เฉลยนะครับ....
แรกเริ่มกล้องรูเข็มนำทางมาด้วยรูน้อย ๆ ตายตัวได้ภาพหัวกลับมาประทับลงบนจอภาพด้านหลัง ต่อมาได้มีการพัฒนาชัตเตอร์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกลีบดอกไม้ซ้อนกันเป็นแผ่นโลหะบาง ๆ อยู่ในตัวเลนส์ จึงเรียกว่า leaf shutter เวลากดชัตเตอร์กลีบเหล่านี้จะหุบตัวเปิดไว้เพียงรูรับแสง (aperture) ตามขนาดที่ตั้งเอาไว้ และตามความเร็วชัตเตอร์ที่ตั้งเอาไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตามชัตเตอร์แบบนี้มีขีดจำกัดอยู่ที่ความเร็วสูงสุดราว 1/500 เท่านั้น แต่ก็มีข้อดีคือสามารถ synchronize กับ flash ได้ทุกความเร็ว


ด้านบนชัตเตอร์แบบ leaf ด้านล่างแบบม่าน


รูปบนสปีดช้า ม่านห่างกัน รูปล่างสปีดเร็วม่านชิดกัน

ข้างล่างแสดงอีกแบบให้เห็นการทำงาน

ต่อมาได้มีการพัฒนาชัตเตอร์ชนิดใหม่ขึ้นมา เรียกว่า Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter ซึ่งมีลักษณะเหมือนม่าน 2 ตัววิ่งตามกันด้วยความเร็วคงที่ แต่ถ้าเราตั้งความเร็วชัตเตอร์สูง เจ้าม่านตัวที่ 2 ก็จะตามท้ายม่านตัวแรกมาติด ๆ เปิดเป็นเพียงช่องสีเหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ ให้แสงลอดเข้ามาทำหน้าที่ของมัน อนึ่งชัตเตอร์แบบนี้ มีทั้งแบบวิ่งซ้ายขวา และ บนล่าง แล้วแต่การออกแบบของยี่ห้อนั้น ตามรูปที่ผมแนบมา อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการตั้งกล้อง (ผมหมายถึงจะจับแบบธรรมดา หรือจะตะแคง 90 องศาไปทางซ้ายหรือทางขวา หรือแม้จะกลับหัวกล้องก็ได้) คุณสามารถจะตั้งให้เป็นแบบไหนก็ได้แล้วแต่การใช้งาน ซึ่งจะมีผลต่างกันสำหรับกรณีเงากระสุนปริศนาที่เรากำลังพูดถึง
รูปครู หรือภาพที่การเรียนการสอนเรื่องกล้องใช้เป็นมาตรฐานในการอธิบายการทำงานของ Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter และผลแปลกตาที่ตามมาก็คือภาพที่ผู้เล่นเบสบอลตีลูกเบสบอล โดยที่ในภาพจะเห็นลูกเบสบอลติดหรือโดนไม้ แต่เงาที่พื้นด้านล่างลูกเบสบอลกลับอยู่ห่างจากไม้อย่างเห็นได้ชัด ในกรณีนี้อธิบายได้ว่า ผู้ถ่ายนั้นใช้กล้องที่มีชัตเตอร์เป็นแบบ Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter โดยตั้งกล้องให้ได้ชัตเตอร์วิ่งในแนวจากล่างขึ้นบน (อย่าลืมนะครับว่าภาพบนฟีล์มหรือ sensor จะกลับหัว) พอเริ่มยิงม่านตัวแรกจะเปิดตัวออกมาได้นิดนึงเจ้าม่านตัวที่สองก็จะวิ่งตามมา เปิดช่องไฟจับภาพเริ่มจากด้านบนหรือขาคนตี ต่อมาก็จับภาพเงาของลูกเบสบอลที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาแต่ยังห่างไม้อยู่พอควร ไล่จับภาพบริเวณลำตัว ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงตำแหน่งไม้ ซึ่งในขณะเดียวกันที่ผ่านมาลูกก็วิ่งมาถึงไม้พอดี ทำให้จับภาพลูกติดกับไม้ ซี่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้จับภาพเงาในช่วงแรกไปแล้ว
หมายเหตุ ในกรณีนี้ ถ้าท่านใช้กล้อง Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter แต่ตั้งกล้องแบบให้ชัตเตอร์วิ่งในแนวนอน หรือซ้าย-ขวา ก็จะไม่มีผลอย่างข้างบน เพราะช่องไฟจะเปิดช่วงลูกบอลกระทบไม้พอดีหรือใกล้เคียงกันกับตอนเงาลูกบอกกระทบไม้เช่นกัน
ภาพล่างคือผังแสดงให้เห็นว่ากล้องแต่ละยี่ห้อเขาออกแบบชัตเตอร์ม่านให้วิ่งไปทางไหน

