
พนมเทียน เป็นนามปากกาของ นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474
ที่บ้านตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ ถนนปากน้ำ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
เป็นบุตรของขุนวิเศษสุวรรณภูมิ และนางสะอาด
สมรสกับนางสุมิตรา วิเศษสุวรรณภูมิ (มณีรัตนาสุมิตรา เดวี) มีบุตร 5 คน คือ
1. นายจักรรินทร์ วิเศษสุวรรณภูมิ
2. นายชินวร วิเศษสุวรรณภูมิ
3. นางละอองดาว ปิ่นแก้ว
4. น.ส. สกาวเดือน วิเศษสุวรรณภูมิ (เสียชีวิต)
5. นายวิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ
พนมเทียน เริ่มเรียนหนังสือเมื่อ อายุ 5 ขวบที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์
จากนั้นย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประสานอักษร และโรงเรียนวันรับสิน
จบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2484
และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดสุทธิวนาราม จบชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2489
เข้าเรียนต่อในชั้นเตรียมอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนสวนกุกลาบวิทยาลัย จบการศึกษาปี พ.ศ. 2492
และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนพลตำรวจระยะหนึ่ง
จากนั้นเข้าทำงานเป็นเลขานุการที่บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวร์รันซ์ จนถึง พ.ศ. 2494
ลาออก แล้วดินทางไปศึกษาวิชาสันสกฤต ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย
จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2498
พนมเทียนเริ่มอ่านหนังสือมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ
และเมื่ออายุ 12 ขวบต้องหนีภียจากสงครามโลกครั้งที่สองไปพักอาศัย ณ บ้านต้นตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ
ซึ่งสะสมหนังสือไว้มากมาย ทำให้ได้เริ่มอ่านหนังสือวรรณคดีของไทย รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ฯลฯ
อ่านจนกระทั่งเกิดความอยากเขียนหนังสือของตนเองบ้าง ...
เมื่ออายุได้ 16 ปีขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนวัดสุทธิวนาราม
พนมเทียนเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก คือ เห่าดง
โดยเขียนต้นฉบับไว้ในสมุดจดวิชาประวัติศาสตร์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันเล่น
ต่อมาอีกหนึ่งปีก็เริ่มเขียนนวนิยาย จุฬาตรีคูณ
พนมเทียนได้นำต้นฉบับนวนิยายเรื่อง จุฬาตรีคูณ ไปเสนอขายตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ
แต่เนื่องจากเป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก สำนักพิมพ์จึงปฎิเสธ
บรรณาธิการหนังสือบางฉบับได้แนะนำให้เขียนเรื่องสั้นไปให้พิจารณา
แต่เมื่อพนมเทียนเขียนเรื่องสั้นไปให้พิจารณาก็ ถูกปฎิเสธอีกครั้ง
แต่ก็ไม่ทำให้เขาท้อแท้ กลับมุมานะเขียนเรื่องส่งไปยังสำนักพิมพ์อื่น ๆ อยู่สม่ำเสมอ
จนวันหนึ่งพนมเทียนได้นำต้นฉบับนวนิยายเรื่อง จุฬาตรีคูณ
ไปเสนอครูแก้ว อัจฉริยะกุล หรือ "แก้วฟ้า" ราชาละครวิทยุในขณะนั้น
เมื่อครูแก้วได้อ่านแล้วชอบใจจึงทำเป็นละครวิทยุ ให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน จากคณะสุนทราภรณ์
ช่วยแต่งเพลงประกอบเรื่อง ทำเป็นละครวิทยุ
ทำให้จุฬาตรีคูณเป็นที่รู้จักของผู้ฟังจำนวนมาก
และในปี 2492 ครูแก้วได้นำนวนิยายเรื่องจุฬาตรีคูณ มาทำเป็นละครเวที แสดงที่ศาลาเฉลิมไทย
โดยคณะลูกไทย ทำให้ชื่อ แก้วฟ้า-พนมเทียนมีชื่อเสียงขึ้นมา
(ละครเวทีจุฬาตรีคูณ ใช้ชื่อแก้วฟ้า-พนมเทียนเพราะ แก้วฟ้านำมาทำเป็นบทละคร
ส่วนพนมเทียนเป็นผู้ประพันธ์)
แต่คนทั่วไปก็ยังไม่รู้จักพนมเทียนมากนักจนกระทั่งปฐพีเพลิง
ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เพลินจิตต์
ทำให้พนมเทียนเป็นที่รู้จัก ผลงานเรื่องแรกที่เขียนไว้คือเห่าดง
จึงได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เพลินจิตต์รายวัน
จากนั้นจากนั้นก็มีผลงานอื่น ๆ ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
เช่น เพลินจิตต์ เดลิเมล์ สยามสมัย นพเก้า สายฝน ศรีสยาม จักรวาล บางกอก สกุลไทย สตรีสาร ฯลฯ
นวนิยายของพนมเทียน ได้รับการกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ
เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เล็บครุฑ ศิวาราตรี และเพชรพระอุมา
สำหรับคำวิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นการชมหรือการตำหนิก็ตาม
พนมเทียนได้ถือว่าคำวิจารณ์ทั้งหมดคือครูที่ดี
และเป็นเหมือนกระจกส่องให้เห็นจุดต่าง ๆ ในผลงานของตน
และเป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่าเจ้าของบทประพันธ์เรื่องที่ถูกวิจารณ์นั้นได้รับความสำเร็จในการเขียนหนังสือ
เมื่อใดก็ตาม ที่นวนิยายไม่ได้รับการกล่าวขวัญเลยนั้น
ย่อมหมายถึงงานที่ไม่แพร่หลายและไม่มีใครรู้จัก
แต่สำหรับคำวิจารณ์ ที่เข้าไม่ถึงแก่นแท้ของเนื้อหา
ก็แสดงให้เห็นถึงระดับภูมิปัญญาของผู้วิจารณ์แต่ละคนเอง
ในด้านส่วนตัวพนมเทียนชอบอ่านหนังสือ
ประเภทผจญภัยที่ให้สาระความรู้และความสนุกเพลิดเพลินไปในตัว
และหนังสือปรัชญาที่ตรงกับอุดมคติของตัวเอง
นอกจากนั้นก็ชอบอ่านหนังสือสารคดีที่เกี่ยวกับวิชาความรู้ต่าง ๆ
นักเขียนที่ชอบมากที่สุดได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ซึ่งพนมเทียนเคารพบูชาท่านมากจนถึงกับได้สร้างอนุสาวรีย์ ประทับไว้ที่บ้านพักอาศัยในปัจจุบัน)
สุนทรภู่ ชิต บุรทัต ทรง สาลิตุล มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช