คุณคนปั่นไฟครับ ผมสนใจเรื่อง ไฟฟ้าพลังลมและแสงแดด นะครับ อยากจะทำตัวเล็กๆใช้ตามบ้าน
พอจะแนะนำได้มั๊ยครับ
เรียนท่าน BEAMSOUND ครับ
การสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานลมและจากพลังงานแสงอาทิตย์ นั้น งบประมาณที่ใช้มีมูลค่าสูงมากครับ ประกอบกับสภาพภูมิประเทศของประเทศไทย ความเร็วลมสูงสุดจะอยู่ที่บริเวณชายฝั่ง บริเวณเกาะต่างๆ ในอ่าวไทย และในบริเวณภาคใต้ของประเทศเท่านั้นครับ ที่สำคัญพบว่ายังคงมีปัญหาเรื่องชิ้นส่วนบางชนิดชำรุดได้ง่าย เช่น ใบกังหัน หรือตลับลูกปืนชำรุด นอกจากนี้ บางกรณี ยังมีปัญาหาเรื่องการจัดซื้ออะไหล่จากต่างประเทศได้ล่าช้าอีกด้วยครับ
สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์นั้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางอิเลคทรอนิคส์ ส่วนใหญ่ทำมาจากสารกึ่งตัวนำ ได้แก่ ซิลิคอน เยอรมันเนียม หินต่างๆ การทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นขบวนการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นกระแสไฟฟ้าได้โดยตรง โดยเมื่อแสงซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและมีพลังงานกระทบกับสารกึ่งตัวนำ จะเกิดการถ่ายทอดพลังงานระหว่างกัน พลังงานจากแสงจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า(อิเลคตรอน)ขึ้นในสารกึ่งตัวนำ จึงสามารถต่อกระแสไฟฟ้าดังกล่าวไปใช้งานได้ครับ
จากข้อมูลข้างต้น ผมขอนำข้อมูลและผลการวิจัยเรื่องพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ มาให้รับทราบ ดังนี้ครับ
พลังงานลม เป็นพลังงานธรรมชาติที่สะอาดและบริสุทธิ์ใช้แล้ว ไม่มีวันหมดสิ้นไปจากโลก ได้รับความสนใจนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน กังหันลมก็เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำพลังงานลมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะในการผลิตกระแสไฟฟ้าและในการสูบน้ำ ซึ่งได้ใช้งานกันมาแล้วอย่างแพร่หลายในอดีต
งานศึกษาและทดลองใช้พลังงานลมผลิตไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาพลังงานลมมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าว กฟผ. ได้ศึกษาและติดตามวิทยาการด้านนี้ทั้งใน และต่างประเทศ อีกทั้งได้สาธิต ทดสอบ ตลอดจนติดตั้งกังหันลมขึ้นทดลองใช้งาน และเก็บข้อมูลของการทดสอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางที่จะพัฒนาระบบให้ดีขึ้น และให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ในขั้นแรก กฟผ. ได้รวบรวมข้อมูลศักยภาพพลังงานลมทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากกรมอุตุนิยมวิทยา ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ความเร็วลมในประเทศไทยโดยเฉลี่ยจัดอยู่ในระดับปานกลาง - ต่ำ คือ ต่ำกว่า 4 เมตร ต่อวินาที โดยส่วนที่ความเร็วลมสูงสุดจะอยู่ที่บริเวณชายฝั่ง บริเวณเกาะต่างๆ ในอ่าวไทย และในบริเวณภาคใต้ของประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ.2526 กฟผ. ได้เลือกบริเวณแหลมพรหมเทพ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า มีความเร็วลมเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 5 เมตรต่อวินาที เป็นที่ติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นแห่งแรกของ กฟผ. ซึ่งกังหันลมนี้ได้ผลิตไฟฟ้าร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์จนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 - 2535 กฟผ. ได้เริ่มติดตั้งกังหันลมขนาดเล็ก เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่สถานีแห่งนี้เพิ่มเติมอีก จำนวน 6 ชุด พร้อมติดตั้งอุปกรณ์บันทึกข้อมูลคือ Digital Data Logger และ Strip Chart Recorder ไว้อย่างครบถ้วน
สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็นำมาใช้ให้แสงสว่างในบริเวณ สถานีทดลองฯ จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น สรุปได้ว่า การใช้กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ที่บริเวณสถานีพลังงานทดแทนพรหมเทพนี้ ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องชิ้นส่วนบางชนิดชำรุด เช่น ใบกังหัน หรือตลับลูกปืนชำรุด นอกจากนี้ บางกรณี ยังมีปัญาหาเรื่องการจัดซื้ออะไหล่จากต่างประเทศได้ล่าช้าอีกด้วย
เมื่อการทดลองใช้พลังงานลมผลิตไฟฟ้าปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ ในปี พ.ศ.2531 กฟผ. จึงได้กำหนดแผนงานเชื่อมโยงระบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อการใช้งานจริง และเพื่อศึกษาหาประสบการณ์ในการเชื่อมต่อเข้าระบบจำหน่ายไปพร้อมๆ กัน โครงการดังกล่าวดำเนินไปด้วยดีตามแผนงาน โดยได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2533 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานลมมาใช้งานได้ โดยผลิตและส่งผ่านระบบจำหน่ายไฟฟ้า
นอกเหนือจากการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าแล้ว ที่บริเวณสถานีพลังงานทดแทนพรมหมเทพแห่งนี้ กฟผ. ยังได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อใช้งานร่วมกับกังหันลม และเชื่อมโยงระบบการผลิตนี้เข้ากับระบบจำหน่ายเช่นกัน
จากความสำเร็จในการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมดังกล่าว ทำให้ กฟผ. มีความมั่นใจในการศึกษาและติดตั้งกังหันลมเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ.2535 ได้ติดตั้งกังหันลมขนาดกำลังผลิต 10 กิโลวัตต์ เพิ่มอีก 2 ชุด โดยเชื่อมโยงเข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วย
จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก มากกว่า 13 ปี ตลอดจนผลการติดตามเทคโนโลยีด้านกังหันลมมาโดยตลอด ทำให้ กฟผ. มีความพร้อมที่จะติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ขึ้น ในปี พ.ศ.2539 กฟผ. จึงติดตั้งกังหันลมขนาดกำลังผลิต 150 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นกังหันลมขนาดใหญ่ที่สุด ที่เคยติดตั้งมาในประเทศไทย รวมทั้งกังหันผลมชนิดนี้ มีเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้สำหรับการผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน ได้ยกเลิกการใช้งานกังหันลมขนาดเล็กที่ต้องซ่อมบำรุงบ่อย หรือชำรุดเสียหาย ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมจากกังหันลมเหลือเพียง 170 กิโลวัตต์ ต่อมา ในปี พ.ศ.2541 กฟผ. ได้ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มเติมอีก จึงมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 180.124 กิโลวัตต์
พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาดไม่ทำปฏิกริยาใดๆ อันจะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เซลล์แสงอาทิตย์ จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางอิเลคทรอนิคส์ชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า เนื่องจากสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง ส่วนใหญ่เซลล์แสงอาทิตย์ทำมาจากสารกึ่งตัวนำพวกซิลิคอน มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้สูงถึง 22 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานได้ทำการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้งานในลักษณะต่างๆ กัน
กฟผ. ได้รวบรวมข้อมูลด้านพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งใน และต่างประเทศ และได้ทดลองนำเอาเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้งานตามหน่วยงานต่างๆ ของ กฟผ. ในลักษณะต่างๆ กับ เช่น ใช้วิทยุสื่อสาร สัญญญาณไฟกระพริบ ไฟแสงสว่างสำหรับเจ้าหน้าที่สำรวจ ต่อมา กฟผ. ได้ขยายการใช้งาน โดยการสร้างสถานีพลังงานทดแทนเพื่อสาธิตระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว คือ ที่สถานีพลังงานแสงอาทิตย์สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึง ระบบต่อร่วมกับแหล่งพลังงานอื่น ได้แก่ ต่อร่วมกับพลังน้ำ ที่สถานีพลังงานแสงอาทิตย์คลองช่องกล่ำ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว และต่อร่วม (Hybrid) กับพลังงานลมที่สถานีพลังงานทดแทนพรหมเทพ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้สร้างโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง ขนาดกำลังผลิตสูงสุด 500 กิโลวัตต์ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้เริ่มผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2547 เป็นต้นมา
เซลล์แสงอาทิตย์
เซลล์แสงอาทิตย์ เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางอิเลคทรอนิคส์ ส่วนใหญ่ทำมาจากสารกึ่งตัวนำ ได้แก่ ซิลิคอน เยอรมันเนียม หินต่างๆ การทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นขบวนการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นกระแสไฟฟ้าได้โดยตรง โดยเมื่อแสงซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและมีพลังงานกระทบกับสารกึ่งตัวนำ จะเกิดการถ่ายทอดพลังงานระหว่างกัน พลังงานจากแสงจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า(อิเลคตรอน)ขึ้นในสารกึ่งตัวนำ จึงสามารถต่อกระแสไฟฟ้าดังกล่าวไปใช้งานได้
ระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ความเป็นมาของโครงการ
จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันตกที่อยู่บนสุดของ ประเทศไทย สภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาและป่าไม้ คิดเป็นร้อยละ 78 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นที่ราบสองฝั่งลำน้ำและที่ราบในหุบเขาส่วนใหญ่แม่ฮ่องสอน จึงเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังไม่สามารถสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 kV. ผ่านเข้าไปได้ด้วยเหตุผลทางด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ กฟผ. จึงต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าขนาด 22 kV. ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ประกอบกับ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 4.7 MW และโรงไฟฟ้าดีเซลแม่ฮ่องสอน ขนาด 5.4 MW ที่มีอยู่นั้น เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไม่อาจขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีได้
