดค้านประชาชนของรัฐสภา จึงลาออกจากกองทัพ ปี 1646 เขาถูกกลุ่ม
คณะเพรสไบเทอร์เรียนจับใส่คุกอีกเนื่องจากเผยแพร่คำพูดและข้อคิดเห็นให้ล้มราชบัลลัก์ เลิกสภาสูง
และเลิกภาษี 10 ชัก 1 เป็นต้น ระหว่างอยู่ในคุกเขาก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อไป โดยการออกจุลสาร
ที่โฆษณาเผยแพร่หลักนโยบายทางการเมืองของกลุ่มเสมอภาค เขาเริ่มต้นจากทฤษฏีว่าด้วย
สิทธิมนุษย์เป็นสิทธิฟ้าประทานของชนชั้นนายทุน เห็นว่าคนเราเกิดมาล้วนแล้วแต่เสมอภาค
ล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกันในด้านเสรีภาพและความปลอดภัยส่วนบุคคล มีแต่กติกาที่ประชาชน
เห็นชอบด้วยจึงเป็นแหล่งที่มาของอำนาจทางกฏหมาย (ความเห็นส่วนตัวว่าน่าจะเป็นจุดกำเนิดลัทธิประชาธิปไตย)เขาประณามรัฐสภาว่าเป็น ทรราชย์ ดุจเดียวกับกษัตริย์ ข้อคิดเห็นของลิลเบอร์น
ไม่ได้ล้ำออกนอกเส้นของชนชั้นนายทุน แต่ว่าความคิดประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนของเขา
กลับมีผลสะเทือนในหมู่พลทหารและมวลประชาชนอย่างใหญ่หลวง ปี 1647 พวกพลทหารเรียกร้อง
ให้ปล่อยตัวลิลเบอร์น สานุศิษย์ของเขาก็ดำเนินการจัดตั้งมวลชนพลทหารในกองทัพ ขยายการต่อสู้
กลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียนเห็นว่า กองทัพที่กุมอยู่ในมือของกลุ่มอิสระเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุ
แผนกโลบายของพวกเขา ดังนั้น รัฐสภาจึงมีมติสลายกองทัพ ส่วนใหญ่ปลดประจำการกลับบ้าน
ส่วนหนึ่งส่งไปปราบปรามการต่อสู้กู้ชาติของชาวไอร์แลนด์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1641 มตินี้ได้ก่อให้เกิด
การต่อต้านอย่างรุนแรงภายในกองทัพ เดือนเมษายน 1647 เหล่าพลทหารในกรมกองต่างๆ
ได้เลือกผู้แทนของตน จัดตั้งเป็น "สภานักปลุกระดมพลทหาร" ดำเนินการต่อสู้ทวงเบี้ยเลี้ยงที่ตกเบิก
คัดค้านการสลายกองทัพ ช่วงชิงสิทธิและผลประโยชน์ด้านต่างๆ ครอมเวลล์ในฐานะตัวแทนพันธมิตร
ชนชั้นนายทุนและขุนนางใหม่ชั้นกลางได้เผชิญกับสถานการณ์ใหม่ของการต่อสู้ทางชนชั้นหลังสงคราม
ในชั้นแรกเขามุ่งหวังจะสร้างพันธมิตรกับชนชั้นนายทุนใหญ่และส่วนบนของขุนนางใหม่ร่วมเสพย์ดอกผลของการปฏิวัติ
ไม่มีความเห็นแย้งต่อมติสลายกองทัพของรัฐสภา กระทั่งขอร้อง "นักปลุกระดม" ยอมรับมติของรัฐสภา แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก
จากพลทหาร มาถึงตอนนี้ ครอมเวลล์เล็งเห็นถึงอันตรายทีเขาอาจต้องสูญเสียการสนับสนุนจากพลทหารชั้นล่าง
จึงเปลี่ยนความคิด ตัดสินใจปฏิเสธคำสั่งสลายกองทัพของรัฐสภา ประกาศว่าจะแตกหักกับกลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียน
วันที่ 2 มิถุนายน เขาคุมตัวชาร์ลส์ไปเก็บไว้ในค่ายทหารนิวมาร์เก็ต เพื่อหยุดยั้งการสมคบคิดกับกษัตริย์ของ
กลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียน ขณะเดียวกันครอมเวลล์ยังวางแผนจัดตั้ง "สภากองทัพ" ซึ่งประกอบขึ้นจากผู้แทนของ
นายทหารชั้นสูงและพลทหารชั้นล่าง เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมกองทัพของเขา เดือนกรกฏาคม พวกพลทหาร
เรียกร้องให้เคลื่อนทัพเข้าสู่กรุงลอนดอน ทำการบดขยี้แผนกโลบายของพวกปฏิกิริยา ครอมเวลล์ได้ขอร้องและขัดขวาง
อย่างสุดความสามารถ ทั้งเสนอให้ "สภากองทัพ" ร่าง "หลักนโยบายการเจรจา" ขึ้นฉบับหนึ่ง เพื่อดำเนินการเจรจากับกษัตริย์
แต่ถูกกษัตริย์ชาร์ลส์ปฏิเสธ เนื่องจากพวกอำนาจเก่าฮึกเหิม ภายใต้แรงกดดันของมวลชนพลทหาร ครอมเวลล์จึงจำต้อง
เคลื่อนทัพเข้าสู่กรุงลอนดอนในเดือนสิงหาคม กวาดล้างพวกวางแผนกโลบายของกลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียนจำนวนมาก
พากันหลบหนีหัวซุกหัวซุน กลุ่มอิสระจึงได้กุมอำนาจรัฐสภามาไว้ในมือตนเอง
หลังจากกลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียนถูกขับออกจากรัฐสภาแล้ว การต่อสู้ระหว่างนายทหารชั้นบนที่เป็นกลุ่มอิสระ
กับพลทหารชั้นล่างที่เป็นกลุ่มเสมอภาคก็ระเบิดขึ้น ปัญหาที่เป็นใจกลางของการต่อสู้คือ ปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบ
อำนาจรัฐและปัญหาการเลือกตั้งทั่วไป นายทหารกลุ่มอิสระมีข้อคิดเห็นให้ธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบกษัตริย์และสภาสูง
เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาใหม่โดยยึดถือคุณสมบัติทางทรัพย์สินเป็นหลัก ข้อคิดเห็นเหล่านี้ของพวกเขาได้เขียนไว้ใน
"หลักนโยบายการเจรจา" อย่างแจ่มชัด ส่วนกลุ่มเสมอภาคนั้นเสนอ "กติกาประชาชน" ขึ้นต่อต้าน เสนอข้อคิดเห็นให้ดำเนิน
"สิทธิเลือกตั้งทั่วไป" และสร้างรัฐสภาที่มีสภาเดียวบนพื้นฐานของการเลือกตั้งทั่วไป เป็นสถาบันอำนาจสูงสุดของประเทศ
โดยทางเป็นจริงแล้วนี่เท่ากับเลิกสภาสูงและกษัตริย์ สถาปนาสาธารณรัฐ เพียงแต่ไม่ได้เสนอออกมาอย่างโจ่งแจ้งเท่านั้น
แต่ว่าหลักนโยบายของกลุ่มเสมอภาค ไม่ได้แตะต้องปัญหามูลฐานของการปฏิวัติปัญหาหนึ่ง ซึ่งก็คือ ปัญหาการเรียกร้อง
ที่ดินของชาวนาในสังกัดบัญชีหลวง ละเลยต่อผลประโยชน์ของชาวนาผู้มีนาทำเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสมอภาคอ่อนแอไร้พลัง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลักนโยบายของกลุ่มเสมอภาคมีลักษณะจำกัด
แต่ก็เคยเกิดบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การปฏิวัติพัฒนาซึมลึกยิ่งขึ้น
ปลายเดือนตุลาคม 1647 "กติกาประชาชน" ถูกนำเข้าอภิปรายในสภากองทัพซึ่งเปิดขึ้นในที่แห่งหนึ่งใกล้ๆ กรุงลอนดอน
ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการโต้อภิปรายกันอย่างเผ็ดร้อน ครอมเวลล์เห็นว่า ระบอบกษัตริย์ไม่ควรไปโยกคลอน เขากล่าวว่า