ถ้ามีโอกาส ตอนนี้เรามีกล้องดิจิตัลก็ลองกันดูสิครับ
เกร็ดของเรื่อง.... Focal-Plane shutter นั้นความจริงมีมานานแล้ว คือเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1870 เป็นแบบ single-focal shutter โดยการใช้แผ่นไม้ปล่อยให้ตกลงมาเฉย ๆ ต่อมามีการใช้หนังยางช่วยดึงอีกแรง เพื่อเร่งความเร็ว ซึ่งตกราว 1/500 1/1000 ปี 1925 Leica ได้คิดค้น Two-curtain shutters ที่ทำด้วยผ้าดำ มีความเร็วราว 1/1000 พอถึงปี 1960 Konica ได้ทำ Square-type metal-bladed focal-plane shutter ที่มีความเร็วถึง 1/2000 ในที่สุด ปี 1992 Nikon ได้ออก Minolta Maxxum 9xi ที่มีความเร็วชัตเตอร์ถึง 1/12000 กลไกชัตเตอร์นั้นเป็นระบบ mechanism ล้วน ๆ คือประกอบด้วย เฟืองเกียร์ กระเดื่อง คานโยก คานงัด สปริง ฯลฯ และต้องผ่านการทดสอบให้ทำงานกว่า 1 แสนครั้งโดยไม่ผิดพลาด ดังนั้นในช่วงระยะเวลาไล่ ๆ กัน ปี 1966 Pentacon Praktica Electronic ได้ออกแบบ electronically controlled FP shutter โดยใช้ระบบวงจรไฟฟ้าเข้ามาควบคุมการทำงาน ต่อมา Asahi Pentax ES ในปี 1972 ได้ทำ electronic aperture-priority autoexposure โดยการเอา electronically controlled shutter มาใช้กับ exposure control light meter ปี 1980 Yashica Contax 139 Quartz ได้เผยตัว digital piezoelectric quartz ที่ให้ความแม่นยำสูง และแล้วในปี 1999 Nikon D1 digital SLR ก็ทำลายสถิติด้วยชัตเตอร์ที่ความเร็ว 1/16000 อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 2003 ทางผู้ผลิตพบว่าไม่มีความจำเป็นในการที่จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขนาดนั้น จึงลดความเร็วสูงสุดมาที่ 1/8000 และกลับมาพัฒนาทางด้านความคงทนแทน อนึ่งความเร็วที่พัฒนาได้นั้น มาจากการเปลี่ยนชนิดของวัสดุที่นำมาใช้ทำแผ่นชัตเตอร์ที่เริ่มจาก ไม้มาเป็นโลหะเหล็ก ต่อมาเป็นอะลูมิเนียม พลาสติคผสมไฟเบอร์ ตลอดจนคาร์บอนเซรามิค ฯลฯ
เคยให้ลูกศิษย์ราว 30 คนออกไปถ่ายภาพรถสวนกันบนถนน ให้ฟีล์มคนละ 1 ม้วน กลับมาก็ถามว่า ตอนเล็งเห็นหรือเปล่าว่ารถสวนกันตอนกดชัตเตอร์ ทุกคนก็ตอบว่าเห็นด้วยความมั่นใจ พอล้างรูปออกมา มีเพียงคนเดียวที่ได้รูปรถสวนกันมา 1 รูปแบบเฉียดฉิว นอกนั้นมีแต่รูปถนนว่างเปล่า (ขอบอกว่าสมัยนั้นรถน้อย ต้องรอพักใหญ่กว่าจะมีรถมาสักคัน และต้องรอพักเบ้อเร่อกว่าจะมีรถสวนกัน) ก็สอนเขาไป 2 ประเด็นคือ ด้วยระบบของกล้อง สิ่งที่ท่านเห็นตอนกดชัตเตอร์จะไม่ใช่สิ่งที่ถูกบันทึกลงไปบนแผ่นฟีล์ม เพราะ ณ.จุดบันทึก กระจกจะกระเด้งขึ้นมาปิด pentaprism (ทำให้เราเห็นแต่สีดำ ๆ ในจอ) เพื่อเปิดทางให้แสงได้เข้าไปกระทบแผ่นฟีล์ม ส่วนอีกประเด็นคือ lag time วึ่งคือเวลาอันจำเป็นที่ต้องเสียไปตั้งแต่นิ้วเริ่มกดชัตเตอร์จนถึงเวลาที่แผ่นชัตเตอร์เคลื่อนตัว เพราะต้องผ่านกลไกต่าง ๆ และแล้วก็หันกลับมาถามคนที่ถ่ายภาพรถสวนกัน 1 ภาพว่าได้มาอย่างไร เขาก็สารภาพว่าตื่นเต้น เผลอกดชัตเตอร์ไปเสียก่อนที่ตั้งใจไว้...555
ตอนที่ผมบ้ากล้อง ผมจะจดข้อมูลต่าง ๆ ของการถ่ายภาพแต่ละรูป ตั้งแต่ shutter speed, aperture, ASA ของฟีล์ม, เวลาที่ถ่ายของวันนั้น, สภาพอากาศและแสง, ตำแหน่งซูมของเลนส์ ฯลฯ พอล้างรูปออกมา ก็จะมาเทียบดูและศึกษา ครั้งหนึ่งเคยล้างภาพเอง เข้าไปในห้องมืดวันอาทิตย์เช้าออกมานึกว่ายังเป็นวันเดิม ที่ไหนได้กลายเป็นวันจันทร์ไปแล้ว...555
ปิดฉาก ปัจจุบันอะไร ๆ ก็เป็นระบบไฟฟ้าไปเสียหมด แต่ความรู้สึกดี ๆ บางอย่างที่ได้รับจากการใช้ระบบกลไกยังตราตรึงในหัวใจมิรู้เลือน ทางผู้ผลิตก็อดเอาใจผู้ใช้ไม่ได้ ก็เลยจัดให้ตามระเบียบ อาทิ เสียงชัตเตอร์ลั่นปลอม เพราะระบบจริงไม่มีเสียง หรือ จอปิดดำตอนชัตเตอร์ลั่น ก็ปลอมอีกเพราะระบบไฟฟ้าไม่ต้องใช้ return mirror ต่อไปก็ยังไม่รู้ว่าทางผู้ผลิตจะมีทีเด็ดอะไรมาตอบสนองความต้องการของเรา รู้แต่ว่าเตรียมเก็บเงินเอาไว้ก็แล้วกัน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ภาพบนจะเห็นได้ชัดเลยว่าผลที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้องที่มีชัตเตอร์แบบ Two-curtain shutters หรือ Focal-Plane shutter ถ่ายภาพสิ่งของเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงแล้ว ภาพออกมาจะดูแปลกผิดหูผิดตาต่างจากที่เราคาดหวัง ภาพนี้ต่างจากลูกปืนหรือเบสบอลเพราะใบพัดไม่ได้วิ่งเป็นเส้นตรง แต่หมุนรอบตัวทำให้ออกมาโค้งงอดังกล่าว อนึ่งถ้าเป็นเฮลิคอปเตอร์จริงจะไม่ออกมาโค้งงอมากแบบนี้ดังรูปถัดไป ทั้งนี้เพราะเฮลิคอปเตอร์จริงมีใบพัดขนาดยาวมาก ดังนั้นเมื่อหมุนด้วยความเร็วโดยเฉลี่ย 500 รอบต่อนาที ความเร็วของปลายใบพัดก็จะใกล้กับความเร็วของเสียงเข้าไปทุกที จึงทำให้เราได้ยินเสียง ปั้บ ๆ ๆ ๆ ดังกล่าว