กฟผ. ได้พิจารณาทางเลือกการผลิตไฟฟ้าในอนาคตแล้ว พบว่า การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 kV. ผ่านเขต จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ไม่อนุมัติให้หน่วยงานใดใช้พื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเหลือทางเลือกเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยพลังงานไฟฟ้าใกล้เคียงกัน คือ โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซล หรือโดยใช้ เซลล์แสงอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้ กฟผ. จึงได้จัดทำโครงการโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ขึ้น เพื่อผลิตไฟฟ้าเสริมเข้าระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทางเลือกนี้ได้ให้ผลดีมากกว่าในด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่น้อยลง ด้านความปลอดภัยในการขนส่งเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และเพิ่มโอกาสการศึกษาวิจัย เพื่อขยายผลในอนาคตขึ้นอีกด้วย
ลักษณะของโครงการ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งตัวโครงการมีลักษณะเป็นโครงการสาธิตระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 500 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเสริมเข้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย กฟผ. จะผลิตร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าดีเซลที่มีอยู่เดิม
วัตถุประสงค์โครงการ
1. เพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์พลังงานและรักษา สิ่งแวดล้อมของจังหวัด
2. เพื่อศึกษาปัญหาทางด้านเทคนิค และผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากระบบผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจาก เซลล์แสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
3. เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับศึกษาแนวทางที่จะนำไปสู่กระบวนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย
งบประมาณ
กฟผ. ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนาดกำลังผลิต 500 กิโลวัตต์ โดยใช้งบประมาณ ทั้งหมดเป็นเงิน 187.11 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นเงิน 163.36 ล้านบาท (87.31 %) ส่วนที่เหลือ กฟผ. ออกเงินสมทบ 23.75 ล้านบาท (12.69 % )
ระยะเวลาการดำเนินงาน
เริ่มก่อสร้าง 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
แล้วเสร็จ 9 เมษายน พ.ศ. 2547
ทั้งนี้ได้เริ่มทดลองจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบส่ง 22 kV. ของ กฟภ. ตั้งแต่ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2547 และได้นำโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์เข้าใช้งานโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2547
ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ประกอบด้วย แผงเซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ระบบควบคุมและเก็บข้อมูล แบตเตอรี่ และระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งมีรายละเอียดด้านสมรรถนะทางวิศวกรรมตามมาตรฐานสากล
1. แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Module) เป็นเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากซิลิกอนแบบผลึกรวม ( Poly Crystalline) กำลังผลิตต่อแผง 300 วัตต์ จำนวน 1,680 แผง มีประสิทธิภาพแผง (Module Efficiency) ประมาณ 13.0% ภายใต้สภาวะแวดล้อม ตามมาตรฐานการทดสอบ (JIS C8918, IEC1215) คือความเข้มแสงที่ตกกระทบตั้งฉากกับแผงเซลล์ 1,000 วัตต์ต่อตารางเมตร และอุณหภูมิแผงเซลล์ 25 องศาเซลเซียส เพื่อนำแผงเซลล์ขนาด 300 วัตต์มาต่ออนุกรม 12 แผงต่อสตริง(String) รวมจำนวน 140 สตริง จะได้แรงเคลื่อนไฟฟ้า 614.4 โวลต์ต่อสตริง
2. เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter/Converter) จำนวน 2 ชุด พร้อมระบบควบคุม ประกอบด้วย Inverter ขนาดกำลังผลิต 250 kVA. จำนวน 2 เครื่อง ใช้กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ และ Power Converter ขนาดกำลังผลิต 200 kVAจำนวน 2 เครื่อง เมื่อใช้งานร่วมกับระบบ Batterry จะมีประสิทธิภาพในการแปลงกระแสไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 94 % ได้ค่าแรงเคลื่อน ไฟฟ้าด้าน DC-Side 450-650 V. ด้าน AC-Side 400 V. 3 Phase โดยมีค่า Power Factor ไม่ต่ำกว่า 95 %
3. แบตเตอรี่ (Battery Storage) เป็นชนิดตะกั่วกรด แบบ Stationary Battery จำนวน 280 ลูก มีแรงดันไฟฟ้า 560 V. รวมความจุ 1,200 Ah. แบตเตอรี่จะจ่ายไฟฟ้าเสริมให้กับเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า เมื่อกำลังผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ลดลงกระทันหัน (เช่น ในกรณีที่เฆมเคลื่อนตัวเข้าบดบังแสงอาทิตย์อย่างรวดเร็ว) การใช้แบตเตอรี่เพื่อแก้ปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าจาก เซลล์แสงอาทิตย์ที่อาจเปลี่ยนแปลงกระทันหันนี้ จะช่วยลดผลกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มีสภาพไม่มั่นคง เช่น ที่เป็นอยู่ในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนลงได้
4. ระบบควบคุมและเก็บข้อมูล (System Controller and Data Acquisition) จะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเครื่อง แปลงกระแสไฟฟ้าทั้ง 2 ชุด ควบคุมการเก็บประจุและคายประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่ เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มีค่าสม่ำเสมอ ระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลจะมีข้อมูลระบบไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นทั้งหมดทุกช่วงเวลา
5. ระบบจำหน่าย ประกอบด้วย Transformer, Switch Gear, ระบบป้องกัน และ Metering ระบบนี้ จะทำหน้าที่เพิ่ม แรงดันให้มากพอสำหรับจ่ายเข้าระบบส่งของ กฟภ. โดยมีอุปกรณ์วัดเก็บข้อมูล และแสดงผลค่าทางไฟฟ้าต่างๆ ที่ใช้ในการซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้งมีระบบควบคุมความปลอดภัยที่เชื่อมต่อกับระบบส่งของ กฟภ.
การทำงานของระบบ
1. เมื่อมีแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้ติดตั้งไว้ เซลล์แสงอาทิตย์จะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้ เป็นไฟฟ้ากระแสตรงผ่านระบบควบคุมเข้าเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า โดยมีระบบ Maximum Power Point Tracking (MPPT) ที่เลือกค่าแรงดันไฟฟ้าของกลุ่มเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ค่ากำลังผลิตสูงสุดในแต่ละเวลาตามค่าความเข้มของแสงอาทิตย์ที่ได้รับ
2. เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าจะเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ และจ่ายเข้าระบบจำหน่ายของการ ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าจะเป็นระบบที่ทำให้ประสิทธิภาพเฉลี่ยของเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้ามีค่าสูงกว่า 94 % ตลอดทุกช่วงของการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ แม้จะมีกำลังผลิตที่ต่ำกว่าปกติมากในช่วงเช้าและเย็นก็ตาม
3. ในช่วงที่มีเมฆลอยผ่านหรือมีหมอกควันเคลื่อนเข้ามาบังแสงอาทิตย์อย่างกระทันหัน กำลังผลิตไฟฟ้าที่เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตได้จะลดลงไปทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไฟฟ้าในระบบจำหน่าย เนื่องจากทำให้ความถี่และแรงเคลื่อนไฟฟ้าของระบบส่งเปลี่ยนแปลงไป (ขึ้นอยู่กับอัตราเร็วของกำลังผลิตที่ขาดหายไป) ในกรณีดังกล่าวกำลังผลิตจะลดหายไปในช่วงเวลาสั้นๆ (1-3 นาที) ซึ่งระบบผลิตนี้ได้เตรียมการปรับแก้ไว้แล้ว โดยใช้พลังงานที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่เข้ามาแทนในช่วงนั้น
4. ในระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ กำลังผลิตที่ลดหายไปย่อมมีผลกระทบต่อระบบจำหน่ายเป็น อันมาก โดยเฉพาะระบบจำหน่ายที่ไม่มั่นคง เช่น ในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จึงต้องใช้แบตเตอรี่ช่วยจ่ายพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่เกิดปัญหาดังกล่าว โดยออกแบบขนาดคลังแบตเตอรี่ให้สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้นานไม่น้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน
5. ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์นี้ จะผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบจำหน่ายเฉพาะ ในช่วงกลางวันที่มีแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ ทำให้สามารถลดการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่สะงา (เก็บน้ำในอ่าง) ในเวลากลางวันลงได้ เพื่อนำน้ำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางคืนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่า และจะช่วยลดการผลิตไฟฟ้า ที่ต้องใช้น้ำมันดีเซลลงได้มาก
สรุป
โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ผ่านแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดยไม่ปล่อยของเสีย หรือสิ่งรบกวนใดๆ ที่จะก่อให้เกิดมลภาวะต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ระบบผลิตไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสภาพมั่นคงเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น สถานที่นี้ยังเป็นแหล่งสาธิตการใช้พลังงานทดแทนที่สะอาด เพื่อการศึกษาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