สิทธิเลือกตั้งทั่วไปจะนำไปสู่ภาวะ "อนาธิปไตย" วันที่ 15 พฤศจิกายน กลุ่มเสมอภาคถือโอกาสในพิธีสวนสนามของกองทัพ
ดำเนินการสำแดงกำลัง เขียนคำขวัญ "กติกาประชาชน" "คืนเสรีภาพแก่ประชาชน ให้สิทธิผลประโยชน์แก่พลทหาร"
ติดไว้ที่หน้าหมวกทหาร แต่การสำแดงกำลังครั้งนี้ถูกครอมเวลล์ปราบลงอย่างรวดเร็วผู้นำการเคลื่อนไหวถูกจับใส่คุก
และประหารชีวิต กลุ่มเสมอภาคพ่ายแพ้แล้ว สภากองทัพถูกยุบและถูกแทนที่ด้วยสภานายทหาร
สงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 กับการสถาปนาสาธารณรัฐ
ในขณะที่ภายในกองทัพมีการต่อสู้กันอยู่นั้น อิทธิพลปฏิกิริยาก็ได้เงยหัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งปลายปี 1647 กษัตริย์ลอบหนี
ออกจากที่คุมขัง แต่หนีไปถึงเกาะไวท์ ก็ถูกจับตัวได้อีก เนื่องจากเกรงว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนจะมีกระแสสูงขึ้นอีก
กลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียนของสก๊อตแลนด์ และกลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียนของอังกฤษ ต่างก็ส่งคนไปเจรจากับ
กษัตริย์ชาร์ลส์ ทำข้อตกลงลับกัน ฤดูใบไม้ผลิปี 1648 พวกนิยมกษัตริย์ได้อาศัยปัญหาทุพภิกขภัยและความยากลำบาก
ทางเศรษฐกิจได้ก่อการจลาจลในท้องที่ต่างๆ เช่น ลอนดอน เวลส์และเคนต์ มีเรือรบหลายลำก็แปรพักตร์ไปเข้ากับ
ฝ่ายนิยมกษัตริย์ เดือนกรกฏาคม กองทัพสก๊อตแลนด์เคลื่อนกำลังเข้าสู่ภาคเหนือของอังกฤษ สนับสนุนการกบฏของ
กษัตริย์ชาร์ลส์
เบื้องหน้าการคุกคามจากสงครามครั้งใหม่ที่ฝ่ายนิยมกษัตริย์ก่อขึ้น กลุ่มอิสระจึงตัดสินใจประนีประนอมกับ
กลุ่มเสมอภาคชั่วคราว ในที่ประชุมสภากองทัพในเดือนเมษายน 1648 กลุ่มอิสระและกลุ่มเสมอภาคตกลงจับมือกัน
ตีฝ่ายกษัตริย์พ่ายแพ้ไป ผ่านการสู้รบเป็นเวลาหลายเดือนการก่อกบฏในท้องที่ต่างๆ ของฝ่ายกษัตริย์
จึงถูกปราบปรามลงไปได้ สงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ยุติลงด้วยการที่ กรุงเอดินบะระของสก๊อตแลนด์ ถูกยึดครอง
ขณะที่กองทัพออกจากกรุงลอนดอนเพื่อปราบปรามการกบฏของฝ่ายกษัตริย์นั้น กลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียน
ก็สร้างฐานะได้เปรียบในรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งดำเนินการเจรจากับกษัตริย์เกี่ยวกับการคืนสู่ราชบัลลังก์
ต้นเดือนธันวาคม กองทัพเคลื่อนกำลังเข้าสู่กรุงลอนดอน เข้าควบคุมรัฐสภา ทำการกวาดล้างสมาชิกรัฐสภา
กลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียนที่วางตัวเป็นศัตรูกับกองทัพจำนวน 140 กว่าคน ด้วยเหตุจากการกวาดล้างและ
สมาชิกบางส่วนจงใจไม่เข้าร่วมประชุม ทำให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมมีเพียง 50-60 คนเท่านั้น
ต่อมารัฐสภาช่วงยาวจึงถูกขนานนามว่า "รัฐสภาไม่สมประกอบ"
รัฐสภาดำเนินการต่อสู้ต่อไปในปัญหาพิจารณาพิพากษาโทษกษัตริย์ชาร์ลส์ สภาล่างใช้เวลาอภิปรายเกือบ 1 เดือนเต็มๆ
จึงเสนอให้ส่งตัวชาร์ลส์ขึ้นศาลฐานทรยศกบฏชาติ แต่ว่าสภาสูงซึ่งมีสมาชิกสภาเหลืออยู่เพียง 16 คนกลับใช้สิทธิยับยั้ง
ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักของพลทหารและมวลชน กลุ่มอิสระภายหลังที่ประกาศให้สภาล่างเป็นสถาบันอำนาจสูงสุดแล้ว
ได้ผ่านมติจัดตั้งศาลสูงพิเศษที่ประกอบด้วยบุคคลจากรัฐสภาและกองทัพรวม 135 คนทำการพิจารณาพิพากษาคดีของ
กษัตริย์ชาร์ลส์ ในวันที่ 6 มกราคม 1649 ถึงวันที่ 27 เดือนเดียวกันศาลอ่านคำพิพากษาว่า ชาร์ลส์แห่งราชวงศ์สจ๊วต
เป็นทรราชย์ ผู้ทรยศ อาชญากรฆ่าคน และศัตรูร่วมของประชาชน ให้สำเร็จโทษเสีย วันที่ 30 มกราคม
ท่ามกลางเสียงชัยโยโห่ร้อง ชาร์ลส์ถูกบั่นพระเศียร
ภายหลังกษัตริย์ชาร์ลส์สิ้นพระชนม์ รัฐสภาของกลุ่มอิสระได้ผ่านกฏหมายจำนวนมาก ในการประชุมระหว่าง
เดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤษภาคม 1649 ยกเลิกสภาขุนนาง กำหนดให้รัฐสภาที่มีสภาเดียวเป็นสถาบันอำนาจสูงสุด
ของประเทศ และมอบอำนาจบริหารให้กับคณะรัฐมนตรีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพซึ่งมีครอมเวลล์เป็นผู้นำ
เดือนพฤษภาคม รัฐสภาประกาศให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ
กระแสสูงใหม่ของการต่อสู้ช่วงชิงประชาธิปไตยของมวลประชาชน กลุ่มขุดดิน
ภายหลังสถาปนาสาธารณรัฐ กลุ่มอิสระได้ยึดอำนาจรัฐไว้ในมือ สร้างเผด็จการชนชั้นนายทุนและขุนนางใหม่
ในด้านเศรษฐกิจ กลุ่มอิสระยังคงดำเนินนโยบายของคณะเพรสไบเทอร์เรียนต่อไปรีดนาทาเร้นคนยากคนจน
ปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินชนชั้นนายทุนและขุนนางใหม่อย่างอย่างสุดกำลังในทางการเมืองปฏิเสธการปฏิรูปใดๆที่จะ
ดำเนินไปอีกก้าวหนึ่ง เป็นเหตุให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสมอภาคมีกระแสสูงขึ้นและการลุกฮือแข็งข้อของพลทหาร
ลิลเบอร์นประณามคณะรัฐมนตรีอย่างเปิดเผยว่า มันคือเตียงนอนอันอบอุ่นของทรราชใหม่ รัฐบาลของกลุ่มครอมเวลล์
เป็นราชวงศ์ที่เผด็จการยิ่งกว่า ป่าเถื่อนยิ่งกว่าราชวงศ์ที่ผ่านมา เดือนมิถุนายน ลิลเบอร์นกับมิตรร่วมรบของเขา
ส่วนหนึ่งถูกจับ เพื่อจะทำลายกลุ่มเสมอภาคในกองทัพ ครอมเวลล์ตัดสินใจส่งพวกเขาไปปราบปรามการลุกขึ้นสู้
ทางประชาชาติของไอร์แลนด์ กลุ่มเสมอภาคดำเนินการต่อสู้ชนิดมาไม้ไหนไปไม้นั้น พวกเขาเสนอให้จ่ายเงิน
เบี้ยเลี้ยงตกเบิก คัดค้านการส่งทหารไปยังไอร์แลนด์และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองเป็นต้น พวกเขา
ดำเนินการปลุกระดมในกองทัพ เดือนพฤษภาคมกองทหารบางกรมกองที่ถูกส่งไปยังไอร์แลนด์ ขณะที่เดินทางไป
ถึงท้องที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ได้ก่อการลุกฮือแข็งข้อขนานใหญ่ การลุกขึ้นแข็งข้อของกองทหารทำให้รัฐสภา