เฮลิคอปเตอร์ Mil V-12 (รูปถัดไปที่มีใบพีด 2 ชุด)หรือบางทีเรียกว่า Mi-12 เป็นเฮลิคอปเตอร์บรรทุกหนักของรัสเซียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ความเร็วใบพัดเพียง 114 รอบ/นาที ส่วนเฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุของเล่นนั้น มีความเร็วประมาณ 2000 3000 รอบ/นาทีทีเดียว ผมเองนั้นชอบมาก แต่ตอนอยู่เมืองไทยที่ห้างอมรเมื่อหลายสิบปีก่อนราคาปาเข้าไปเกือบ 2 หมื่นบาท ได้แต่เดินไปมองแล้วมองอีก พอได้ไปอเมริกา ผมนั่งรถไฟไปนิวยอร์คซื้อมาประกอบแล้วไปหัดบิน ต้องขับรถข้ามไปอีกรัฐเพื่อหาที่โล่งจะได้ไม่ไปชนอะไร ตอนนั้นไปหัดบินทุกวัน เป็นเวลากว่า 6 เดือนเต็ม ๆ บินได้นานที่สุด คือลอยตัวในอากาศได้นานที่สุด............ 8 วินาที บินตกเป็นร้อย ๆ ครั้ง ใบพัดที่หักก็นำมาแขวนไว้ข้างฝาบ้านเตือนใจ เต็มรอบทุกด้าน ช่วงนั้นเรียกว่าถอดใจไปเลย หยุดเล่นไปเกือบ 2 ปี จนมาเจอข้อมูลว่า สถิติโลกของเฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุที่ลอยตัวได้นานที่สุดในอากาศโดยชาวเยอรมันซึ่งทำไว้ราวปีค.ศ. 1952 นั้น........5 วินาที ผมก็เลยกลับมาเล่นใหม่ เล่นไปเล่นมามีกว่า 30 ลำ ลำใหญ่ที่สุดขนาดประมาณ รถมินิคูเปอร์ ปัจจุบันเป็นแบบใช้ไฟฟ้าเสียส่วนมาก บินง่ายมากต่างจากสมัยก่อน ที่เขาบอกว่าถ้าหัดบิน 1 พันคนจะมีคนเดียวที่จะบินเป็น
ธนาสิทธิ์ ศิริลักษณ์
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ภาพแถมเพราะผมชอบ คนนี้เอาควันใส่เข้าไปลูกโป่งด้วย...