และรัฐบาลตกอกตกใจเป็นกำลัง ครอมเวลล์เล่นลูกไม้ใหม่โดยยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกระหว่างกรมกองต่างๆ
เขาใช้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินตาม "กติกาประชาชน" เปิดประชุมรัฐสภาใหม่ และจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงตกเบิก
เป็นเหยื่อล่อ ไปทำให้หน่วยทหารอีกส่วนหนึ่งอยู่ในความสงบ ทั้งเสือกไสพวกเขาไปปราบปรามหน่วยทหาร
ที่ลุกขึ้นสู้ ครอมเวลล์ยังนำหน่วยทหารที่ประกอบด้วยชนชั้นชาวนาที่รวยด้วยตัวเอง ไปทำการปราบปราม
กลุ่มเสมอภาคที่ลุกขึ้นสู้อย่างโหดร้าย
ในเวลาเดียวกับที่กลุ่มเสมอภาคดำเนินการต่อสู้กับกลุ่มครอมเวลล์นั้น คนยากจนในชนบทก็ดำเนินการต่อสู้ช่วงชิง
ให้แก้ปัญหาที่ดินตามผลประโยชน์ของชาวนา ที่เด่นที่สุดในหมู่พวกเขาคือ "กลุ่มเสมอภาคที่แท้จริง" หรือ
"กลุ่มขุดดิน" การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสมอภาคโดยมูลฐานแล้วไม่ได้ล้ำออกนอกขอบเขตการช่วงชิงสิทธิ
เลือกตั้งทั่วไปของชนชั้นนายทุน กลุ่มขุดดินเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชาวนาที่ยากจนอันกว้างใหญ่ไพศาล
สะท้อนออกซึ่งความคิด
ลัทธิคอมมิวนิต์เฉลี่ยบรรพกาล ที่เรียบๆ ของชาวนา พวกเขาเห็นว่า บนผืนปฐพี
ที่หล่อเลี้ยงด้วยหยาดเหงื่อและหยดเลือดของประชาชน ประชาชนไม่เพียงแต่ควรได้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น
หากควรได้รับที่ดินด้วย ที่ดินที่แต่ละคนครอบครองควรจำกัดแค่ความจำเป็นในการดำรงชีพของแต่ละคนเท่านั้น
ที่ดินของกษัตริย์ ของรัฐ ของศาสนจักรและของพวกนิยมกษัตริย์จะต้องจัดสรรส่วนหนึ่งมาแบ่งให้ชาวนา
เนื่องจากกลุ่มอิสระก็เช่นเดียวกับกลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียน ไม่ได้ให้ผลประโยชน์อะไรในทางเป็นจริงแก่ชาวนา
ชาวนาที่ยากจนจึงลงมือแก้ปัญหาที่ดินด้วยตนเอง
นักคิดและผู้นำของกลุ่มขุดดินคือ
เกอร์ราด วินสแตนเลย์(Winstanley Gerrard 1609-1652)เขาเป็นพ่อค้าย่อยล้มละลายในกรุงลอนดอน ต่อมาไปเป็นชาวนารับจ้างในแคว้นซารีย์ใกล้ๆ กรุงลอนดอน
วินสแตนเลย์ ดำเนินการเคลื่อนไหวในนามคนยากจนที่ถูกกดขี่ทั้งปวงของอังกฤษโฆษณาความคิด
ลัทธิคอมมิวนิต์เฉลี่ยบรรพกาล เรียกร้องให้ทำลายระบอบกรรมสิทธิ์เอกชนในการถือครองที่ดิน
มีความคิดเห็นว่า คนทุกคนล้วนต้องออกแรงทำงาน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในด้านสิทธิผลประโยชน์
กลับไปสู่ภาวะธรรมชาติของระบอบถือครองที่ดินโดยส่วนรวม แต่ว่าเขามีความคิดเห็นว่า ให้ใช้ "ความรัก"
และการกระทำที่เป็นแบบอย่างไปส่งผลสะเทือนต่อผู้อื่น คัดค้านการใช้กำลังไปทำลายระบอบกรรมสิทธิ์เอกชน
เพ้อฝันจะผ่านจากโครงการปฏิรูปสังคมแบบยูโธเปีย ไปทำให้ระบอบกรรมสิทธิ์สาธารณะปรากฏเป็นจริงขึ้น
เขายังเห็นว่าไม่เพียงแต่คนยากจนเท่านั้นที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มขุดดิน แม้แต่พวกเจ้าของที่ดิน
เมื่อได้รับรู้ถึงลักษณะชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของกลุ่มขุดดินแล้ว ก็ล้วนจะต้องยอมสละที่ดินของตนเอง
คำเทศนาโวหารเกี่ยวกับความรักของวินสแตนเลย์ ได้ลบประกายคมกล้าของความคิดปฏิวัติของเขาลงไปไม่น้อย
เดือนเมษายน 1649 ชาวนากลุ่มหนึ่งได้ไปบุกเบิกที่ดินที่ภูเขาเซนต์จอร์จ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กรุงลอนดอน
พวกเขาทำงานอยู่ด้วยกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ขนานนามตนเองว่า "พวกขุดดิน" ต่อมาในท้องที่ต่างๆ เช่น
นอร์ตแธมป์ตัน บักกิ้งแฮม กลอสเตอร์ ฮันติงดอน ลันคาร์เชียร์ ลินคอล์น เป็นต้น ล้วนได้ปรากฏการเคลื่อนไหว
ของกลุ่มขุดดิน การเคลื่อนไหวแม้จะมีลักษณะสันติทั้งเป็นการบุกเบิกที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้แตะต้อง
ระบอบกรรมสิทธิ์เอกชน แต่ยังไม่วายถูกรัฐบาลขับไล่และสั่งห้าม ต่อมาไม่นานการเคลื่อนไหวของกลุ่มขุดดิน
ในท้องที่ต่างๆ ล้วนถูกกองทหารปราบปรามลงไปตามลำดับ
การลุกขึ้นสู้ทางประชาชาติของไอร์แลนด์ถูกปราบปราม
เกาะไอร์แลนด์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติคทางภาคตะวันตกของยุโรปกับสก๊อตแลนด์และอังกฤษ
เพียงมีช่องแคบขวางกั้นเท่านั้น เดิมมีชนเผ่าต่างๆ ของชนชาติเคลตาอาศัยอยู่ นับแต่ตรึ่งหลังศตวรรษที่ 12
อังกฤษก็เริ่มรุกรานเข้าสู่ไอร์แลนด์ ถึงศตวรรษที่ 16 ก็เริ่มทำการแย่งยึดที่ดินขนานใหญ่ พระเจ้าเจมส์ที่ 1
เคยริบที่ดินในไอร์แลนด์ถึง 3 ล้านเอเคอร์ ชาวอังกฤษและชาวสก๊อตแลนด์พากันย้ายถิ่นฐานไปอยู่อัลสเตอร์
ภาคเหนือของไอร์แลนด์ ท้องที่แห่งนี้จึงกลายเป็นฐานที่มั่นของอังกฤษในการปกครองไอร์แลนด์ ในขณะที่
สตราฟฟอร์ด ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ในปี 1633-1639 นั้น ได้ดำเนินการปกครองแบบอาณานิคม
ที่โหดร้ายป่าเถื่อนที่สุด เป็นเหตุให้เกิดการลุกขึ้นสู้ทางประชาชาติของชาวไอร์แลนด์ในปี 1641
เพื่อการสร้างชาติที่เป็นเอกราช การลุกขึ้นสู้ภายใต้การนำของ "สหพันธ์โรมันคาทอลิก" ได้ปะทุขึ้นที่อัลสเตอร์
เป็นแห่งแรก ไม่นานก็ลุกลามไปทั่วทั้งเกาะ
เพื่อปราบปรามการลุกขึ้นสู้ของไอร์แลนด์และพิชิตไอร์แลนด์ในที่สุด ปี 1642 รัฐสภาช่วงยาว ได้ผ่านมติ
ให้ริบที่ดินค่อนข้างดีของไอร์แลนด์จำนวน 2 ล้าน 5 แสนเอเคอร์ เป็นค่าใช้จ่ายทางทหารสำหรับกองทัพ
ที่ออกศึกในไอร์แลนด์ โดยวิธีจำหน่ายโฉนดที่ดินก่อน แล้วตีราคาต่ำที่สุด ขายให้แก่ชนชั้นนายทุนใหญ่
และขุนนางใหม่ของอังกฤษ แต่เนื่องจากสงครามกลางเมืองระเบิดขึ้นโครงการพิชิตไอร์แลนด์จึงถูกพักไว้ชั่วคราว
ค่าใช้จ่ายทางทหารสำหรับกองทัพที่ออกศึกใอร์แลนด์ซึ่งรวบรวมมาได้ถูกเปลี่ยนไปใช้ในสงครามกลางเมือง
หลังจากที่การเคลื่อนไหวประชาธิไปไตยในอังกฤษถูกปราบลงในปี 1649 แล้ว เดือนสิงหาคม ครอมเวลล์ ก็ยกทัพ
ไปตีไอร์แลนด์นี่เป็นสงครามล่าเมืองขึ้นครั้งแรกของสาธารณรัฐอังกฤษ มันได้นำภัยพิบัติมาสู่ประชาชนไอร์แลนด์
อย่างแสนสาหัส ในระยะเวลานับตั้งแต่ปี 1649-1652 เป็นเวลา 3 ปีที่กองทหารอังกฤษเข้ารุกรานไอร์แลนด์ทำให้
ประชากรไอร์แลนด์ลดลง 610,000 คนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 1,460,000 คน ที่ดินจำนวนมากถูกแย่งยึด
การฟื้นอำนาจครั้งที่ 1 ถูกบดขยี้
ปี 1648 ในขณะที่การปฏิวัติชนชั้นนายทุนของอังกฤษขึ้นสู่กระแสสูงนั้น รัฐสภากลุ่มคณะเพรสไบเทอร์เรียน
ของสก๊อตแลนด์หวั่นวิตกว่าการขยายตัวของการปฏิวัติจะกระตุ้นให้ชาวนาในสก๊อตแลนด์ลุกขึ้นสู้ สั่นคลอนฐานะ
การปกครองของพวกเขา จึงหันเข้าหาค่ายนิยมกษัตริย์ฝากความหวังไว้กับราชวงศ์สจ๊วต ปี 1649 ภายหลังที่
ชาร์ลส์ที่ 1 ถูกสำเร็จโทษไม่นาน พวกขุนนางและชนชั้นนายทุนของสก๊อตแลนด์หลังจากได้รับคำมั่นสัญญา
จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่หนีตายไปอยู่ฮอลแลนด์ว่ายินดีจะให้คณะเพรสไบเทอร์เรียนของสก๊อตแลนด์
เป็นศาสนาของทางการและคำมั่นสัญญาอื่นๆ แล้วก็ประกาศสนับสนุนชาร์ลส์ที่ 2 ขึ้นเป็นกษัตริย์ ทั้งสมคบกับ
พวกนิยมกษัตริย์ในอังกฤษเตรียมโค่นล้มสาธารณรัฐ บรรลุซึ่งการฟื้นอำนาจราชวงศ์สจ๊วตในอังกฤษ ปี 1650
ชาร์ลส์ที่ 2 กลับถึงสก๊อตแลนด์

สาธารณรัฐอังกฤษเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันคับขัน ทางรัฐสภาจึงเรียกตัวครอมเวลล์กลับจากไอร์แลนด์
แต่งตั้งเขาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพปราบสก๊อตแลนด์ ครึ่งปีแรกของปี 1650
สงครามอาณานิคมต่อไอร์แลนด์ของอังกฤษสิ้นสุดลงโดยพื้นฐาน ครอมเวลล์ได้จัดหน่วยทหารภายใต้
การบังคับบัญชาให้ตั้งประจำอยู่ในไอร์แลนด์เพื่อปราบปรามการลุกขึ้นสู้ของชาวไอร์แลนด์ต่อไป ส่วนตนเอง
กลับสู่อังกฤษ นำกองทหารเข้าบุกสก๊อตแลนด์ต่อไป เดือนกันยายน 1650 ขณะที่กองทหาร 2 กองสัประยุทธ์
กันที่แดนบาร์นั้น ครอมเวลล์นำกำลังเข้าโจมตี ยังความเสียหายแก่กองทหารสก๊อตแลนด์อย่างหนัก
เดือนกันยายน 1651 ชาร์ลส์ที่ 2 นำทัพด้วยตนเอง หลีกเลี่ยงการปะทะซึ่งหน้ากับกำลังหลักของครอมเวลล์
ทางชายฝั่งทะเลตะวันออกแล้วเดินทัพเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกมุ่งหน้าสู่ไอร์แลนด์ มุ่งหวังจะเข้าตีกรุงลอนดอน
ได้เกิดการรบขั้นแตกหักขึ้นที่วุสเตอร์ ชาวนาถือการกลับมาของชาร์ลส์ที่ 2 เป็นการซ้ำรอยภัยพิบัติในสมัย
ชาร์ลส์ที่ 1 จึงพากันจับอาวุธขึ้นโถมตัวเข้าสู่การสู้รบ ทหารบ้านเฉพาะมาจากแคว้นอีสเซ็กซ์และแคว้นซัฟโฟล์ค
ก็มีถึง 3,000 คน ครอมเวลล์ได้รับการสนับสนุนจากชาวนาที่ติดอาวุธจึงเปลี่ยนสถานการณ์จากรับเป็นรุก
กองทหารของชาร์ลส์ ถูกทำลายเรียบ ชาร์ลส์ที่ 2 หนีเอาตัวรอดไปอยู่ต่างประเทศความมุ่งหวังฟื้นอำนาจ
ราชวงศ์เก่าครั้งที่ 1 ถูกบดขยี้
สาธารณรัฐหลังจากได้พิชิตสก๊อตแลนด์แล้ว ก็ได้ริบที่ดินจำนวนมากจากขุนนางใหญ่และพวกนิยมกษัตริย์
ส่วนหนึ่งให้เป็นรางวัลแก่นายทหารชั้นสูง อีกส่วนหนึ่งขายให้แก่ชนชั้นนายทุนอังกฤษและสก๊อตแลนด์
โดยเฉพาะหลังจากพิชิตไอร์แลนด์แล้ว สาธารณรัฐได้ริบที่ดินของพวกลุกขึ้นสู้อย่างขนานใหญ่
ทำให้ที่ดิน 2 ใน 3 ของไอร์แลนด์เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ไปอยู่ในมือของผู้ถือครองอังกฤษ ที่สำคัญคือ
ตกอยู่ในมือของชนชั้นนายทุนใหญ่และนายทหารชั้นสูงและชั้นกลางในเขตเมืองลอนดอน
ก่อรูปเป็นชั้นชนใหม่ของขุนนางที่ดินอังกฤษ ตัวครอมเวลล์เองได้ครอบครองที่ดินชั้นดีในไอร์แลนด์
ถึง 1,000 เอเคอร์ ชั้นชนใหม่ของขุนนางที่ดินนี้ได้กลายเป็นเสาค้ำของอิทธิพลปฏิกิริยาอังกฤษ
ได้กุมอำนาจรัฐ และพยายามจะฟื้นระบอบขุนนางอังกฤษตามประเพณีดั้งเดิม
นโยบายภายในและต่างประเทศของสาธารณรัฐ
นโยบายภายในและต่างประเทศของสาธารณรัฐเผด็จการชนชั้นนายทุนของกลุ่มอิสระทั้งหมดวางอยู่บน
จุดพื้นฐานเหล่านี้คือ เสียสละผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้พิทักษ์รักษาสาธารณรัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเสียสละผลประโยชน์ของชาวนา สร้างเงื่อนไขที่เป็นผลดีแก่การก่อร่างสร้างตัว
เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีของชนชั้นนายทุนและขุนนางใหม่ที่ได้อำนาจรัฐแล้ว รัฐบาลได้จัดการขายที่ดิน
จำนวนมากที่ริบมาจากราชสำนัก พวกนิยมกษัตริย์และศาสนจักรด้วยวิธีแบ่งขายเป็นแปลงใหญ่และ
ตีราคาสูง คนยากคนจนไม่มีปัญญาซื้อได้ ฉะนั้นจึงตกอยู่ในมือของชนชั้นนายทุนและขุนนางใหม่
รัฐสภายังนำเอาไร่สวนของพวกนิยมกษัตริย์ปูนบำเหน็จแก่พวกชั้นบนของกองทัพ ตัวครอมเวลล์เอง
ก็ได้มา 2 แปลงที่สามารถทำรายได้ปีละ 7,000 ปอนด์ขึ้นไป เจ้าของที่ดินคนใหม่จัดการขับไล่ชาวนา
ออกจากผืนที่ดิน ภายในประเทศได้ปรากฏสภาพการฉวยโอกาสเก็งกำไรจากการซื้อขายที่ดินอย่างครึกโครม
ในด้านนโยบายต่างประเทศ เพื่อแย่งชิงอำนาจครองความเป็นเจ้าในการค้าขายทางทะเลโจมตีฮอลแลนด์
ที่เป็นคู่แข่งทางการค้าทีสำคัญ ปี 1651 ได้ประกาศใช้ "กฏหมายการเดินเรือทางทะเล" ในกฏหมายฉบับนี้
ได้กำหนดไว้ว่า การนำเข้าสินค้าของอังกฤษจะอนุญาติให้เรืออังกฤษเป็นผู้ส่งเท่านั้น
"กฏหมายการเดินเรือทางทะเล" มีผลกระทบโดยตรงต่อฮอลแลนด์ซึ่งดำเนินกิจการขนส่งทางทะเลโดยเฉพาะ
ด้วยเหตุนี้ ฮอลแลนด์กับอังกฤษได้ทำสงครามกันเป็นเวลา 2 ปี(1652-1654)

ผลของสงครามก็คือ ฮอลแลนด์พ่ายแพ้ในสงคราม ถูกบีบให้รับรอง
"กฏหมายการเดินเรือทางทะเล" จากนั้นมา การค้าขายทางทะเล
และกิจการเดินเรือของอังกฤษก็ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว